Skip to main content

กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ( กสช.)

สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมวุฒิสภาก็ได้มีมติเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า กสช. โดยผู้ได้รับการคัดเลือกมีดังนี้


 


๑. นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ  กรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกมีเดีย เอเจนซี่ จำกัด อายุ ๔๙ ปี ได้ ๑๕๑ คะแนน


๒. พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล   ประธานที่ปรึกษา ผอ.สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕  อายุ ๖๔ ปี ได้ ๑๓๕ คะแนน


๓. นายบุญเลิศ ศุภดิลก   อดีตอาจารย์ และคณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  อายุ ๖๒ ปีได้  ๑๓๒ คะแนน


๔. นายสุรพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อายุ ๕๓ ปี ได้ ๑๒๕ คะแนน


๕. นายพนา ทองมีอาคม  อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ  ๕๗ ปี ได้ ๑๑๔ คะแนน


๖. นางสุพัตรา สุภาพ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์และนิตยสาร อายุ ๖๘ ปีได้ ๑๑๒ คะแนน


๗. นางโสภา ชูพิกุลชัย ชปิลมันน์ ประธานมูลนิธิโสภาธารน้ำใจเพื่อพัฒนาสังคมไทย อายุ ๖๓ ปี ได้ ๑๑๒ คะแนน


 


ขอเรียนว่าที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากกรรมาธิการสามัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ ของบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อ ทั้ง ๑๔ คน


 


ที่ประชุมได้อภิปรายถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะกรรมการสรรหาไม่ได้เปิดโอกาสให้รายอื่นเข้ามาสมัครเพิ่มหลังจากที่ต้องมีการสรรหาใหม่  เพราะมีการฟ้องศาลปกครอง เรื่องกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง  รวมทั้งกรรมการสรรหามีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ได้รับการเสนอชื่อ


 


 ขอเรียนว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้ถกเถียงกันประเด็นนี้ และยกตัวอย่างกรณีการเลือกคุณหญิงจารุวรรณ  เมฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของวุฒิสภา และทำให้เกิดปัญหาในการตีความ


 


สี่ปีที่แล้ว วุฒิสภาได้ลงมติไม่เลือกกรรมการ กสช. เพราะอาจมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง  จึงมีการให้สรรหาใหม่ หลังจากที่ศาลปกครองตัดสินว่ากระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง  แต่ครั้งนี้ ที่ประชุมลงมติ  ๑๒๒ เสียงต่อ ๓๕ เสียงให้มีการเลือก ก็เพราะความล่าช้าของการมี กสช. ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย อาทิ


 


มีการต่ออายุ ให้สถานีโทรทัศน์ และมีเคเบิลทีวีมากมาย โดยอ้างว่า ยังไม่มี กสช. ขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่ให้เสรีในการเปิดสถานีวิทยุชุมชน โดยอ้างว่ามีความกระทบกระเทือนต่อการบิน  และมีการปิดสถานีวิทยุชุมชนหลายแห่ง ด้วยข้ออ้างการไม่มี กสช.


 


ขอเรียนว่าในวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทุกคน เน้นถึงเสรีภาพของสื่อวิทยุกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์  ซึ่งเราต้องคอยติดตามดูว่ากรรมการ กสช.ที่ได้รับการคัดเลือกไปแล้ว ได้ทำตามวิสัยทัศน์ที่ให้ไว้กับวุฒิสภาหรือไม่


 


ที่สำคัญทุกคนบอกว่า เงินตอบแทนไม่สำคัญ ขอให้ได้ทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ต่อชาติก็แล้วกัน


 


วุฒิสภาได้ถามถึงประเด็นนี้ เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นในกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)  ที่มีการเสนอแบ่งรายได้ ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปีจาก ครม. โดยอ้างว่าสามารถทำได้ ตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ   และมีการเช่ารถบีเอ็มหรูไว้เป็นรถประจำตำแหน่งคนละคัน เป็นเงินงบประมาณถึง ๓๐ กว่าล้านบาท


 


ซึ่งมีการตรวจสอบจากกรรมาธิการคณะต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอยู่ในขณะนี้ว่าสมเหตุผลหรือไม่  ก็ต้องรอดูว่า กสช. ชุดนี้จะทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่  หรือจะทำตามที่ให้วิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภาหรือไม่


 


พูดถึงเงินตอบแทนก็อดพูดถึงเงินบำเหน็จ บำนาญของ สส. หรือ สว. ไม่ได้


 


เพราะ สว.โดนต่อว่า โดนด่าเยอะเรื่องขอขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง  ขอเรียนว่า สว.ไม่มีอำนาจในการขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเองเลย  และขอเรียนว่า ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.นั้นกว่า  ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงินเดือนของ สว. เป็นเท่าไร


 


การขึ้นเงินเดือนหรือการให้บำนาญกับ สว. นั้น  ไม่มีผลต่อการสมัครมารับใช้ประชาชนแต่ประการใด  เพราะคนที่จะมาเป็น สว.นั้น เป็นคนที่ยอมเสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มาหวังในเรื่องผลตอบแทนแต่ประการใด


 


ถึงแม้ไม่ขึ้นเงินเดือนและไม่มีบำนาญ   คนก็อยากจะมาเป็น สว. !


 


เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนให้กับ สว.หรือไม่  ไม่สำคัญและไม่มีผลต่อการทำงานของวุฒิสภาที่มีจิตใจที่จะเป็นปากเสียงให้ประชาชนสืบไป