Skip to main content

แก้ปัญหาความยากจน : ทำไมไม่แปลงลมให้เป็นไฟฟ้า?

คอลัมน์/ชุมชน


 


คำนำ


 


รัฐบาลทักษิณได้ออกนโยบายที่เรียกว่า "แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน" โดยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ยากจนสามารถนำเอาทรัพย์สินหรือโอกาสที่ตนเองถือครองอยู่ เช่น รถเข็น ที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์รวมทั้งทะเลด้วย มาขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อขยายกิจการได้   บทความนี้จะไม่ขอวิจารณ์ในประเด็นนี้ แต่จะขอใช้เป็นข้อเปรียบเทียบว่า ในเมื่อรัฐบาลคิดจะแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้ แล้วทำไมจึงไม่คิดจะแปลงพลังงานลมให้เป็นไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านบ้างเล่า


 


ผมไม่มีเจตนาจะเล่นคำให้ชื่อบทความนี้ดูหวือหวา แต่ขอเรียนว่าเรื่องที่กล่าวถึงนี้มีความเป็นไปได้จริงๆ โดยแยก ๔ ประเด็น คือ (๑) แรงลมในประเทศไทยสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้  (๒) ค่าไฟฟ้าที่คนไทยใช้ในแต่ละปี ถ้าไม่มีการผูกขาดการผลิตดังที่เป็นอยู่และหันมาใช้พลังงานลมบ้าง คนยากจนจะมีรายได้และมีงานทำมากขึ้น (๓) ข้อมูลการใช้พลังงานลมในระดับโลก และ (๔) ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากลมในสหภาพยุโรปได้ แต่ประเทศไทยเรากลับเกิดไม่ได้


 


๑.      แรงลมในประเทศไทย


 


แม้ว่าการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่แหลมพรหมเทพ  จังหวัดภูเก็ตตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ และผลการทดลองได้สรุปว่า "เป็นที่น่าพอใจ" ในอีกสิบปีต่อมา แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตจากกังหันลมทั้งประเทศก็มีเพียง ๒๐ กิโลวัตต์หรือเพียง ๗ ในล้านส่วนของกำลังผลิตทั้งหมดเท่านั้น


 


ในปี ๒๕๔๔ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ศึกษาพบว่า "ภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี มีศักยภาพที่จะผลิตกังหันลมถึง ๑,๖๐๐ เมกกะวัตต์ โดยใช้ความสูงที่ระดับ ๕๐ เมตร"


 


ล่าสุด ผลการศึกษาของธนาคารโลก (ค้นได้จาก google.com ภายใต้ชื่อ Wind Energy Resource Atlas Southeast Asia) พบว่า "ความเร็วลมที่ระดับความสูง ๖๕ เมตรในประเทศไทยอยู่ในระดับดีถึงดีมาก(ความเร็วลมเฉลี่ย ๗.๐ ถึง ๗.๕ เมตรต่อวินาที) รวมกันถึง ๗๖๑ ตารางกิโลเมตรและมีศักยภาพที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง ๓,๐๔๔ เมกกะวัตต์"


 


ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้รวมกันมีเพียงประมาณ ๑,๕๐๐  เมกกะวัตต์เท่านั้น


 


ในปี ๒๕๔๖ ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีสาธารณะพร้อมกับรักษาการณ์ผู้ว่าการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผมได้เรียนว่า "ต้นทุนการผลิตจากกังหันลมก็ถูกลงเรื่อยๆ แล้ว ราคามาอยู่ที่ประมาณ ๒ บาทกว่าต่อหน่วยเท่านั้น"


 


ผู้บริหาร กฟผ. ตอบว่า"ต้นทุนจากกังหันลมยังแพงอยู่ ถ้าราคาเท่านี้จริงทาง กฟผ.รับซื้อหมด" (ปัจจุบันค่าไฟฟ้าหน่วยละ ๓ บาท)


 


มาวันนี้ผมมีข้อมูลใหม่จากสมาคมพลังงานลมแห่งสหรัฐอเมริกา (http://www.awea.org/pubs/factsheets/EconomicsofWind-March2002.pdf)  ว่าถ้าความเร็วลมเฉลี่ยที่ ๗.๑๕ เมตรต่อนาที ราคาการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ ๑.๕๐ ถึง ๑.๙๗ บาทต่อหน่วยเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นกิจการขนาดเล็กหรือใหญ่ โดยที่จะได้ทุนคืนในช่วงเวลาประมาณ ๘ ปีเท่านั้น


 


ตกลงอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่เป็นเหตุให้ทาง กฟผ. ไม่ยอมสนับสนุนให้มีการนำกังหันลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในบ้านเรา


 


๒.  คนไทยใช้ไฟฟ้าปีละเท่าใด


 


ในปี ๒๕๔๗ คนไทยได้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าประมาณเกือบ ๓ แสนล้านบาท คิดเป็นราว ๕% ของรายได้ประชาชาติ  คิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งหมด 


 


ร้อยละ ๗๕ ของเชื้อเพลิงที่ผลิตกระแสไฟฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติ  แม้ส่วนใหญ่ของแหล่งก๊าซเหล่านี้มาจากในอ่าวไทยซึ่งเป็นของไทยตามคำโฆษณาก็จริงอยู่ แต่ผู้รับสัมปทานขุดเจาะเป็นบริษัทต่างชาติ   ดังนั้น เงินค่าก๊าซส่วนใหญ่ที่ออกจากกระเป๋าของคนไทยเราจึงยังคงไหลไปต่างประเทศอยู่นั่นเอง (คนไทยได้รับค่าภาคหลวงประมาณ ๑๒% ของราคาก๊าซที่ปากหลุมเท่านั้น ไม่รวมภาษีรายได้ของบริษัทอีกส่วนหนึ่ง)


 


เนื่องจากพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำกังหันลมนั้นมีลักษณะกระจายอยู่ทั่วไป (ไม่รวมศูนย์เหมือนกับแหล่งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ดังนั้น การผูกขาดก็ยากขึ้น  ในบางพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อม ก็สามารถลงทุนและหารายได้จากกังหันลมได้


 


ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งมีงบประมาณปีละ ๕ ล้านบาท แต่กังหันลมขนาดใหญ่เพียงตัวเดียวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า ๑๐ ล้านบาท  ลองคิดดูซิครับว่า ถ้าอำนาจในการจัดการไฟฟ้ากลับมาอยู่กับ อบต.บ้างแล้ว  ความเข้มแข็งทั้งของ อบต. และชุมชนก็จะเพิ่มขึ้นขนาดไหน


 


ในส่วนของการจ้างงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจน  เฉพาะกิจการกังหันลมอย่างเดียวในประเทศเยอรมนีมีการจ้างงานถึงเกือบหนึ่งแสนคน (รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและบำรุงรักษา) แต่กิจการไฟฟ้าในบ้านเราทั้ง ๓ หน่วยงานมีการจ้างงานรวมกันประมาณ ๕-๖ หมื่นคนเท่านั้น ดังนั้น หากมีการ "แปลงลมให้เป็นไฟฟ้า" เกิดขึ้นปัญหาความยากจนก็จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นลูกโซ่


 


.  ข้อมูลการใช้พลังงานลมในระดับโลก


 


ในช่วงปี ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๔๖ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นเป็น ๔ เท่าตัว คือจาก ๑ หมื่นเป็น ๔ หมื่นเมกกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการของชาวยุโรปโดยเฉลี่ยจำนวน ๔๗ ล้านคน (ข้อมูลจาก Wind Force 12 ของ Greenpeace 2004)


 


มีการคาดหมายกันว่า ภายในปี ๒๕๖๓ ไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมทั่วโลกจะเป็น ๑๒% ของกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นๆ รวมทั้งโลก


 


ห้าประเทศที่มีการติดตั้งกังหันลมสูงสุดของโลกคือ เยอรมนี (๑๔,๖๑๒ เมกกะวัตต์) สเปน สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และอินเดีย (๒,๑๒๕ เมกกะวัตต์)


 


ถ้านำพลังงานไฟฟ้าจากลมที่เดนมาร์ก (๓,๐๗๖ เมกกะวัตต์) ผลิตได้ในปี ๒๕๔๖ มาคิดเป็นราคาไฟฟ้าในประเทศไทยก็จะได้ประมาณ ๑๔,๔๐๐ ล้านบาท ไม่น้อยเลยครับ


 


ในด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลา ๒๐ ปีกังหันลมขนาด ๑.๕ เมกกะวัตต์เพียงตัวเดียว สามารถลดการใช้ถ่านหินได้ถึง ๘ หมื่น ๔ พันตัน หรือขนาดกองเท่ากับตึก ๑๐ ชั้น ขนาด ๗๐ คูณ ๗๐ เมตรถึง ๒ ตึก


 


ผมเชื่อว่า ถ้าสังคมไทยได้รับทราบข้อมูลอย่างที่ผมกล่าวมานี้ เราคงจะไม่ปล่อยให้ชาวแม่เมาะต้องเผชิญกับควันพิษและโรคทางเดินหายใจมานานอย่างที่เป็นอยู่


 


ข่าวล่าสุดจากประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการติดตั้งกังหันลมจำนวน ๑๕ ตัว ขนาดตัวละ ๑.๖๕ เมกกะวัตต์ รวม ๒๔.๗๕ เมกกะวัตต์ เมื่อเดือนมิถุนายนนี้เอง ด้วยงบประมาณ ๒๘.๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราคาเท่าๆ กับโรงไฟฟ้าธรรมดา แต่ไม่ต้องเสียค่าเชื้อเพลิงอีกเลย) พร้อมกับประกาศว่าจะเป็นผู้นำในเรื่องกังหันลมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจึงขอนำภาพมาให้ดูกันด้วย (จาก Wind Force 12, June 2005)   


 


ท่านผู้นำไทยไม่กลัวน้อยหน้าเขาบ้างหรือครับ


 


 


               


 


 


 

 


๔.     ปัจจัยที่ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากลม


 


นอกจากผู้บริหารของ กฟผ. จะมีความห่วงใยเรื่องต้นทุนสูงแล้ว ท่านยังห่วงใยเรื่องความไม่สม่ำเสมอของแรงลมด้วย


 


ในเรื่องต้นทุน ผมได้เรียนไปแล้วว่าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมากจนต้นทุนจากกังหันลมใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าธรรมดาแล้ว สำหรับความไม่สม่ำเสมอของแรงลมนั้นเป็นความจริงครับ แต่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น บนผิวโลกเรานี้ไม่มีที่ใดเลยที่จะมีลมสม่ำเสมอตลอดเวลา


 


ด้วยลักษณะการกระจายตัวของกังหันลม ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นักอุตุนิยมและนักสถิติสามารถทราบล่วงหน้าว่าจะมีลมพัดมาเมื่อใดด้วยความเร็วเท่าใด ดังนั้น ทาง กฟผ.จึงสามารถบริหารจัดการได้โดยไม่มีปัญหา


 


ผู้คร่ำหวอดในวงการบอกว่า อุปสรรคของกังหันลม ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุน ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือแรงลม แต่อยู่ที่นโยบายของรัฐ


 


ประธานสมาคมพลังงานลมโลกถึงกับกล่าวว่า "เราต้องใช้พลังใจเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดพลังลม"


 


หัวใจสำคัญที่ทำให้กิจการกังหันลมเติบโต คือ กฎหมายที่ระบุว่าการขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสายส่งเป็นสิทธิของผู้ผลิต  โดยสรุปไฟฟ้าที่ผลิตจากลมเขามีไว้ขายเป็นส่วนใหญ่


 


ทุกประเทศในสหภาพยุโรปเขามีกฎหมายในลักษณะนี้ที่เรียกว่า "Feed In Law" นอกจากนี้กฎหมายยังระบุอีกว่า ในพื้นที่ใดที่มีลมแรงดีแต่ไม่มากนักหรือไม่ดีเลิศ ผู้ประกอบการไฟฟ้าจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าบริเวณที่มีลมดีมาก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกังหันลมขึ้นมากๆ  การกระทำเช่นนี้ คือการเอื้ออาทรที่แท้จริง


 


 


 


 


                 


 


 


 


 


๕.     สรุป


 


ผมขอสรุปบทความนี้ด้วยภาพการ์ตูนที่ค้นได้จากอินเตอร์เน็ต (seppo.net)  แม้ไม่มีข้อความใดๆในภาพ แต่เราก็พอดูออกมาว่า นักลงทุนด้านพลังงาน ๓ ใน ๔ คนกำลังสนใจและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าของเชื้อเพลิงที่มาจากไดโนเสาร์ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยืน เก้ๆ กังๆ แล้วหันไปมองหาพลังงานลมที่สะอาดกว่า


 


เมื่อต้นปี ๒๕๔๘ได้มีการประชุมถ่านหินโลกในประเทศไทยที่จังหวัดลำปาง สปอนเซอร์ใหญ่ในงานคือเจ้าของเหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่กิจการกังหันลมในประเทศไทยไม่มีอะไรคืบหน้าเลยตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา จึงเรียนเพื่อให้สังคมไทยช่วยกันคิดต่อครับ