Skip to main content

การคืนกำไรและศึกษาพานิช

คอลัมน์/ชุมชน



 



 


วันเสาร์ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนทำงานนั้นมีงานพิธีฉลองการให้ทุนการศึกษา ซึ่งผู้เขียนต้องไปร่วมงานพิธีนี้ในฐานะตัวแทนหน่วยวิชา เนื่องจากเด็กสุดในบรรดาสี่คนในหน่วย (ใครอย่าบอกว่าฝรั่งไม่มีอาวุโส ขอเถียง) ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ  จึงขอมาเล่าให้ฟังในคราวนี้



 


ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ทำไมคราวนี้จึงไม่มีเพื่อนร่วมงานที่อาวุโสไป ทั้งที่ผ่านมาก็มีงานนี้ทุกปี แต่ผู้เขียนไม่เคยได้ไป ไม่เคยรู้หรือมีส่วนร่วม  และส่วนตัวก็ไม่คิดว่าต้องไปร่วม นอกจากจะไปเสนอหน้าเป็น "พระอันดับ" เท่านั้น เสียเวลาที่จะทำอย่างอื่นในวันสุดสัปดาห์ (เช่น งานคุณแจ๋ว—ซักผ้า รีดผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน) แต่เอาเถอะคราวนี้ไปสักหน่อย ไหนๆ ก็จะกลับไทยเป็นการถาวรปีหน้านี้แล้ว


 


ผู้เขียนพบว่า งานนี้แทบไม่มีบรรดาอาจารย์แบบผู้เขียนไปกันเลย  นอกจาก อธิการ และอาจารย์รวยๆ บางคน (ที่ทำมาหากินส่วนตัวรวย ไม่ได้รวยเพราะเป็นครู) ที่เป็นเจ้าของทุน หรือผู้บริหารเรื่องนี้อยู่ มาในงานนี้ เมื่อผู้เขียนไปงาน ผู้บริหารคนหนึ่งดีใจเพราะเหยื่อมาแล้ว ได้เป็นพระอันดับจริงๆ ของงาน อันนี้เราไม่ว่ากัน


 


งานเริ่มเมื่อราว ๑๑.๔๕ น. หลังจากที่บุคคลต่างๆ ได้ทานอาหารกึ่งเช้ากึ่งกลางวันไปบ้าง (รู้กันว่าเอาอาหารมาเป็นเรื่องดึงคนมาร่วมด้วย) อธิการเป็นคนเปิดงาน ก็มีลูกเล่นว่าแม้จะต้องปวดหัวที่ต้องคอยตอบคำถามจากผู้สนใจจะเป็นผู้บริจาคทุน  แต่ตนเองก็ยินดีที่จะปวดหัว เพราะว่าจะได้มีเงินทุนให้นักศึกษาที่นี่ได้มากๆ   จากนั้นก็มีตัวแทนเจ้าของทุนต่างๆ มาพูด  ตามด้วยตัวแทนนักศึกษาที่ได้รับทุน งานจบอย่างรวดเร็ว ในเวลาประมาณ ๑๒.๒๐ น.  จากนั้นก็ให้เจ้าของทุนกับผู้ได้รับทุนถ่ายรูปร่วมกัน


 


ผู้เขียนมีประเด็นที่จะนำเสนอดังนี้ ๑. ทำไมต้องมีทุนการศึกษา ๒. ทุนการศึกษากับวิถีทางการอยู่รอดของมหาวิทยาลัย


 


๑. ทำไมต้องมีทุนการศึกษา เป็นที่รู้กันว่าการศึกษาในสหรัฐฯ นั้นเป็นของฟรีจนถึงมัธยมปลายเท่านั้น เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องจ่ายเองแล้ว  เพียงแต่ว่าถ้าเรียนในสถาบันของรัฐตนเองก็มักจะจ่ายในอัตราที่ถูกกว่าเมื่อไปเรียนสถาบันของรัฐอื่น  ส่วนมากแล้วคนที่มาจากที่อื่นจะจ่ายแพงกว่าสองหรือสามเท่าเสมอ เช่น ถ้าคนในรัฐจ่ายค่าเรียนเทอมละ ๔,๐๐๐ เหรียญ คนที่อื่นที่มาเรียนที่เดียวกันนี้จะต้องจ่ายถึง ๘.๐๐๐ เหรียญ บางแห่งอาจถึง ๑๒.๐๐๐ เหรียญ หรือสามเท่าของราคาพื้นฐานเพราะถือว่ามาใช้ทรัพยากรที่ตนไม่ได้จ่ายภาษี เนื่องจากสถาบันในแต่ละรัฐได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของรัฐนั้นที่มาจากเงินภาษีที่เก็บได้ในรัฐนั้นๆ นั่นเอง คนที่มาจากที่อื่นจึงต้องจ่ายราคาที่เป็นจริงหรือเกือบจริง เพราะต้นทุนการศึกษาต่อหัวที่นี่แพงมาก


 


ในขณะเดียวกัน ค่ากินอยู่อื่นๆ ก็ราคาสูง ค่าเช่าหอพักในมหาวิทยาลัยที่มีอาหารเกือบทุกมื้อรวมอยู่ด้วย ก็มักตกไม่น้อยไปกว่าเดือนละ  ๗๕๐ เหรียญ หรือเทอมละประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ  ค่าหนังสือและอื่นๆ จิปาถะก็เทอมละ กว่า ๑,๒๐๐ เหรียญ รวมๆ แล้วเทอมละกว่า ๘,๒๐๐ เหรียญ   ปีหนึ่งก็ตกราว ๑๖,๐๐๐-๑๗,๐๐๐  อัตรานี้เป็นอัตราค่อนข้างถูกมากๆ  สำหรับในสหรัฐฯ หากคิดเป็นเงินไทยก็ ๗๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี สำหรับคนไทยที่รวยคงไม่มีปัญหา แต่คนไทยทั่วไปคงคิดหนัก หากสำหรับฝรั่งทั่วไปแล้วถือว่าถูก แต่ว่าก็มีคนที่ไม่สามารถหาเงินได้เท่านี้มาส่งลูกหลานได้  (อย่างน้อย ผู้เขียนก็คงส่งไม่ไหวเช่นกัน เพราะรายได้ไม่พอ)


 


ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีการออกเงินให้กู้สำหรับการนี้ แต่กระนั้นก็ถือว่าไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง ยิ่งช่วงปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย เงินของรัฐก็ร่อยหรอ   หลายคนเรียนไม่ได้เพราะไม่สามารถขอกู้เงินนี้ได้ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะพยายามช่วยจัดการดำเนินการให้ก็ตาม


 


ส่วนสถาบันเอกชนนั้น ราคาก็จะแพงกว่านี้มาก หลายแห่งแทบจะไม่ได้ให้โอกาสคนจนเลย  แต่กระนั้นคนก็อยากเรียน เพราะจบออกมาแล้วมีโอกาสเติบโตในการงานได้ง่ายเพราะเพื่อนฝูงร่ำรวยใหญ่โตทุกคน  ดังนั้น ก็ยิ่งทำให้ค่าตัวและค่าเรียนเป็นปัจจัยในการสกัดกั้นคนจน


 


ในสถาบันของรัฐฯ ที่ผู้เขียนทำงานอยู่  จึงเป็นสถานที่ที่คนอยากมาเรียนเพราะราคาถูก แต่คุณภาพเท่ากับของเอกชนที่แพงกว่าสองเท่าถึงสามเท่า กระนั้นคนจนที่นี่ก็ต้องตะเกียกตะกาย ไม่ได้สบายนัก เพราะอาจต้องทำงานด้วยเรียนด้วย ส่วนคนมีกะตังค์หน่อยก็เพราะพ่อแม่ส่ง จึงเรียนอย่างเดียว (หมายเหตุ--กรุณาอย่าเชื่อดาราไทยหลายคนที่เกิด และ/หรือ โตที่อเมริกาที่มักบอกว่าเด็กอเมริกันต้องทำงานหนัก เรียนด้วยทำงานด้วยนั้น ไม่จริงเสมอไป)  การมีทุนการศึกษาของบุคคลภายนอก ถือเป็นการแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่าย บางทุนให้น้อยก็เป็นค่าใช้จ่ายบางส่วน บางทุนให้เรียนฟรีทั้งปี บางทุนให้เรียนจนจบปริญญาตรี


 


ดังนั้น ลักษณะดังกล่าว ผู้เขียนมองในมุมหนึ่งว่า เป็นเรื่องการคืนกำไรให้นักศึกษา เหมือนศูนย์การค้าที่มีการแลกคูปองหรือส่วนลด เป็นการดึงดูดให้คนอยากมาเรียน เพราะได้ลดค่าเล่าเรียนหรือเรียนฟรี แถมพ่อแม่ก็ได้หน้า ไปถุยหรือคุยกับชาวบ้านอื่นได้ (ใครว่าฝรั่งไม่ถุย ขอเถียงสุดใจ) ทั้งที่จริงแล้วบางทีทุนที่ได้มาเล็กน้อยมาก เปรียบได้กับทุนค่าน้ำมันรถ ที่เด็กไทยที่รวยๆได้เช่นกัน อันนี้เป็นปัญหาในเรื่องของการให้ทุนที่สำคัญอันหนึ่ง


 


สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือคนที่ได้ทุนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งมีพ่อแม่ที่มีกะตังค์   เด็กพวกนี้เรียนเก่งเนื่องจากจุดนี้ เจ้าของทุนมักชอบให้กฎมาว่าเน้นเรียนเก่ง คนจนๆ ส่วนมากจะเรียนเก่งได้ไง ในเมื่อต้องทำงานแบกจ๊อบกี่แห่งต่อกี่แห่ง เด็กคนรวยไม่ต้องทำอะไร   รักดีหน่อยก็ฟัน "เอ" ฉลุย  เกรดก็พุ่ง ตั้งแต่สอนมาแทบไม่มีเลยที่ว่าเด็กที่จนแล้วจะพุ่ง ยิ่งเด็กผิวสี (แล้วก็มักจะจนมากๆ) ด้วยแล้ว ไม่ตกไม่รีไทร์ก็ถือเป็นบุญ


 


จุดนี้ทำให้คิดถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนธรรมศาสตร์ เรียนเก่งมากแต่ต่างคณะ เขาได้ทุน "ค่าน้ำมันรถ" เป็นประจำ จบมาก็เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ที่บ้านนั้นเป็นคหบดี สุดจะรวย ผู้เขียนมองว่าทุนแบบนี้น่าจะให้คนที่ไม่มีมากกว่า หรือเพื่อนผู้เขียนคนนี้น่าจะมีความบางบนใบหน้าบ้าง โดยขอสละทุนหรือไม่ขอทุน   คนที่มีทรัพย์น้อยกว่าแต่เรียนได้ไม่น้อยหน้าน่าจะได้   น่าเสียดายที่ไม่ว่าที่ไหนมักให้ทุนเด็กเก่งๆ ที่มีโอกาสเหนือคนอื่นอยู่แล้ว    แต่ไม่ได้ให้ทุนกับคนที่ด้อยโอกาส ให้เค้าได้พอลืมตาอ้าปากบ้าง


 


๒. ทุนการศึกษากับวิถีทางการอยู่รอดของมหาวิทยาลัย  ปัจจุบันการแข่งขันที่จะรับนักศึกษามากๆ นั้นเข้มข้นมาก มหาวิทยาลัยทุกแห่งวิ่งกันตีนพลิกที่จะรับนักศึกษาใหม่ให้ตรงเป้าตัวเลข  เพราะนักศึกษาแต่ละคนคือที่มาของรายได้มหาวิทยาลัย (ทำให้นึกถึงสถาบันต่างๆ ของเมืองไทยในบัดดล ที่แข่งกันทำมาหากิน) ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ก็ทำงานเรื่องนี้กันจ้าละหวั่นเนื่องจากรายได้ต่อหัวที่พึงได้จะตกไป  อย่างน้อยที่เกือบ ๑๗,๐๐๐  เหรียญหายไป  คนก็หัวใจหล่นว้าบ


 


งานวันนี้จึงเป็นงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การตลาดไปในตัว เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่รับทุน ตัวผู้บริจาคทุนหรือเจ้าของทุนก็มา จากนั้นมหาวิทยาลัยก็นำไปทำ "ข่าวแจก" ต่อ อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่รับทุนก็ต้องไปกระจายข่าวว่าลูกข้าเจ๋ง  ได้ทุน   เจ้าของทุนก็หน้าบานเพราะเป็นการทำบุญแบบฝรั่งแถมสร้างภาพลักษณ์ได้อย่างดี มากกว่านั้นยังเอาไปเป็นการลดหย่อนภาษีได้อีก (เศรษฐีฝรั่งชอบบริจาคไปหักลดภาษี) เป็นสถานการณ์ "วิน-วิน" ใครๆ ก็แฮปปี้


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จึงใช้วิธีนี้กันเป็นส่วนมาก ทำให้มองไปอีกที ก็คือการคืนกำไรให้ลูกค้าอีกนั่นแหละ แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ มหาวิทยาลัยอยู่ไม่ได้เช่นกัน คงเป็นเรื่องธรรมดาในโลกทุนนิยมแบบสมัยใหม่ ที่ทุกอย่างเป็นสินค้า  แม้กระทั่งการศึกษาและใบปริญญา


 


จากสองประเด็นที่กล่าวมา ผู้เขียนนั่งยิ้มคนเดียวในใจ พลางถอนใจว่า กระแสทุนนิยมมันแรงเหลือเกิน และนึกย้อนถามตนเองว่า "รูปแบบของศึกษาพานิชกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยหรืออย่างไร?"


 


คงต้องหาคำตอบต่อไป