Skip to main content

ผืนดินของเรา ๒: แผ่นดินบนผืนน้ำ

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้หญิงคนนั้นสวมผ้าถุงสีส้ม


บนผืนผ้าซิ่น ดอกหางนกยูงอวดความงามตามจินตนาการคนออกแบบ


ผ้าทอผืนนี้ แม่มักใส่คู่กับเสื้อลูกไม้สีชมพู


ชุดเก่งของแม่จะถูกเก็บไว้อย่างดี เพื่อวันสำคัญเท่านั้น


สำหรับวันอื่น แม่จะสวมผ้าถุงบางๆ เสื้อแขนสั้นที่มักดัดแปลงเย็บมือเอง


แต่นั่นเป็นชุดที่พร้อมจะเปลี่ยนเสมอ เวลาใครตะโกนว่า วันนี้ให้ไปช่วยงานหน่อย


กางเกงสีดำจะถูกหยิบมาสวม เสื้อแขนยาวหุ้มแขน และรองเท้าบู๊ต


พร้อมสำหรับการถางหญ้า เกี่ยวข้าว เก็บข้าวโพด บางครั้งคือการล่าสัตว์บนดอย


และอีกภาพที่ฉันคุ้นตาเสมอ คือตอนที่บ้านโดนน้ำท่วม


 


บ้านไม้ของเราอยู่ติดคลอง


เกือบทุกหน้าฝน น้ำล้นเอ่อ ไหลเลื้อยมานองเต็มใต้ถุน


ผืนดินของเราเป็นที่ลุ่ม อยู่ต่ำกว่าระดับถนน


ภาพที่คุ้นตาเมื่อน้ำมาหนักๆ คือการลุยน้ำขนย้ายหมูออกจากคอก ต้อนเป็ดไปทางเหนือที่อยู่สูงกว่า


ช่วยเหลือสัตว์ทุกตัว ทั้งหมา แมว ไก่ รวมทั้งตัวฉันซึ่งสมัยยังเป็นเด็ก


พ่อเป็นคนทำหน้าที่พาลูกๆ ไปอาศัยอยู่ในบ้านหลังอื่น ไม่ว่าจะสนิทกับพวกเขาหรือไม่


 


ส่วนแม่คือคนที่ไม่ยอมหนีน้ำง่ายๆ จนกว่าระดับน้ำจะถึงอก


ไม่เพียงแต่ไม่ยอมถอยแล้ว แม่ยังจะเดินหน้าอีกด้วย


ทั้งพยายามไปยืนริมฝั่งคอยใช้ไม้เขี่ยเศษขยะที่มาติด เพื่อช่วยระบายทางน้ำ


บางครั้ง เมื่อน้ำมีท่าทีลดลงแล้ว ผู้หญิงในชุดกางเกงกับรองเท้าบู๊ธ


ก็คว้ายอ คว้าตะข้อง มุ่งหน้าไปยังจุดที่คิดว่ามีปลา


ในความหวาดกลัวมีความอบอุ่น ในความอบอุ่นมองเห็นความรักของแม่


ไม่เพียงแต่ผืนดินของเราเท่านั้น แต่เป็นความรักในการมีชีวิตอยู่ ณ ที่ตรงนั้น


 


..........................................................


ข่าวพายุลูกใหม่ในปี 2548 - มาครั้งแล้วครั้งเล่า


ได้ยินจากข่าว ฟังจากวิทยุ น้ำท่วมรอบที่ 4 ของเชียงใหม่คราวนี้จะหนักที่สุด


ฉันนึกถึงคำของพ่อ เมื่อครั้งไปเยือนบ้านคราวก่อน


"ตอนนี้เขาทำอ่างเก็บน้ำไว้แล้ว น้ำไม่ท่วมมานับสิบปี ไม่มีอะไรต้องห่วง"


เมื่อเปรยกับพ่อถึงข่าวที่ได้ยิน ว่าอ่างเก็บน้ำมีรอยรั่ว


ชายแก่ทำหน้าครุ่นคิด แต่แววตายังคงสบายใจ


จวบถึงวันนี้ เมื่อข่าวของน้ำหนาหนักขึ้นทุกวินาที


โทรศัพท์จึงถูกกดลงไป หมายเลขปลายทางติดแล้ว


ขณะหน้าจอโทรทัศน์รายงานว่า หลายอำเภอห่างไกลกำลังเดือดร้อน


 


คนรับโทรศัพท์เป็นเสียงผู้หญิง


ญาติทางแฟนใหม่ของพ่อรับสายด้วยเสียงตื่นเต้น


"น้ำท่วมไหมน้า" ฉันถาม


"ท่วมสิ เยอะมากๆ เลย ตอนนี้ที่บ้านหนูอยู่ไม่ได้แล้วนะ พ่ออพยพออกมาตั้งแต่ตอนตี 4 แล้ว"


ฉันตกใจในน้ำเสียง นึกอยากกลับบ้านในทันใด


แต่เมื่อฟังข่าวว่าถนนถูกตัดขาด ไม่มีใครผ่านเข้าไปยังอำเภอได้อีก


ก็รีบถามต่อ


"ท่วมถึงระดับไหนคะ"


"ถึงเอวพ่อเขา ห้องครัวที่กินข้าวตรงนั้นท่วมหมดแล้ว ตั้งแต่เช้ามืด"


"แย่จริงๆ เลย แล้วจะทำยังไง" ฉันรำพึงอยู่ในสาย


"ไม่ต้องตกใจมากจ้ะ  ตอนนี้น้ำเริ่มลดแล้ว สายอีกหน่อยก็น่าจะไหลไปหมด เพราะน้ำเร็วมาก"


"ค่ะน้า งั้นขอคุยกับพ่อหน่อยได้ไหม"


 


เสียงเงียบไปสักครู่ คล้ายกับการหยุดคิด


เสียงของใครอีกคนแทรกเข้ามาในสายโทรศัพท์


"พ่อล่องใต้กลับไปบ้านอีกแล้วล่ะ ห้ามก็ไม่ฟัง"


ฉับรู้น้ำเสียงห่วงใยจากแฟนของพ่อ พร้อมรอยตำหนิในคำพูด


"พอน้ำลดหน่อย ก็สวมรองเท้าบู๊ธลุยน้ำไป บอกห่วงบ้าน ห่วงนั่นห่วงนี่ สงสัยไม่ได้เก็บหนังสือ"


ภาพที่ผุดพรายในห้วงคิด คือกองหนังสือโบราณที่เขียนบนกระดาษสา ลายมือภาษาล้านนาที่ฉันเคยเรียน


นั่นคือสมบัติที่พ่อเก็บติดตัวมาตลอดชีวิต


"พ่อคงไปเก็บหนังสือ" ฉันว่าอย่างให้เหตุผล


"ก็น่ะแหละ กลัวจะล้มเดี๋ยวลอยติดน้ำไป ห้ามไม่ฟังเลย"


 


ฉันให้กำลังใจคนฝั่งโน้นด้วยการบอกให้ใจเย็นๆ


"พ่อคงดูว่าน้ำลดแล้วมั้งคะ แต่ก็ห่วงเหมือนกัน ยังไงอยากให้คนไปตามกลับมานะ"


เขาเห็นด้วย สักครู่ได้ยินเสียงตะโกนให้คนออกไปตาม


ฉันวางสายไปด้วยใจระทึก พร้อมฝากข้อความไว้ให้พ่อโทรกลับ


 


เสียงพึมพำ ยังดังจนกระทั่งวางสาย


ความห่วงใยไม่ได้คลี่คลายออกจากอก แต่ในภาวะแห่งนาทีนั้น


ฉันหวังว่าพ่อจะปลอดภัย เช่นเดียวกับทุกอย่างที่อยู่ในผืนดินนั้น


ภาพของแม่ปรากฏชัดในความรู้สึก


และความเข้าใจในเหตุผลของพ่อ


กระจายอยู่ในเม็ดฝนที่กำลังตกลงมาไม่หยุด ณ เวลานี้.