Skip to main content

ปรัชญาจากฟากฟ้า

คอลัมน์/ชุมชน


เรื่อง…สุเจน  กรรพฤทธิ์


ภาพ…อาทิตย์  นันพรพิพัฒน์ , สุเจน


 


เย็นวันฝนตกหนักกลางเดือนกันยายน..


 


ผมหงุดหงิดกับความชื้นแฉะที่สั่งสมในมวลอากาศรอบตัวยิ่งนัก แม้อยู่ใต้ชายคา แต่ที่หงุดหงิดใจยิ่งกว่าคือหวัดที่ถล่มสุขภาพยามไปทำงานข้างนอกจนงอมแงม เนื่องจากฝนฤดูนี้


 


หันกลับจากหน้าต่าง นั่งลงหน้าแฟ้มภาพด้วยอารมณ์ไม่ดี ก่อนจะไอออกมาอย่างเต็มกลืน


แต่ภาพๆ หนึ่งทำให้ผมนึกออกว่านี่หนอ นายจะอุทธรณ์ไปใยกับไข้หวัด


 


ลำบากเพราะเปียกฝน ลำบากด้วยไข้หวัดเท่านี้ มันเทียบไม่ได้เลยสักนิดกับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเมื่อต้นฤดูฝนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสตามดูการทำงานอย่างใกล้ชิด


 


พวกเขาออกไปเสี่ยงชีวิตเอาสิ่งนี้ลงมาให้ชาวนาชาวไร่ในแผ่นดิน


งานของพวกเขาเกี่ยวกับ "ฝน" และ "ท้องฟ้า"


 


หากยังไม่ลืม ในปี 2548 ที่กำลังจะหมดลงอีก 3 เดือนข้างหน้า ลองเปิดหนังสือพิมพ์ย้อนหลังดูก็จะพบว่าตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา ปีนี้บ้านเราเผชิญ "ภัยแล้ง" หนักหน่วงที่สุดในรอบหลายสิบปี


 


เขื่อนลำตะคองที่โคราชเดือนก่อน (สิงหาคม) คนท้องถิ่นสามารถนำฝูงวัวลงไปกินหญ้าที่ระบัดใบเขียวไสว ณ ก้นอ่างเก็บน้ำอันแห้งขอดได้อย่างสบาย


 


ภาคตะวันออก หนังสือพิมพ์ทุกเล่มนับถอยหลังวันที่น้ำในอ่างหนองปลาไหลและดอกกราย อันเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และผู้คนที่อาศัยในชลบุรี ระยอง จะหมดลง ร้ายแรงขนาดเพื่อนผม ซึ่งเป็นวิศวกรในโรงงานแห่งหนึ่งที่มาบตาพุดถึงกับกล่าวว่า โรงงานแต่ละแห่งต้องวางแผนใช้น้ำวันต่อวันทีเดียว


 


ทั้งหมดนี้ส่อแววตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2547 ที่น้ำในเขื่อนแต่ละแห่งต่ำกว่ามาตรฐานมาก ทั้งที่ฤดูฝนเพิ่งจะผ่านพ้นไป แต่คนในรัฐบาลก็นิ่งเฉยกับปัญหานี้ แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ จนที่สุดถึงพระเนตรพระกรรณกระเจ้าอยู่หัว มีการตั้งศูนย์ทำ "ฝนหลวง"  ของแต่ละภาคขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเป็นการใหญ่


ขณะที่ท่านนายกรัฐมนตรีหนีไปเที่ยวญี่ปุ่น…


 


. . . . . . . . . . . . . .


 



มิถุนายน 2548 …


 


เสียงเครื่องยนต์ใบพัดของปอร์ตเตอร์กระหึ่มสนามบินอู่ตะเภาอันเวิ้งว้าง เครื่องบินสองลำบนรันเวย์เริ่มทำการแท็กซี่ และเทกออฟ (Take Off)  ขึ้นสู่ท้องฟ้าทะยานไต่ระดับสูงขึ้นๆ


 


ผมพบตัวเองอยู่ที่นั่งข้างคนคุมเครื่องหนึ่งใน 3 ลำที่กำลังจะออกปฏิบัติภารกิจเพื่อเกษตรกร


เป็นการนั่งเครื่องบินครั้งที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิต


และการบินครั้งนั้นเอง ทำให้ผมตระหนักว่า ภารกิจการทำฝนเทียม หรือที่คนไทยรู้จักดีว่า "ฝนหลวง" ความสำเร็จล้วนขึ้นอยู่กับความร่วมมือของนักบิน คนโปรยสารเคมี และนักวิชาการที่ทำงานด้านสภาพอากาศ ซึ่งทำงานหนักอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ


 


วันนั้น ร.อ.วิโรจน์ กัปตันเครื่องปอร์ตเตอร์ที่ผมโดยสารด้วยไม่กล่าวอะไรมากมาย แต่การทำงานของเขาถูกบอกเล่าผ่านภาคปฏิบัติการและการประสานงานกับคนในเครื่องอีก 2 ลำ…


 


วันนั้น…


เครื่องที่ผมนั่งฝ่าเมฆกลุ่มใหญ่ ณ ระดับความสูง 7,000 ฟุต นักบินดูหน้าปัดวัดระดับและใช้แผนที่การบินโดยไร้เวสเซอร์เรดาร์ที่สามารถบอกตำแหน่งเมฆฝนฟ้าคะนองได้


เครื่องที่สองทำเอาเพื่อนผมที่มาด้วยกันมึนกับการสั่นไหวยามพุ่งเข้าเมฆขนาดใหญ่ที่ขวางเส้นทางบินเครื่องที่สามก็ไม่ต่างกันนัก


 


                                 


 


วันนั้น…ท้องฟ้าบอกอะไรกับผมมากมาย


บอกว่า ที่นี่คือห้องทำงานของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามใช้วิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ รวมถึงเดิมพันด้วยชีวิตทั้งชีวิตในการนำทรัพยากรอันมีค่ายิ่งลงมาจากฟากฟ้า


 


คนกลุ่มนี้ทำงานหนักทุกฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูแล้งที่งานจะมากเป็นพิเศษ จนแต่ละคนกว่าจะได้กลับบ้านปีหนึ่งนั้นนับวันกันได้ด้วยนิ้วมือทั้งสองข้าง


เป็นการทำงานหนัก ที่บางที…พวกเขาทำใจว่าอาจไม่ได้กลับลงมา


 


เพราะฟากฟ้าเหมือนทะเล มีสงบ มีเกรี้ยวกราด ในเวลาห่างกันไม่ถึง 5 นาที ยิ่งการทำงานกับเมฆฝนที่มีกระแสอากาศแปรปรวนตลอดเวลา อาชีพนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้


 


เพราะพวกเขาต้อง "พุ่ง" เข้าใส่เมฆกลุ่มนี้เพื่อโปรยสารเคมีทำฝน และทำทุกสิ่งที่ขัดหลักนิรภัยการบิน


พวกเขาจำต้องมี "สติ" และมี "สมาธิ" ในทุกขณะจิตที่มือกุมคันบังคับ


 


ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างเมฆฝน และน้ำปริมาณมหาศาลให้ผู้คนบนพื้นดิน


กัปตันวิโรจน์บอกผมว่าพื้นที่เป้าหมายต้องมี "ต้นไม้"  มิใช่มีแค่  "อ่างเก็บน้ำ"  หรือ  "เขื่อน"


ฝนจะตกเมื่อมีต้นไม้…


เมื่อล้อแตะพื้น และท้องฟ้าครางกระหึ่มไปด้วยเมฆฝน รอยยิ้มจะปรากฏบนหน้าพวกเขา


แม้ว่าหนึ่งในนั้นจะกล่าวติดตลกว่า "แม่ค้าอาจไม่ค่อยชอบพวกนักบินทำฝนหลวงอย่างผมนัก"


 


 


                                         


                                           ทีมทำฝนหลวงของภาคตะวันออก


 


. . . . . . . . . . . . . .


 


เย็นวันฝนตกหนักกลางเดือนกันยายน..


 


คนเราเกิดมาเพื่ออะไร? …เป็นคำถามของนักปราชญ์แต่โบร่ำโบราณ เป็นคำถามที่มนุษย์ตั้งกับหัวใจตนเองตั้งแต่กำเนิดมาบนโลก


 


หลายคนหาคำตอบ ศาสดาหลายท่านให้คำตอบในแบบที่ท่านค้นพบ


แต่ความจริงที่ทุกศาสนากล่าวตรงกันคือ เมื่ออยู่บนโลกนี้ก็ควรที่จะทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด  โดยเฉพาะ "ความดีต่อแผ่นดิน" ต่อ "บ้านเมือง"


 


ที่สัตว์การเมืองแถวสภาและทำเนียบรัฐบาลส่วนมากไม่เคยคิดจะทำความรู้จักคำๆ นี้ ทั้งที่ตนเองสุขสบายรับเงินเดือนเป็นแสนๆ หรือเทียบง่ายๆ มากกว่าที่กรรมกรคนหนึ่งทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำตลอดทั้งปี


 


วันนี้ เครื่องบินเก่าและนักบินกลุ่มนี้ยังคงบินขึ้นท้องฟ้า ทำสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจ


 


เย็นวันนั้น เมื่อดูภาพนี้แล้ว ผมก็ตระหนักว่า แค่เป็นหวัดจากการทำข่าวข้างนอกมันช่างเล็กน้อยเหลือเกิน  หากเทียบกับความลำบากที่คนกลุ่มหนึ่งพร้อมจะเผชิญเพื่อคนนับล้านบนพื้นดิน…


------------------------------------------------------------------------------------------------