Skip to main content

โอ้ละหนอ CEO

คอลัมน์/ชุมชน

พบกันอีกแล้วนะจ๊ะกับคอลัมน์ "กลับไม่ถูก"  ต้องเตือนสติกันหน่อยเพราะผู้เขียนเองก็เริ่มจะจำชื่อคอลัมน์ตนเองไม่ได้เหมือนกัน J  


 


มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ท่านผู้อ่านคงพอจะได้ยินเรื่องคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ จำนวนมากเกือบ 50 คน   ผู้เขียนจึงขอนำเสนออีกมิติหนึ่งของพื้นที่  ซึ่งน่าจะเป็นที่มาที่ไป และเป็นสาเหตุของการย้ายครั้งนี้มาเล่าสู่กันฟัง  


 


ในยุคที่ผู้นำประเทศมีอำนาจสูงสุด  ชี้อะไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น  ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของอำนาจ  ว่ากันมาตั้งแต่การแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็เป็นอำนาจของท่านผู้นำ  การย้ายผู้นำทางทหาร/ตำรวจ หรือทุกระบบในวงราชการการ ไม่ว่าจะจับแพะชนแกะอย่างไร หรือแม้แต่นโยบายแห่งรัฐก็ล้วนเป็นอำนาจของท่านผู้นำทั้งสิ้น


 


นโยบายที่ทันสมัยในการบริหารจัดการรูปแบบ CEO ของท่านผู้นำ  ส่งตรงมาสู่ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด   โดยผ่านการปฐมนิเทศผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ  ชี้ให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมในการใช้อำนาจในการบริหารงานราชการในระบบ CEO ว่า โอว์..มันยอดมากจ๊อดดด…..


 


ว่ากันว่าการบริหารราชการในระบบ CEO คือ ผู้ว่าราชการหรือ CEO ในพื้นที่ต้องมีกึ๋น ต้องใช้อำนาจให้เป็น  นั่นเป็นเสมือนข้อบังคับให้ทุกจังหวัด  ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง ภายใต้ชื่อสวยงามว่า แผนยุทธศาสตร์จังหวัดนั่นเอง  ทุกจังหวัดมีการระดมความคิดเพื่อหายุทธศาสตร์ที่เขียนออกมาแล้วสวยหรู  ถูกใจผู้คนในจังหวัด และที่สำคัญ ถูกใจท่านผู้นำประเทศ (อันนี้สำคัญสุด)  เมื่อถูกใจก็ต้องให้รางวัล อำนาจเบ็ดเสร็จในพื้นที่จึงเป็นรางวัลของท่านผู้ว่าฯ  แล้ว ตามมาด้วยมีการประชุมสัมมนาเพื่อกระตุ้นให้ท่านผู้ว่าฯ เกิดความฮึกเหิมในการบริหารจัดการพื้นที่ในระบบ CEO 


 


แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่  เพราะทุกส่วนราชการที่มารวมกันเป็นจังหวัด  ต่างคนก็ต่างมีนายของตนเอง  ทั้งพัฒนาชุมชน, เกษตร, ตำรวจ, สหกรณ์, พานิชย์ ฯลฯ  หน่วยงานเหล่านี้มีนายของตนเอง และการทำงานในพื้นที่ก็ยังขึ้นอยู่กับกรมกองที่ตนเองสังกัดอยู่  เพราะการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งยังเป็นอำนาจของหน่วยงานต้นสังกัด   ดังนั้น  หากผู้ว่าฯ  ต้องการจะสั่งย้ายใครที่ทำงานไม่ถูกใจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ


 


และที่ว่าการบริหารแบบ CEO เป็นการบริหารที่สุดยอด  มันก็ไม่ใช่ เพราะ CEO ในพื้นที่ต้องทำงานสนองนโยบาย CEO ที่อยู่เหนือกว่าอีกทอดหนึ่ง  ซึ่งมีนโยบายใหม่ๆ สดๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละเดือน  จนมีคำพูดติดปากข้าราชการชั้นผู้น้อยว่า หนังสือราชการปัจจุบันมีแค่ 3 เรื่อง คือ หนังสือด่วน, ด่วนที่สุด, และด่วนฉิบหา….…. และไหนจะต้องสนองความต้องการของนักการเมือง ที่เป็นพรรคพวกของท่านผู้นำ  งานเพิ่มขึ้น แต่อำนาจที่คิดว่ามีเพิ่ม เอาเข้าจริงก็เหมือนไม่มี  งานสนองนโยบายเบื้องบนมีมาก ทำให้การทำงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างสวยหรูถูกละเลย 


 


สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนยอมรับความฉลาดของท่านผู้นำประเทศ คือการประเมินการทำงานของ CEO เพราะนอกจากให้ส่วนราชการประเมินกันเองแล้ว  ยังเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เชิญกลุ่มคนในจังหวัดนั้นๆ  เช่น หอการค้า, อุตสาหกรรม, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ตลอดจนผู้นำชุมชน เข้ามาร่วมประเมินท่านผู้ว่าฯ ด้วย   สิ่งสำคัญคือ กลุ่มคนที่ถูกเชิญมา หากเป็นกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายเดียวกับ CEO ผลการประเมินก็ผ่าน  แต่หากเป็นกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม CEO ก็เดือดร้อน  ผู้เขียนมั่นใจว่าข้อมูลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการย้ายผู้ว่าฯ  ส่วนใหญ่ผลมาจากการประเมินของกลุ่มคนในพื้นที่


 


ในที่สุด CEO ในพื้นที่ คือบุคคลที่น่าเห็นใจมากที่สุด  เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จจริงๆ มันรวมศูนย์อยู่ที่ CEO สูงสุดของประเทศ ที่มีอำนาจที่สามารถสั่งให้ใครทำอะไรก็ได้  จะโยกจะย้ายใครก็ทำได้โดยไม่มีใครกล้าคัดค้าน   


 


CEO ในพื้นที่จึงเปรียบเสมือนหุ่นละคร ที่จะเยื้องย่างไปทางไหน ต้อง แล้วแต่ใจผู้ชักใยอยู่ข้างหลัง  หากเยื้องย่างไม่ถูกใจ ทำให้ผู้ชักใยมีน้ำโห ก็จะถูกลงโทษด้วยการเหวี่ยงให้กระเด็นกระดอน ไปคนละทิศคนละทางอย่างที่เห็นนี้   เมื่อทำงานสนองนโยบายไม่ถูกใจก็จะถูกจับบูชายันต์   สังเวยอำนาจระบบบริหารแบบ CEO 


 


โอ้ละหนอ  อนาคตของข้าราชการไทยในปัจจุบัน มันอยู่ในมือ CEO (ผู้ชักใย) จริงๆ   ใครเล่าจะช่วยเขาได้  เขาเหล่านั้นจะเอากำลังใจที่ไหนมาทำงาน 


 


ผู้เขียนขอให้กำลังข้าราชการที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน  ขอส่งแรงใจให้ท่านไม่ถ้อถอยในการทำงาน 


 


ทำดีต้องได้ดี เป็นเรื่องจริงนะ CEO