Skip to main content

ปลายทางกองทุนหมู่บ้านอาจนำไปสู่การล่มสลายของหมู่บ้านในอนาคต

คอลัมน์/ชุมชน

 


กองทุนหมู่บ้านผ่านมาแล้ว 4 ปี คงยาวนานพอที่จะตอบว่า ประชาชนฐานรากได้ประโยชน์กันกี่มากน้อย ชีวิตดีขึ้นหรือไม่ภายหลังจากที่เงินลงมาให้แล้ว สมกับนโยบายสวยหรูที่รัฐบาลวาดฝันให้ประชาชนเคลิบเคลิ้มตามหรือไม่


 


บทความนี้นำเสนอผ่านหมู่บ้าน 3 หมู่บ้านในจังหวัดพิจิตร ใน 2 อำเภอคือ บ้านหนองถ้ำ และบ้านเนินสมอ ตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง และบ้านทุ่งทอง ตำบลโพธิ์ไทรงาม กิ่งอำเภอบึงนาราง ผ่านมุมมองของบัณฑิตที่ผันตนเองไปเป็นชาวนา พี่หล้า คุณณัฏฐวี มังคะตะ อาจารย์ปาย หรือนายสำราญ ถนอมผิว ผู้สูงอายุที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน และลุงจวน ผลเกิด ปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับของคนพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียง


 


ประเด็นของคำถามยึดเอาวัตถุประสงค์ของกองทุนหมู่บ้านเป็นหลัก  โดยมีรายละเอียดคือ 


 


 (1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน เป็นการลงทุนเพื่ออาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ การลดรายจ่าย และการบรรเทาเหตุฉุกเฉินและความจำเป็นเร่งด่วน พบว่ากรณีดังกล่าว พี่หล้าจากบ้านหนองถ้ำให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านเอาเงินกู้ไปใช้จ่ายรายวันในเรื่องการกินอยู่  มีบ้างประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เอาไปใช้เรื่องอาชีพ ส่วนใหญ่ก็ไปซื้อปุ๋ยและยา มีไปเลี้ยงวัว เลี้ยงหมูบ้าง ซึ่งก็จะประสบปัญหาราคาหมูถูก บางคนก็ขาดทุนอีก ซึ่งคล้ายกับบ้านทุ่งทอง กิ่งอำเภอบึงนาราง พบว่า ส่วนใหญ่เอาไปใช้กินอยู่ มากกว่าที่จะสร้างอาชีพ หรือถ้านำไปประกอบอาชีพก็จะเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ทำอยู่ โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งหลายคนทำไปแล้วเจอปัญหาธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝนแล้ง หรือน้ำท่วม หลายรายไม่ได้ข้าว เงินที่กู้ไปก็กลายเป็นหนี้สินที่เพิ่มพูนมากขึ้น


 


ที่บ้านเนินสมอ ผลที่ได้ค่อนข้างแตกต่างจากหมู่บ้านที่กล่าวมาข้างต้น โดยพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่นำเงินกองทุนไปทำนา เลี้ยงหมู ทำไร่แตงโม บางส่วนก็เอาไปค้าขาย  ผลที่ได้พบว่า หลายคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยมากเพราะไม่ได้ไปเอาเงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงมา สังเกตเห็นผลของการมีรายได้เพิ่มคือการที่คนในหมู่บ้านมีการปรับปรุงบ้านหลายหลัง มีบ้างที่ขาดทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาธรรมชาติ น้ำท่วมบ้าง แล้งบ้าง แต่ในที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถหาเงินมาใช้หนี้กองทุนกันได้


 


ผู้เขียนถามต่อว่า ทำไมถึงแตกต่างจากหมู่บ้านอื่น ที่มักนำเงินกองทุนไปใช้เรื่องกินอยู่ หรือซื้อของมากกว่าไปทำอาชีพ อาจารย์ปายบอกว่า ได้มีการตั้งเป็นระเบียบบังคับไปว่าต้องไปทำอาชีพ เมื่อกู้ไปแล้วมีการจัดกรรมการติดตามดูด้วยว่าทำจริงหรือไม่  ถ้าไม่ทำจริงก็เรียกเงินคืน


 


 (2) ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านให้มีความสามารถ ในการจัดระบบและบริหารจัดการการเงินกองทุนของตนเอง  ประเด็นดังกล่าว พบว่า บ้านหนองถ้ำ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้พัฒนาเท่าไหร่  เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นเจ้าของเงินทุน เขาคิดว่าเป็นเงินรัฐบาลจัดมาให้ จึงไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเงินของเขา อีกทั้งไม่อยากเข้ามาจัดการ เพียงแค่ทำหน้าที่กู้เท่านั้น พอถึงเวลาก็เอามาส่งเป็นวาระไป ส่วนใหญ่กรรมการทำจริง ๆ  ไม่กี่คนอย่างมากก็ 3 คน ซึ่งสอดคล้องกับที่บ้านทุ่งทอง โดยลุงจวนบอกว่า เงินกองทุนหมู่บ้านทำงานไม่ค่อยโปร่งใสเท่าไหร่ ไม่ชี้แจงผลที่ได้กับสมาชิก ได้รับรู้


 


ในเรื่องการส่งเงินพบว่า ทั้งสามหมู่บ้านไม่มีปัญหา บ้านเนินสมอ พบว่า ได้นำเงื่อนไขการกู้ออกเป็นระเบียบพยายามให้คนมีคุณธรรม โดยใช้การค้ำประกันกัน ซึ่งถ้าใครไม่มีคนค้ำประกันก็หมายถึงคนอื่นไม่ให้ความเชื่อถือ อาจกินเหล้า ไม่ทำมาหากิน ในส่วนของการส่งเงิน ตั้งกฎเกณฑ์ว่า ถ้าใครส่งช้าปรับร้อยละ 1 บาทต่อวัน


 


 (3) เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน ประเด็นนี้พบว่า หมู่บ้านจะได้ดอกเบี้ยมาเป็นเงินของหมู่บ้าน ส่วนสมาชิกถามว่านำไปสู่การพึ่งตนเองไหม พบว่า หลายคนกู้มาแล้ว เวลาส่งคืนไม่มี ต้องไปกู้ดอกเบี้ยแพงจากนายทุนทั้งในและนอกหมู่บ้าน หลายคนก็กลับไปสู่วงจรการกู้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเดิม


 


บ้านทุ่งทองพบว่าปัญหาคล้ายกับบ้านหนองถ้ำ เพราะส่วนใหญ่เวลาส่งไม่มีก็ไปกู้นายทุน เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 บ้าง ร้อยละ 10 บ้าง เพื่อไปส่งคืน ก็เลยทำให้เสียดอกเบี้ยทั้งกองทุนหมู่บ้าน ทั้งนายทุน


 


หลายครอบครัวในบ้านทุ่งทองต้องระส่ำระสายเนื่องจากไม่มีเงินส่งกองทุน สมาชิกในครอบครัวต้องเข้ากรุงเทพ เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ลุงจวนบอกว่าถ้าเทียบกันระหว่างกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มกองทุนหมู่บ้านพบว่า กลุ่มออมทรัพย์ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่า กองทุนหมู่บ้านถึงเวลาส่งต้องส่ง ถ้าไม่ส่งก็ใช้กฎหมายมาเล่นกันเลย บ้านเนินสมอ พบว่า คนในหมู่บ้านขยันเยอะขึ้น สังเกตได้จากการมีพื้นที่ทำนาปรังมากขึ้น ส่วนอาชีพใหม่ยังไม่มีอะไรมาก ถ้ามองในเรื่องความสามัคคีพบว่าหมู่บ้านเนินสมอมีความสามัคคีเพิ่มขึ้น  สังเกตจากการเรียกมาทำกิจกรรมก็มาเยอะขึ้น


 


 (4) กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในหมู่บ้าน ประเด็นนี้อาจจะได้ผลมาก เช่น บ้านหนองถ้ำและบ้านทุ่งทองพบว่า ภายหลังการจ่ายเงิน ตลาดนัดจะครึกครื้นเป็นพิเศษ 


 


จากผลที่เกิดขึ้นของทั้ง 3 หมู่บ้าน ถ้ามองแนวโน้มในอนาคตซึ่งมีทั้งโอกาสที่ดี ในแง่การมีเงินดอกเบี้ยที่นับได้ว่าเป็นเงินของชุมชน แต่หลายหมู่บ้านยังอ่อนในเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะความโปร่งใส ในขณะเดียวกัน สมาชิกในหมู่บ้านก็ไม่ได้ตระหนักว่าเงินดังกล่าวเป็นของหมู่บ้าน ส่วนในเรื่องการจัดสวัสดิการพบว่า หลายหมู่บ้านยังมีภาพการจัดสวัสดิการอยู่เฉพาะการตาย ซึ่งผู้เขียนมองว่า ปัจจุบันกองทุนเรื่องตายในหมู่บ้านมีมากอยู่แล้ว ทั้งของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  ฌาปนกิจหมู่บ้าน และอื่น ๆ


 


ส่วนเรื่องขณะที่มีชีวิตอยู่ คนในชนบทจริง ๆ แทบไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ยิ่งถ้าเกิดมีการเจ็บป่วยในครอบครัว จะยิ่งมีปัญหามาก เพราะสมาชิกในครอบครัวต้องไปทำหน้าที่ดูแลทำให้ขาดรายได้  ถ้านำเงินที่ดอกเบี้ยเหล่านี้มาจัดสวัสดิการการเจ็บป่วยหรืออื่นๆ ในขณะมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงกับคนในชนบทมากขึ้น


 


ปัญหาอุปสรรคของกองทุนหมู่บ้านที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  ปัจจุบันได้มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์นำเงินไปปล่อยกู้เพิ่ม หรือที่เรียกกันว่า "ล้านสอง" นั้น พบว่า ดอกเบี้ยที่ปล่อยคิดเป็นร้อยละ 9 ต่อปี ในขณะที่ดอกเบี้ยกองทุนหมู่บ้านคิดเป็นร้อยละ 3 – 5 ต่อปี ขณะเดียวกัน ก็มีเงื่อนไขต้องซื้อสินค้าในสหกรณ์ที่บอกว่าเป็นของสมาชิก (สกต.) ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยสมาชิกหลายคนบอกว่าราคาสูงกว่าท้องตลาด การกู้ในลักษณะนี้ถ้ามองดูก็เหมือนกับการใช้องค์กรในชุมชนเป็น " นายทุนน้อย " ในชุมชนอีกที


 


การกู้จำนวนมากนั้นไม่ได้สร้างรายได้เป็นจริงเป็นจังตามที่ควรจะเป็น ไม่ได้พัฒนา ไม่ได้แก้ปัญหาดั้งเดิมที่มีอยู่ เช่น รายจ่ายสูง หรือสร้างอาชีพใหม่ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน แหล่งเงินกู้ก็ดูจะลงมาให้กู้กันได้ตลอด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจจะส่งผลให้หมู่บ้านล้มละลายได้ในที่สุด  นั่นคือการขายที่ดินใช้หนี้ หรือการอพยพเข้าเมืองมาหารายได้ไปใช้หนี้  จากหมู่บ้านที่ร้างอยู่แล้วก็จะร้างมากขึ้น


 


การมีเงินลงไปที่หมู่บ้าน คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ดี แต่การลงไปโดยไม่ได้พัฒนาปัญญาของคนให้พร้อมรับเสียก่อน หรือลงไปตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน ไม่ใช่คำนึงถึงแต่คะแนนนิยมที่ควรจะได้ ก็คงเหมือนกับ   "การแทงหวย" หมู่บ้านไหนจัดการดี ก็ได้รางวัลไป หมู่บ้านไหน จัดการไม่ดีก็เจ๊งไปทุกส่วนของสังคมในหมู่บ้าน


 


ถึงที่สุดก็ส่งผลถึงสังคมโดยรวมที่จะระส่ำระสาย เพราะหมู่บ้านที่ยังต้องพัฒนาการจัดการให้พร้อมก่อน มีมากกว่าหมู่บ้านที่พร้อมรับในทุกกองทุน