Skip to main content

ความหงุดหงิดแห่งรูหู

คอลัมน์/ชุมชน


เคยคิดและอยากทำอะไรสักอย่างมานานแล้วคือ การเขียนการบ่นอะไรก็ได้เกี่ยวกับสิ่งที่พบที่เห็นมาในชีวิตประจำวัน พร้อมกับอยากจะออกความเห็นความรู้สึกส่วนตัวประกอบแก้อาการหงุดหงิดรำคาญใจอันเกิดจากสิ่งที่พบที่เห็นนั้นๆ  แต่ก็ติดตรงที่ หนึ่ง ไม่ค่อยมีเวลา สอง ตอนมีเวลาดันลืม สาม เมื่อมีเวลาและไม่ลืมก็ขี้เกียจเขียน  สี่ มีเวลาก็แล้ว ไม่ลืมก็แล้ว หายขี้เกียจก็แล้ว ไม่รู้จะเขียนไประบายให้ใครฟังใครอ่าน ครั้นจะเก็บไว้อ่านคนเดียว แทนที่จะเป็นการระบาย อาจกลายเป็นระเบิดจุกอกตัวเอง หนักเข้าไปอีก พอดีมาเจอเวทีประชาไทเข้า ก็เลยลองส่งมาหยั่งดู


 


ว่าจะลงมือเขียนตอนแรกในเรื่องการมอมเมาประชาชนคนไทยด้วยรายการสารพัดชิงโชค ที่เห็นทางทีวีวันละนับสิบครั้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เผอิญสังเกตเห็นในย่อหน้าแรกข้างบนมีวลีหนึ่งที่ว่า "อะไรทำนองนั้น" ทำให้นึกถึงเรื่องภาษาไทยเรื่องหนึ่งที่คาใจมานานแล้ว ปล่อยไว้กลัวจะลืมเสียอีก เลยเปลี่ยนใจมาเขียนเรื่อง วลีฮิตติดปากวัยรุ่นสมัยนี้  ประเดิมเป็นตอนแรก


 


มีคำพูดบางคำหรือบางวลีที่วัยรุ่นสมัยนี้ติดปาก เช่นวลีที่ว่า "อะไรเงี้ย"  หรือ "อะไรยังเงี้ย"  บางคนใช้ซ้ำซากและบ่อยเกินความจำเป็นโดยไม่มีความหมายอะไรแม้แต่ครั้งเดียว จนผมมีความรู้สึกว่าทำให้เสียบุคลิกภาพในการพูดของผู้พูดไปอย่างน่าเสียดาย ใช้บ่อยจนเรียกได้ว่าเหมือนเป็นคำเสริมที่แค่เติมไว้ท้ายประโยคเพื่อแก้เขิน หรือเพื่อหน่วงเวลาระหว่างคิดประโยคต่อไป คล้ายกับที่บางคนติดคำว่า "เอ้อ....." หรือ "อ้า...."  ตัวอย่างเช่น


 


"สำหรับเรื่องเพื่อนอะไรยังเงี้ย  หนูว่าหนูไม่ใช่คนที่ติดเพื่อนมากจนเกินไปหรอก เพียงแค่หนูจะสนิทสนมกับเพื่อนบางคนเป็นพิเศษอะไรยังเงี้ย  ที่เหลือนอกนั้นก็เป็นเพียงเพื่อนที่คบหากันแค่ผิวเผินอะไรยังเงี้ย"


 


ผมฟังทีไร รู้สึกรำคาญจนพาลไม่อยากฟังเรื่องราวเพื่อรับรู้เนื้อหาสาระอื่นอีกต่อไป  แม้ว่าบางทีเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยากรับรู้เหลือเกินก็ตามที เคยคิดทำใจว่าก็อย่าไปจับผิดเขาเลย แกล้งทำเป็นไม่ได้ยินวลีนั้นไปเสียก็สิ้นเรื่อง แต่ทำใจยากครับ มันฟังขัดหูพิกล เหมือนฟังคนพูดไปกระแอมไปหรือพูดไปไอไป ยังไงยังงั้น


 


และที่อดไม่ได้จนต้องลุกขึ้นมาเขียนก็เพราะผมมีความรู้สึกว่า อาการแบบนี้น่าจะแก้ไขได้ไม่ยาก และหากใครที่มีอาการนี้จะลองพยายามแก้ไขจนอาการดีขึ้นหรือหายขาด ก็น่าจะเป็นผลดีต่อตัวเองไปตลอดชีวิต เพราะเขาหรือเธอผู้นั้นจะเปลี่ยนจากคนที่พูดจาไม่ค่อยน่าสนใจฟัง เพียงเพราะละเลยอะไรเล็กๆ น้อยๆ บางอย่าง มาเป็นคนที่พูดจาได้ราบเรียบรื่นหูชวนฟังชวนสนทนาด้วยได้โดยไม่ยากเย็นนัก เพียงแค่พยายามใส่ใจแก้ไขอยู่เนืองๆ ในช่วงแรก ซึ่งก็จะติดเป็นนิสัยเมื่อทำไปบ่อยๆ เข้า  จนในที่สุดก็จะเคยชินโดยไม่จำเป็นต้องไปพะวงคอยระวังคอยแก้ไขอีกต่อไป


 


ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยใช้วลีนี้  ความจริงวลีที่ว่านี้เป็นวลีที่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างหลีกเลียงไม่ได้ในบางครั้ง (แต่ไม่บ่อยนัก)  เพื่อให้เนื้อหาของประโยคโดยรวมมีความหมายตรงตามความต้องการ สำหรับผม หากจำเป็นต้องใช้จะพยายามไม่ใช้คำว่า อะไรยังเงี้ย แต่จะฝืนพูด (ช้าช้า) ให้ชัดเจนเต็มคำเต็มวลีว่า อะไรอย่างนี้ หรืออะไรทำนองนี้ มากกว่า และจะพยายามไม่ใช้บ่อยมากเกินกว่าความจำเป็นจริงๆ


 


จริงอยู่ ในการเจรจาพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ การพูดคำบางคำแบบรวบรัดหรือแผลงเสียงแผลงรูปไปบ้างในภาษาไทย ไม่นับว่าเป็นความบกพร่องอะไรมากมายนัก แต่บางคำบางวลีที่เราฟังดูรู้สึกขัดหู (สำหรับคนบางคน ไม่จำเป็นต้องเป็นกับทุกคน) แถมยังต้องมาได้ยินซ้ำๆ ซากๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้หรือไม่มีโอกาสหลบเลี่ยง (เช่น จำเป็นต้องนั่งฟังในห้องประชุม) นับว่าเป็นความทุกข์ทางประสาทอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่มากนักแต่ก็ทำให้หงุดหงิดได้พอดู แต่ที่สำคัญก็คือ อาจพลอยทำให้ผู้พูดเสียโอกาสที่จะสื่อสารสิ่งที่ตนเองอยากให้ผู้ฟังรู้ ในขณะที่ผู้ฟังขี้หงุดหงิดบางคนเสียโอกาสที่จะได้รับรู้ข่าวสารที่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะไม่คิดสนใจอยากจะฟังอีกต่อไปอย่างน่าเสียดาย


 


หากใครเป็นคนช่างสังเกต คงจะเคยพบว่าอาจารย์จตุพล ชมภูนิช  ปรมาจารย์ทอล์คโชว์อันดับต้นๆท่านหนึ่งของเมืองไทย  เคยติดปากใช้คำพูดวลีหนึ่งที่ไม่ค่อยมีความหมายบ่อยเกินความจำเป็นในช่วงเวลาหนึ่งเมื่อราว 3-4 ปีก่อน  ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมฟังดูแล้วรู้สึกว่าขัดหูอยู่นิดๆ  แต่คงเป็นเพราะความสามารถและความโดดเด่นของอาจารย์ครบถ้วนในทุกด้าน ที่ช่วยกลบเกลื่อนซ่อนเร้นข้อด้อยนี้ จนบางคนอาจไม่เคยสังเกตเห็นเลยด้วยซ้ำไป


 


ต่อมา ในระยะหลังผมไม่เคยได้ยินคำพูดวลีนี้จากปากอาจารย์จตุพลอีกเลย ผมเข้าใจว่าคงจะมีผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับอาจารย์สังเกตพบ และได้สะกิดให้อาจารย์ทราบ หรืออีกอย่างหนึ่ง อาจารย์จตุพล อาจเป็นคนที่ใส่ใจกับการประเมิน (ข้อเด่นข้อด้อย) ตนเองอยู่เสมอ อาจจะโดยการย้อนกลับมาดูสื่อบันทึกรายการทอล์คโชว์ของตนเอง  แล้วสังเกตเห็นข้อบกพร่องอันนี้ จึงได้พยายามปรับปรุงแก้ไขจนประสบความสำเร็จในที่สุด


 


ในครั้งนั้น ผมยังเคยคิดจะเขียนจดหมายไปแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้กับอาจารย์ ในฐานะที่เป็นผู้ที่เคารพนับถือและชื่นชมในตัวอาจารย์มาโดยตลอด  แต่อาจารย์จตุพลซึ่งเป็นเสือปืนไวกว่าผมได้ค้นพบและทำการแก้ไขได้ทันควัน  ก่อนที่ผมจะรวบรวมความขยันได้มากพอที่จะเริ่มขยับนิ้วจิ้มจดหมายด้วยซ้ำไป


 


สำหรับท่านที่ไม่ค่อยได้สังเกตเท่าไรนัก ลองไปหา วี.ซี.ดี. รายการทอล์คโชว์เก่าๆ ของอาจารย์มาเปิดดูได้ อาจารย์มักใช้คำว่า "นึกออกไหมครับ"  ท้ายประโยคที่พูดโดยไม่มีความหมายค่อนข้างบ่อยเกินความจำเป็น  แต่ต่อมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ผมกล้าพูดได้เลยว่า แทบจะไม่เคยได้ยินคำพูดวลีนี้หลุดจากปากอาจารย์จตุพลอีกเลย จะมีบ้างนานๆ ครั้งก็เป็นวลีที่มีความหมาย เพราะในขณะนั้นเหมือนกับว่าอาจารย์ต้องการสะกิดให้ผู้ฟังลองนึกทบทวนสิ่งที่ท่านกำลังพูดอยู่จริงๆ


 


นี่ขนาดนักพูดมีชื่อเสียงซึ่งมีเรื่องราวที่พูดล้วนสนุกสนานน่าสนใจ แทรกมุกตลกได้ตลอดเวลาหรืออาจเรียกได้ว่าแทบทุกประโยคที่พูด เมื่อมีการใช้คำพูดที่ไม่มีความหมายบ่อยๆ เกินความจำเป็น ยังทำให้เรื่องราวที่พูดเสียรสชาติไปบ้าง  เราคนธรรมดาซึ่งในเวลาปกติมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับผู้อื่นทุกวี่วัน หรือในบางครั้งอาจจำเป็นต้องพูดต่อหน้าสาธารณชนบ้างเป็นครั้งคราว  จึงไม่ควรจะปล่อยตนให้เสียบุคลิกภาพในการพูดไปอย่างน่าเสียดาย  ด้วยคำพูดวลีสั้นๆ เพียงวลีเดียว (แต่ใช้บ่อยและพร่ำเพรื่อมาก) โดยไม่คิดจะแก้ไข


 


ผมเห็นว่าการแก้นิสัยนี้ไม่น่าจะยากเย็นเกินวิสัยนัก ลองพยายามเตือนตัวเองบ่อยๆ ในขณะที่กำลังพูดทุกครั้งว่า เราจะพยายามไม่พูดคำๆ นี้ จะง่ายขึ้นถ้าจะลองลดความเร็วในการพูดให้ช้าลง ในขณะที่เตือนตัวเองไม่ให้หลุดวลีนี้ออกไป ขณะพูดอย่าคิดอะไรเร็วนัก เพราะจะทำให้เราต้องเร่งพูดให้เร็วตาม เป็นเหตุให้เผลอหลุดคำนี้ออกไปง่ายๆ


 


ผมเองก็เคยลองแก้ไขข้อบกพร่องนี้ของตัวเองอยู่ครั้งหนึ่งเหมือนกัน  หลังจากที่จับได้จากการย้อนดูเทปบันทึกภาพที่เคยออกรายการทางโทรทัศน์บ้าง ในงานพิธีต่างๆ ที่เผอิญจำเป็นต้องพูดต่อหน้าชุมชนบ้าง พบว่าผมมักจะใช้คำว่า "คือ...."   ก่อนจะขึ้นประโยคใหม่ค่อนข้างบ่อย คล้ายกับเป็นการหน่วงเวลาเพื่อจะนึกเรียบเรียงประโยคที่จะพูดต่อไปให้สละสลวย เข้าใจง่าย ไม่วกวน แต่เมื่อย้อนกลับมาฟังดูโดยรวมแล้วรู้สึกว่าออกจะมากไปสักหน่อย จึงได้ลองแก้ไขตามวิธีดังกล่าวก็พบว่าได้ผลดีทีเดียว ปัจจุบันนี้ ขนาดไม่ใช่นักพูดและไม่มีหน้าที่การงานหรือความจำเป็นที่จะต้องพูดอะไรมากมายนัก ผมประหยัด "คือ" ไปได้วันละร่วมร้อยคำ


 


มีอีกสองสามคำหรือวลีที่เห็นวัยรุ่นใช้กันบ่อยมากในสมัยก่อนเมื่อหลายๆ ปีมาแล้ว  ปัจจุบันแม้จะยังเห็นใช้กันอยู่ แต่สังเกตดูแล้วรู้สึกว่าลดน้อยลง อาจเป็นเพราะเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปบ้างตามกาลเวลา คือคำว่า "แบบว่า" และวลี "มันเป็นอะไรที่..."   ซึ่งผมมีความรู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่สำนวนไทย อย่างวลีหลังน่าจะคล้ายวลี "something like" ของฝรั่ง ที่ฝรั่งพูดไทยไม่เก่งบางคนอาจแปลออกมาใช้กันตรงๆ  คนไทยได้ฟังเข้าอาจเผลอใช้โดยไม่ทันคิด บางคนอาจจะดัดจริตเจตนาใช้ตามฝรั่งโดยเห็นว่าโก้จนนานเข้าก็ติดแบบไม่รู้ตัว  แถมยังถ่ายทอดมาสู่วัยรุ่นจนติดกันงอมแงมในสมัยหนึ่งก็อาจเป็นได้ อย่างไรก็ตาม ก็ได้แต่ภาวนาขอให้เสื่อมความนิยมไปโดยเร็วไว เพราะฟังแล้วรู้สึกหงุดหงิดหูพอสมควร


 


มีอีกวลีที่เคยได้ยินพูดกันบ่อยพอควร ทั้งจากผู้ประกาศ, โฆษก, พิธีกร, ครูบาอาจารย์ ฯลฯ ก็คือวลี "ทางด้านของ..." ครั้งหนึ่งเมื่อราว 5-6 ปีก่อน ผมเคยฟังอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์สาวหน้าตาดี ความรู้ดี พูดจาฉะฉานราบรื่นไม่ติดขัดผู้หนึ่ง อายุไม่มากราว 25 ปี ใช้วลีนี้ในการบรรยายซ้ำๆ ซากๆ นับได้เกินกว่าสิบครั้งในเวลาไม่ถึง 1 นาที ในการสอนวิชา Microsoft Powerpoint แก่ประชาชนผู้สนใจเรียน (รวมทั้งตัวผม) ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ผมไม่ได้ใช้ Powerpoint มานานจนลืมเกือบหมดแล้ว จึงขอยกตัวอย่างที่ไม่เกี่ยวกับ Powerpoint ที่คิดขึ้นเองสดๆ ให้ลองฟังดูว่ามันน่าสยองแค่ไหน สมมุติว่าเป็นโฆษกวิทยุท้องถิ่นรายงานข่าวสดแบบปากเปล่าในรายการเพลงที่ตัวเองจัดอยู่ก็แล้วกัน


 


"ทางด้านของสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน แนวหน้า คมชัดลึก หรือทางด้านของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอย่างเดอะเนชั่นและบางกอกโพสต์  นอกจากนี้  ยังมีทางด้านของหนังสือพิมพ์จีนอย่างซิงเสียนเยอะเป้า ต่างก็ส่งนักข่าวรวมแล้วนับสิบมาร่วมทำข่าวในครั้งนี้ เป็นเหตุให้ทางด้านของดาราสาวที่ตกเป็นข่าวออกจะรู้สึกประหม่าจนแถลงข่าวไม่ออก ร้อนถึงทางด้านของผู้จัดการต้องแอบปาดเหงื่อไปคอยประกบพลางกำกับบทพลางอยู่ข้างๆ ตัวทางด้านของดาราสาวอยู่ตลอดเวลา...."


 


สาบานว่า ผมได้ยินถี่ขนาดนี้จริงๆ ไม่ได้เจตนาเขียนให้โอเวอร์


 


เฮ้อ... จะเหนื่อยแทนผู้จัดการคนนั้นหรือแทนผู้ประกาศท่านนี้ดีหนอ แต่ที่แน่ๆ ผมสงสารคนฟังจังแฮะ


 


อีกวลีหนึ่ง แม้ไม่ได้พูดซ้ำซากจนน่ารำคาญก็ตาม เป็นโฆษณาที่มีเป้าหมายคือกลุ่มวัยรุ่นที่ยังเห็นได้ในปัจจุบัน ผมถูกยัดเยียด "เสียง" ใส่รูหูทางโทรทัศน์หลายช่องทุกวันๆ ละหลายครั้ง  ถึงขนาดทำให้เกือบจะนึกเกลียด "ภาพ" พรีเซ็นเตอร์สาวสวยวัยรุ่นผู้นั้นอย่างไม่มีเหตุผล  ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของเธอเลยแม้แต่น้อย ก็โฆษณาในรายการบันเทิงที่สาวเจ้าเขย่งขึ้นใช้มือป้องปากพูดใส่หูเพื่อนหนุ่มหน้าใสว่า "ขอพ้อยหน่อยดี้"


 


ไม่รู้เป็นไง ผมไม่ชอบคำพูดวลีนี้แฮะ อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวจริงๆ แค่ขออนุญาตระบายสู่กันฟังมิได้ตำหนิติเตียนอะไรหรอกนะ อันที่จริงอยากจะชมครีเอเต้อร์ของแอดฯ  ชุดนี้ด้วยซ้ำไป


 


พี่แกเก่งจริงๆ ครับ ใช้เวลาแค่สองวินาที  ผมเกลียดโฆษณาชิ้นนี้ขนาดไหน พอโผล่มาหน้าจอทีไรขยับมือคว้ารีโมทมาเปลี่ยนช่องไม่ทันสักที..... นายแน่มาก หุ หุ หุ