Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิด ตอนที่1

คอลัมน์/ชุมชน

ห่างหายจากคอลัมน์กลับไม่ถูกไป 2 อาทิตย์ เพราะผู้เขียนยังมึนกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มภาคใต้ และทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการระดมพวกพ้องให้ร่วมบริจาคช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ วันนี้จิตใจเริ่มสงบและต้องยอมรับว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นชีวิตเราต้องดำเนินต่อไป พบเจอกับอุปสรรค และสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องราวความเป็นมาของ ถนนเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ กันบ้างดีกว่า ที่ต้องคุยเรื่องนี้เพราะความพิเศษของถนนเส้นนี้ไม่ได้สร้างบนแผ่นดินอย่างเดียว แต่มีบางช่วงที่ผ่าลงไปในทะเล และเรื่องทะเลคือเรื่องใหญ่ ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นชาวประมงและอยู่ในเหตุการณ์และร่วมขบวนการมาตลอด จึงทำให้ทราบเรื่องราวค่อนข้างละเอียดมาเล่าสู่กันฟัง


พูดถึงตรงนี้น่าเปลี่ยนชื่อคอลัมน์ จากกลับไม่ถูกมาเป็นคอลัมน์เมื่อชาวบ้านมีปากกาจังเลย


เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ แต่ไม่มีที่ระบายจึงไม่สามารถบอกความในใจออกมาได้ อ้าว มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า เกริ่นหัวเรื่องซะยาวเชียว


เริ่มตั้งแต่มีคณะอาจารย์จากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ 7 สถาบัน เข้ามาหาแกนนำในจังหวัดนครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เพื่อเป็นแกนในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อถนนพิเศษเส้นนี้ โดยเฉพาะช่วงที่จะตัดผ่าทะเลเส้นนี้ เพราะเส้นทางลัดสู่ภาคใต้จะตัดมาจากจังหวัดนครปฐม ผ่านมายังจังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มลงทะเลที่บ้านกระซ้าขาว ผ่าลงทะเลไปขึ้นที่บ้านแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี


โดยมีโจทย์มาให้ชาวบ้านช่วยกันคิดว่าจะเอาเส้นไหนดี โดยมีการออกแบบ ขีดเส้นลงทะเลทั้ง 3 ทาง และใช้วิธีหลอกชาวบ้านให้คิดตามอย่างหน้าด้าน ๆ (ไม่คิดว่าระดับอาจารย์สถาบันการศึกษาชั้นนำจะทำได้) โดยขีดเส้นให้คดไปคดมา 2 เส้นทาง และขีดเส้นให้ตรงช่องทางเดียว เอามาให้ชาวบ้านเลือก ชื่อถนนก็บอกแล้วว่าเส้นทางลัด อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลยเด็กปัญญาอ่อนก็ต้องเลือกเส้นตรง


ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ถนนตรงหรือไม่ตรงแต่มันอยู่ที่ว่า ทำไมต้องสร้างในทะเล


นี่คือปัญหาที่ชาวประมงสงสัยที่สุด เพราะทะเลคือหม้อข้าวใบใหญ่ของพวกเขา ทะเลคือชีวิต คือจิตวิญญาณของชาวประมง เมื่อมีข่าวเหล่านี้ออกมา ชาวประมงส่วนใหญ่ตกใจมาก ทำให้มีชาวบ้านเข้าร่วมระดมความคิดเห็นกันอย่างหนาแน่นทุกเวที และที่น่าตกใจที่สุดคือ มีการปล่อยข่าวจากคณะอาจารย์ที่เข้าร่วมเวทีว่า โครงการนี้เป็นโครงการตามแนวพระราชดำรัสของในหลวง


ข่าวนี้ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าแสดงความเห็นเท่าที่ควร ด้วยความเคารพรักในหลวง แต่ชาวบ้านก็ยังถามทุกเวทีว่าทำไมต้องทำในทะเล ทำไมไม่ทำบนบก เพราะหากทำในทะเลจะเกิดผลกระทบมากมายกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน และสภาพสิ่งแวดล้อมในทะเลอย่างไม่สามารถคาดคะเนได้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะไม่ยอมคิดเรื่องถนนในทะเล แต่จะเสนอให้สร้างบนบก


แต่คณะอาจารย์ขอร้องให้ชาวบ้านช่วยคิด เหตุผลเพราะอาจารย์รับงานวิจัยมาจากรัฐบาล ให้ทำวิจัยถนนในทะเล และการคิดเรื่องถนนในทะเลยังไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นเพียงเวทีรับฟังความคิดเห็นว่าจะเป็นไปได้หรือไม่เท่านั้น หากชาวบ้านไม่คิด อาจารย์ก็ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ ด้วยความไม่รู้บวกกับความสงสารคณะอาจารย์ ชาวบ้านจึงช่วยกันคิดเรื่อยเปื่อยเพราะคิดว่าถนนเส้นนี้คงไม่เกิดขึ้นจริง แต่ผลของการคิดเรื่อยเปื่อยของชาวบ้านกลับถูกจับให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอย่างน่าตกใจ


มาติดตามกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างฉบับหน้านะจ๊ะ