Skip to main content

ดีที่ไหน ?

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้เรามาคุยเรื่องเศรษฐกิจกันบ้างดีกว่า ที่ชวนคุยเรื่องนี้เพราะผู้เขียนและชาวบ้านทั่วไปต่างได้รับข้อมูล จากสื่อต่าง ๆ ทั้งทางทีวี ที่มีทั้งนักการเมืองและนักวิชาการบางท่านออกมาพูดว่า เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตเท่านั้นเท่านี้ หนังสือพิมพ์ วิทยุต่าง ๆ ก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันหมดว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังไปได้ดี โดยยืนยันได้จากค่า จีดีพี มวลรวมขอประเทศ


ทำให้พวกเราที่เป็นชาวบ้านธรรมดาพลอยเคลิ้มไปด้วยว่า เศรษฐกิจกำลังดีจริง ๆ เพราะพวกเราไม่รู้จักว่า ไอ้จีดีพี มันคืออะไร และดูได้จากที่ไหน เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่าดี ไม่ดียังไง พวกเราเห็นแต่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่จัดอันดับความรวยของบุคคลต่าง ๆ ให้เราเห็น เราก็ได้แต่มองแล้วก็นึกว่าชาติที่แล้วคนพวกนี้เขาทำบุญมาด้วยอะไร ชาตินี้เขาจึงรวยจัง


แต่พอหันมามองเงินในกระเป๋าก็ให้แสนจะเศร้าใจ เพราะมันแทบไม่พอประทังชีวิต หรือพอก็อยู่อย่างยากลำบากเต็มที ไม่ใช่เพราะขี้เกียจนะ เพราะพวกเรามีอาชีพทำประมง พวกเราพยายามออกไปทำประมงทุกวันทุกคืน แม้จะหนาวแสนหนาว เราก็พยายาม แต่ความพยายามของเรามีข้อจำกัด เพราะราคาน้ำมันมันค้ำคอพวกเราอยู่


ในอดีตเราออกทำประมง 1 คืน ได้ 3,000 บาท (โอโฮ คิดว่ารายได้เราดีสินะ ไม่ใช่มาฟังทางนี้ก่อน) สมัยก่อนออกทะเลไป ได้กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาขายได้เงิน 3,000 บาท หักค่าน้ำมันไป 2,000 บาท ค่าจ้างแรงงาน 200 บาท ก็ยังได้ค่าข้าว ค่ากับข้าว ค่าน้ำแข็งดองปลา หักทั้งหมดก็ยังมีเงินเก็บ 200-300 บาท ปัจจุบัน หากคืนไหนออกไปได้ 3,000 บาท แสดงว่า คืนนั้นขาดทุน เพราะค่าน้ำมันก็ปาเข้าไปเกือบ 3,000 บาทแล้ว ยังไม่รวมค่าลูกจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก


ดังนั้น การทำประมงในปัจจุบันจึงออกทุกวันเหมือนในอดีตไม่ได้ ต้องคอยจังหวะคลื่นลมดี ๆ ชนิดที่ต้องมั่นใจว่าออกไปแล้วไม่ขาดทุน พวกเราถึงจะออกทะเลกันได้ แต่ช่วงที่หยุด พวกเราก็ต้องกินต้องใช้ หนี้สินจึงเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ๆ เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย (บ้านที่ยกตัวอย่างให้ฟังนี่ ทั้งบ้านไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน หวยใต้ดิน บนดิน ลอตเตอรี่ก็ไม่ซื้อ กาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลังก็ไม่แตะ ยังอยู่ไม่ได้เลยคิดดู) นี่คือชีวิตคนที่ทำอาชีพประมง ยังไม่รวมชาวสวน


พอดีผู้เขียนมีเพื่อนทำสวนผลไม้อยู่ชุมพร เพื่อนเล่าให้ฟังว่าปีนี้ สวนเงาะขาดทุนป่นปี้ เป็นหนี้เป็นสิน ค่าปุ๋ยค่ายามากมาย เพราะเงาะขายไม่ได้ เขาบอกว่าพ่อค้าเข้าไปซื้อในสวนแค่กิโลละ 1.50 บาท แต่เขาต้องเสียค่าจ้างเก็บ กิโลละ 1 บาท ขายไปแล้วก็ไม่ได้อะไร ทั้งที่ปลูกมาเกือบตาย เลยปล่อยให้มันเน่าคาสวนซะเลยเพื่อประชดราคา ไอ้ราคาประกันที่รัฐประกันให้ก็มาไม่ถึง หรือกว่าจะมาก็เน่าหมดสวนไปแล้ว เหลือแต่หนี้สินที่ยังอยู่ด้วยอย่างเหนียวแน่นและไม่ยอมทิ้งเราไปไหนเลย เรียกว่าอยู่กันอย่างลำบาก แสนสาหัส ผู้เขียนเชื่อว่าคนปลูกส้มก็คงไม่แตกต่าง เพราะปีนี้มีส้มจากจีนทะลักเข้ามามาก ทำให้ส้ม และพืชผักอื่น ๆ ราคาตกลงมาอย่างน่าใจหาย เราซึ่งเป็นผู้ซื้อยังรู้สึกเลยว่าราคาถูกมาก แล้วคนทำล่ะเขาจะอยู่ได้หรือ


หันมามองกลุ่มที่ทำ OTOP (หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) ผู้เขียนก็อยู่ในแวดวงนี้เหมือนกัน ถึงแม้จะมีการโฆษณา ว่านโยบายนี้ดีมากมาย แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ ยอดขายสินค้าปีนี้ลดลงกว่าปีที่แล้ว ๆ มาก เพราะคนที่จะซื้อไม่มีเงินซื้อ ดูได้จากยอดขายที่งาน OTOP ซิตี้ ที่กำลังมีอยู่ หมวดอาหารถูกจัดให้อยู่ในโซน 10 ขายแทบไม่ได้เลยบางวันขาดทุนด้วยซ้ำ แต่รัฐไม่เคยรู้ข้อมูลจริง เพราะเมื่อมีการสำรวจ ผู้ไปขายทุกคน จะบอกยอดการขายดีหมด เพราะหากบอกยอดขายจริง ๆ ก็กลัวถูกตัดสิทธิไม่ให้มาขายอีก ด้วยเหตุผลนี้ทำให้รัฐจมปลักอยู่กับข้อมูลที่เป็นเท็จ และลุ่มหลงอยู่ในตัวเลขที่สวยหรู จีดีพีจึงออกมางดงาม ทั้งที่ความเป็นจริงมันไม่ใช่


เฮ้อ.. คุยมาหลายอาชีพแล้ว ผู้อ่านคิดว่า เศรษฐกิจดีแล้วจริงหรือไม่ เพราะ จีดีพี ของชาวบ้านไม่ได้คำนวณมาจากตัวเลข แต่คำนวณมาจากเงินในกระเป๋า วันนี้เงินในกระเป๋าชาวบ้านไม่มี มีแต่หนี้สิน แล้วที่ว่าเศรษฐกิจดีเนี่ย..มันดีที่ไหน ใครดี วันนี้ชาวบ้านต่างรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านกองทุนฟื้นฟู เพราะมันคือความหวังสุดท้าย ที่เขาคิดว่าจะสามารถทำให้เขาหลุดออกมาจากกองหนี้สินที่เขาเป็นอยู่จริงในปัจจุบันได้ ผู้เขียนจึงสงสัยเพราะวันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยากจน และจะจนลงไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา


แล้วตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศที่ว่ากำลังเจริญเติบโต มันโตเติบโตอยู่ที่ไหน และที่ให้ข้อมูลว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี มันดีที่ไหน