Skip to main content

เรียนรู้สันติวิธีจากพระราชดำรัส

คอลัมน์/ชุมชน

 


เมื่อเกิดไฟไหม้บ้าน  การนิ่งเฉยหรือสาดน้ำมันเข้าไปในกองไฟ ย่อมไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  สิ่งที่ควรทำคือการสาดน้ำเข้าไป ด้วยวิธีนี้เท่านั้นไฟจึงจะดับได้   ถ้าความไม่สงบในภาคใต้เปรียบเสมือนไฟที่กำลังไหม้บ้าน  สันติวิธีก็เปรียบได้กับการสาดน้ำเข้าไปดับไฟ


 


สันติวิธีไม่ใช่การนิ่งเฉยปล่อยให้ไฟไหม้บ้าน   แท้ที่จริงสันติวิธีคือทางสายกลางที่อยู่ระหว่างการนิ่งเฉยกับการใช้ความรุนแรงตอบโต้   เช่นเดียวกับที่การสาดน้ำเข้าไปดับไฟเป็นทางสายกลางที่อยู่ระหว่างการยืนดูไฟไหม้กับการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ


 


การใช้ความรุนแรงตอบโต้นั้นมีแต่เพิ่มความรุนแรงให้มากขึ้น   ยิ่งมีการอุ้ม ฆ่า และเกิดกรณีอย่าง กรือเซะและตากใบมากเท่าไร  ก็เท่ากับเป็นการสาดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิงมากเท่านั้น  นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่  ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ยิ่งใช้กำลังเข้าปราบปราม คอมมิวนิสต์ก็ยิ่งเพิ่ม เพราะมีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกลูกหลงเข้าไปร่วมเป็นอันมากด้วยความคับแค้นใจ   แต่เมื่อหันมาใช้แนวทางสันติตามนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ โดยขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรง และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ เข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย   ผลก็คือขบวนการคอมมิวนิสต์อ่อนแอลงจนต้องยุติการสู้รบด้วยกำลังอาวุธในที่สุด


 


คำถามก็คือ แนวทางสันติวิธีเพื่อดับไฟใต้ใน พ.ศ.นี้จะมีหน้าตาอย่างไร ?   คำตอบนั้นมีอยู่อย่างชัดเจนแล้วในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" คืออะไร หากมิใช่แนวทางสันติวิธีที่เราควรจะให้ความสำคัญเหนืออื่นใด    การอ้างพระราชดำรัสดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธแนวทางสันติวิธี  เป็นเรื่องที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง


 


สันติวิธีไม่ได้หมายความเพียงแค่การไม่ใช้อาวุธเข้าตอบโต้หรือจัดการเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการสร้างเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อขจัดรากเหง้าของความรุนแรง หรือเพื่อสลายกำลังของขบวนการที่ก่อความไม่สงบ รวมไปถึงการชนะใจบุคคลในขบวนการดังกล่าว    จะทำเช่นนั้นได้จะต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจอย่างชัดเจนว่า อะไรคือเงื่อนไขที่ผลักดันและดึงดูดให้ผู้คนก่อความไม่สงบหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าว  เงื่อนไขนั้นมีหลายอย่าง  แต่หนึ่งในนั้นที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความอยุติธรรมและการไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของเขา   พร้อมกันนั้นก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมตลอดจนวิถีชีวิตและวิธีคิดของเขา ซึ่งในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับศาสนาที่เขายึดถือ


 


การทำความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าถึงจิตใจของเขาได้มากขึ้น   แต่จะเข้าถึงจนชนะใจเขาได้ก็ต้องเริ่มจากการเข้าหาเขาด้วยความเป็นมิตร  ไม่ใช่ในฐานะที่เหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า  แต่เข้าหาในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิดของกันและกัน  สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการดังกล่าวก็คือการแลกเปลี่ยนความเห็นและปรึกษาหารือ  ไม่ใช่การพูดฝ่ายเดียวหรือสั่งมาจากเบื้องบน  


 


ปัญหาประการหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือกระบวนการดังกล่าวมีน้อยมาก   นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ลงมาจึงมักไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน  และบ่อยครั้งกลับสร้างปัญหาและความไม่เข้าใจให้เพิ่มมากขึ้น   ดังนั้น ถ้าจะเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง  หน่วยงานรัฐจะต้องสร้างกลไกหรือเวทีสำหรับการปรึกษาหารือร่วมกับชาวบ้าน เช่น จัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประจำจังหวัด โดยมีผู้นำศาสนาและผู้นำชาวบ้านมาร่วมด้วย ตลอดจนมีคณะกรรมการสันติสุขในชุมชนซึ่งประกอบ ด้วยผู้แทนของชุมชนและของหน่วยงานรัฐมาทำงานร่วมกัน เป็นต้น


 


สิ่งสำคัญลำดับสุดท้ายก็คือการพัฒนา   การพัฒนาที่มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจในวัฒนธรรมและความเป็นจริงในท้องถิ่น โดยมีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เป็นกุญแจสำคัญในการลดทอนความรุนแรงและนำความสงบกลับมาสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้    ทุกวันนี้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกบั่นทอนอย่างหนักเนื่องจากทรัพยากรสาธารณะในท้องถิ่น (เช่น สัตว์น้ำ และป่า) ถูกคุกคามจากนายทุนและอิทธิพลท้องถิ่น   นโยบายการพัฒนาที่อัดฉีดเงินเข้าไปในหมู่บ้านแต่ปล่อยให้ทรัพยากรสาธารณะ


ถูกทำลายย่อมไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง 


 


อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว  สิ่งที่จำเป็นต้องมีควบคู่กันก็คือการพัฒนากระบวนการยุติธรรม กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน    ตลอดจนกระบวนการทางการเมือง    หากขาดการพัฒนากระบวนการดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว  สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยากจะมีความสงบอย่างยั่งยืนได้  เนื่องจากผู้คนจะเต็มไปด้วยความคับแค้นใจที่ถูกละเมิดสิทธิ ไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐ และขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ


 


"เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" นั้นสามารถทำให้เป็นจริงได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ  และไม่ได้อาศัยงบประมาณมหาศาล  สิ่งที่ต้องการคือ สติปัญญา ความจริงใจ  ความใจกว้าง ความกล้าหาญ   รวมทั้งความเสียสละ  สิ่งเหล่านี้ทรงพลังยิ่งกว่าอาวุธ   แต่หากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว แม้มีกองทัพมหาศาล มีอาวุธทำลายล้างสูงเพียงใดก็ตาม  ก็ยากที่จะนำชัยชนะและความสงบสุขกลับคืนมาได้  


 


ตรงกันข้าม มันกลับกลายเป็นการฉีดน้ำมันจำนวนมหาศาลเข้าใส่กองเพลิงนั่นเอง


           


หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.โพสต์ทูเดย์