Skip to main content

เด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันจากควันบุหรี่








วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2548  เป็นวันที่กระทรวงสาธารณสุขห้ามตั้งบุหรี่ ณ จุดขาย   คาดว่ามาตรการนี้สามารถป้องกันเยาวชนที่กำลังเริ่มสูบบุหรี่จำนวน 150,000 คนให้หยุดพฤติกรรมสูบบุหรี่ได้


 


ยังมีเยาวชนอีก 150,000 คนที่ติดบุหรี่ไปแล้ว   กลุ่มนี้ให้รอมาตรการขึ้นภาษีและบำบัดรักษา งานวิจัยต่างประเทศชี้ว่า มาตรการหยุดสูบบุหรี่ที่ไม่ได้ผลคือการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นพิษภัยของบุหรี่   บริษัทผลิตบุหรี่ก็ทราบว่ามาตรการนี้ไม่ได้ผลจึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับการรณรงค์ต่างๆนานาที่เคยทำๆ กันมา


 


นอกจากไม่เดือดเนื้อร้อนใจยังแอบยิ้มอยู่หลังเวที


 


มิหนำซ้ำยังปันผลกำไรจากการขายบุหรี่ส่วนหนึ่งให้แก่กลุ่มรณรงค์ด้วยซ้ำไป   นัยว่าแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม


 


งานวิจัยต่างประเทศชี้ว่ามาตรการที่ได้ผลคือหยุดการโฆษณา   ที่เห็นชัดคือป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ตามถนนและสนามกีฬา   ปรากฏว่าบริษัทผลิตบุหรี่เดือดเนื้อร้อนใจกับมาตรการนี้มากจึงพยายามหยุดยั้งมาตรการนี้มาโดยตลอด      เมื่อหยุดไม่ได้ก็ใช้วิธีส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทำให้เราได้เห็นโลโก้บุหรี่ติดมากับโปสเตอร์งานแสดงภาพวาดหรือศิลปกรรมต่างๆ นานาอยู่เป็นระยะๆ


 


มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ "สรุปบทเรียน" ได้ว่า บริษัทบุหรี่จะเต้นเมื่อมาตรการนั้นจะมีผลกระทบต่อยอดขายบุหรี่      


 


บริษัทบุหรี่จะเฉยเมื่อมาตรการนั้น "เฉย ๆ"


 


การสรุปบทเรียนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดสำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั้งหลาย    การต่อสู้เพื่อคนเสียโอกาส   คนที่รู้ไม่เท่าทัน   คนชายขอบล้วนเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีใครทราบว่ายุทธวิธีไหนเหมาะสมที่สุด  เพราะฉะนั้นการสรุปบทเรียนจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดเวลาเพื่อให้ได้ความรู้ใหม่และยุทธวิธีใหม่


 


ปรากฏว่ามาตรการห้ามตั้งบุหรี่ ณ จุดขายน่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายบุหรี่อย่างรุนแรง    เพราะบริษัทบุหรี่เต้นมาก     พยายามทุกวิถีทางที่จะต่อรอง   ซื้อเวลา   และเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อล้มมาตรการนี้ลงให้จงได้


 


แม้ว่าจะผ่านวันที่ 24 กันยายน 2548 มาแล้วก็ตาม


 


ณ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขขอให้ร้านค้าทุกแห่งไม่ตั้งบุหรี่ ณ จุดขาย   ระหว่างที่รอกฤษฎีกาตีความว่ามาตรการนี้ชอบด้วยกฎหมายควบคุมบุหรี่หรือไม่   ทั้งนี้ โดยมีเครือข่ายพ่อแม่และนักเรียนนักศึกษาบางส่วนแสดงตัวสนับสนุน


 


 


 


 


 

    

 

ขณะเดียวกันบริษัทบุหรี่ทั้งไทยและต่างชาติแสดงความเห็นด้วยว่า ร้านค้าสามารถตั้งบุหรี่ ณ จุดขายไปก่อนจนกว่ากฤษฎีกาจะตีความ   ทั้งนี้โดยมีนักกฎหมายบางส่วนแสดงตัวสนับสนุน   


 


สิ่งที่นักกฎหมายชอบใช้นักคือ "ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ" และ "บ้านเมืองจะเรียบร้อยต้องเคร่งครัดกับกฎหมาย"


 


เป็นคำกล่าวอ้างที่ผมได้ยินได้ฟังมาจากทุกที่ประชุมเวลาใครกลุ่มหนึ่งต้องการเอารัดเอาเปรียบใครอีกกลุ่มหนึ่งเป็นได้ใช้วลีสองอย่างนี้เสมอ


 


บางครั้งเป็นนักกฎหมายใช้เอง    บางครั้งเป็นผู้มีอำนาจใช้โดยอ้างว่าไปเรียนนิติศาสตร์จบมาแล้ว    หลายครั้งที่ผมคิดในใจว่าไปเรียนกฎหมายมาแล้วกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวและไม่มีจิตใจสาธารณะเช่นนี้    ชาตินี้ผมไม่ไปเรียนกฎหมายดีกว่า


 


พอถึงเวลาจะละเมิดกฎหมายกันเองก็จะงัดเอาคำว่า  "พิจารณาตามหลักรัฐศาสตร์"  มาใช้เป็นประจำทุกครั้งไป


 


เช่นนี้แล้วป่วยการที่จะคุยกัน


 


บริษัทบุหรี่อ้างว่ามาตรการนี้จะทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น    แต่ที่บริษัทบุหรี่ไม่พูดคือแท้จริงแล้วมีงานวิจัยจากนานาชาติทั่วโลกบ่งว่าจะมีบุหรี่เถื่อนหรือไม่ขึ้นกับระดับการคอรัปชั่นของประเทศนั้นๆ     ไม่ขึ้นกับอุปสงค์อุปทาน


 


เพราะฉะนั้นเรื่องบุหรี่นี้ความจริงมีเพียงสั้นๆ ว่าควันบุหรี่ทำลายสุขภาพของผู้สูบและผู้ที่สูดควันเข้าไปอย่างรุนแรงแม้ว่าจะไม่ได้สูบเอง     ไม่ป่วยเรื้อรังก็ป่วยด้วยมะเร็งถึงตาย   เมื่อก่อนเราไม่รู้ก็ไม่ว่าอะไร    ตอนนี้รู้แล้วว่าบุหรี่มีสารก่อมะเร็งนับร้อยชนิดไม่เฉพาะมะเร็งปอด   เช่นนี้แล้วประเด็นคือเราต้องป้องกันเยาวชนไม่ให้ได้รับควันบุหรี่


 


เด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันจากควันบุหรี่


 


ผมคิดว่าผมมีสิทธิพูดถึงอันตรายจากบุหรี่ได้เต็มที่เพราะเป็นคนหนึ่งที่รักษาผู้ป่วยโรคปอดด้วยบุหรี่นับพันคนก่อนที่จะผันตัวมาเรียนจิตเวชศาสตร์