Skip to main content

คือวันอันงดงาม ที่บ้านอาข่า ป่าคาสุขใจ

คอลัมน์/ชุมชน

 


           


วันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ปลายฝนต้นหนาวที่จังหวัดเชียงราย เมฆฝนยังปกคลุม เต็มฟ้า ฝนตกปรอย ๆ ตอนเช้า ดิฉันมีนัดกับคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย คือ รศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ (อาจารย์ตั้ม) ซึ่งจะนำคณะมาศึกษา ศิลปวัฒนธรรมของพี่น้องชาวลีซู อาข่า ลาหู่ บนดอยแม่สลอง เพื่อเตรียมการทำค่าย Art for All ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้


 


ดอกมณฑาทอง ที่อาจารย์นคร พงษ์น้อย กรุณาให้มาปลูกเมื่อสิบปีมาแล้ว ออกดอกสีเหลืองทอง กลีบหุ้มดอกสีเขียวอ่อนอมชมพูม่วง สามีดิฉันปีนบันไดขึ้นไปตัดให้ ๔ ดอก  กับดอกยี่หุบสีขาวนวลอีก ๑ ดอก ดิฉันนำไปต้อนรับอาจารย์ชาญณรงค์ที่สนามบิน ทุกคนชอบใจกับกลิ่นหอมอ่อน ๆ และสีสบายตาของดอกไม้ไทยที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นกัน


 


โชคดีที่วันนี้ อาจารย์นคร พงษ์น้อย อยู่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง ดิฉันจึงชวนคณบดีกับทีมงานไปสวัสดีอาจารย์นคร ในฐานะที่ทั้งอาจารย์นครและอาจารย์ชาญณรงค์ เป็นศิษย์เอกของ ศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล ทั้งคู่


 


ฝนหายแล้ว อากาศที่เชียงรายจึงเย็นชุ่มฉ่ำ ต้นไม้ในไร่แม่ฟ้าหลวงเขียวขจี มีดอกพวง (แซ้ด) แสด (สีแสดสว่างไสว) สนามหญ้าเขียวสดนำสายตาไปสู่พระรูปปั้นของสมเด็จย่าในท่าประทับนั่ง ฝีมือของคุณมิเซียม ยิบอินซอย ชวนให้ระลึกถึงพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงเสด็จไปยัง ป่าเขาลำเนาไพร เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชน และช่วยให้พ้นจากความทุกข์ยาก


 



 


คณะอาจารย์ประทับใจกับหอคำที่สร้างด้วยไม้สัก ไม้มะค่า ไม้แดงอันล้ำค่า ที่ประชาชน ถวายแด่สมเด็จย่า ภายในมีพระพุทธรูปไม้ที่ทำด้วยพร้าเล่มเดียว และเครื่องสัตภัณฑ์ (เชิงเทียนโบราณที่รวบรวมจากวัดต่างๆ) แกะสลักเป็นลวดลายวิจิตร ด้วยศิลปินผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา


 


โครงสร้างอาคารหอคำ ทำให้ลมและแสงแดดเข้าสู่อาคารได้พอเหมาะ อากาศจึงโปร่ง สบาย ชวนให้จิตใจสงบและปิติ จึงมีผู้ถามว่า "อากาศในหอคำเคยร้อนไหม" ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้นำชม ตอบว่า "ส่วนใหญ่จะเย็นสบายดีค่ะ"


 


อาจารย์นคร พงษ์น้อย ได้กรุณาเตือนดิฉันว่า "อย่าทำงานมากเกินไป ให้เวลาตัวเองบ้าง" ซึ่งดิฉันน้อมรับด้วยความเคารพ แล้วขอปลีกตัวไปงานบวชของพี่น้องชาวแม่อายก่อน (ดิฉันและคุณจันทราภา นนทวาสี จะเล่าเรื่องงานบวชครั้งประวัติศาสตร์นี้ในฉบับหน้าค่ะ)


 


กลับจากแม่อายมาถึงดอยแม่สลองเกือบบ่ายสี่โมง พบคณะอาจารย์ชมตลาดที่แม่สลองอยู่ มีผักที่หญิงชาวอาข่านำมาขายจากไร่ สวนที่ปลูกเอง ได้แก่ ยอดมะระหวาน หน่อไม้น้ำ (พืช ตระกูลเดียวกับข้าว ปลูกในที่ลุ่ม มีเฉพาะปลายฤดูฝน) ผักชีดอย ยอดถั่วลันเตา หอมชู ผักคาวตอง สะระแหน่น้ำ ขิงอ่อน หน่อไม้ต้ม ฯลฯ ผักทุกอย่างล้วนสดใหม่ ไม่มีสารเคมีเจือปน


 


ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งขายงานผ้าปัก สร้อยข้อมือ กำไล ที่สะดุดตาคือ หมวกเงินแท้ส่องประกาย แวววาวกับลูกปัดสีสดใส พวกเธอแต่งชุดอาข่าเต็มยศ มีลูกน้อยมัดไว้ข้างหลัง หมวกที่ลูกน้อยใส่ ปักด้วยลายประณีต วัฒนธรรมอันงดงามเหล่านี้กำลังถูกกลืนหายไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่รุก ล้ำเข้าถึงทุกถิ่น ไม่ว่าจะแสนไกลแค่ไหน


 


แม่เฒ่าคนหนึ่ง ซึ่งตัวเล็กเหมือนเด็กมาเดินขอเงินนักท่องเที่ยว เธอไม่ได้ใส่เสื้อกับหมวก เหมือนหญิงอาข่าทั่วไป ถามดูได้ความว่าอยู่บ้านป่าคาสุขใจ (เหม่าเช้าหลิ่ง) ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน ของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ดิฉันจึงชวนเธอขึ้นรถตู้เพื่อไปหมู่บ้านด้วยกัน



 


เมื่อได้คุยกันเป็นภาษาอาข่า โดยครูใหญ่ (เฉลิมศรี อารีย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชน และเขตภูเขา) ร่วมคุยด้วย แม่เฒ่าบอกว่า พ่อเฒ่าผู้เป็นสามีตายไปนานแล้ว ลูกก็ไม่มี จึงอาศัยอยู่ กับน้องชาย น้องสะใภ้กับหลาน ๆ แม่เฒ่าพูดถึงชีวิตตัวเองด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน ต่างกับ ตอนที่แม่เฒ่าเที่ยวขอเงินเขาอยู่ที่ดอยแม่สลอง


 


คุณสมถวิล บุญน้อมหรือน้องโอเล่ (อาสาสมัครมูลนิธิ Art for All) กับดิฉันมีความรู้สึก ตรงกันว่า แม่เฒ่าคนนี้ แม้จะยากจนทางวัตถุแต่กลับมีจิตใจที่เป็นสุข เราจึงไปส่งแม่เฒ่าถึงบ้าน


 


บ้านของแม่เฒ่ามีหลานหญิงชาย ๓-๔ คน เป็นนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาสันติคีรี พ่อเฒ่าผู้เป็นน้องชายออกมาชวนดิฉันกับน้องโอเล่เข้าไปในบ้าน ดิฉันเข้าไปดูในห้องครัว จะได้เห็นว่า ครอบครัวนี้ กินอยู่กันอย่างไร


 


ที่มุมห้องครัวมีเตาฟืน ตั้งไหไม้ที่นึ่งข้าวแบบของชาวอาข่า น้องสะใภ้ของแม่เฒ่าใส่เสื้อ และหมวกแบบหญิงอาข่า แต่ตัวแม่เฒ่าบอกว่า แกไม่มีเสื้ออาข่า ไม่มีหมวก เพราะเป็นคนจน ไม่มี ลูก ไม่มีผัว วัน ๆ ก็ได้แต่ออกไปขอทานที่ดอยแม่สลอง คนเขาให้เงินทีละบาท สองบาท บางทีก็ห้า บาท สิบบาท วันหนึ่งได้สัก ๒๐-๓๐ บาทก็ซื้อข้าว ซื้ออาหารมากิน


 


ดิฉันชวนคณบดีกับทีมงานไปเดินเที่ยว ดูวิถีชีวิตชาวอาข่าบ้านป่าคาสุขใจ ยามเย็นวันนี้ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสด แสงอาทิตย์ส่องทาบทาผืนป่ารอบหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านป่าคาสุขใจ รักษาไว้อย่างดี เป็นพื้นที่เกือบสองพันไร่


 



 


คณบดีถามว่า ที่หมู่บ้านนี้มีเด็กพิการไหม อยากให้เด็กพิการมาเข้าค่ายศิลปะด้วย เพราะ เด็กพิการเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม จึงควรให้เขาได้เข้าถึงศิลปะเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจให้เป็นสุข


 


เด็กในหมู่บ้านจึงพาไปพบเด็กชายอายุ ๑๔ ปี ที่เป็นโปลิโอ เดินไม่ได้ แกพยายามสื่อสาร กับพวกเราแม้จะพูดไม่ได้   ดิฉันถามถึงรถเข็นที่คุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครบริจาคมาโดยมูลนิธิดวงประทีป น้องชายของเด็กจึงไปนำรถเข็นมาให้แกนั่ง แล้ว พาเข็นไปบนลานดินในหมู่บ้าน


 


แสงแดดแจ่มใสกับเด็กชายในรถเข็นที่ยิ้มแย้มอย่างมีความสุข เป็นความปลื้มปิติที่ได้เห็น ดิฉันขออนุโมทนาบุญของผู้บริจาครถเข็นให้เด็กผู้พิการในชนบท ท่านได้ช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้มี โอกาสมีความสุขเหมือนคนปกติอื่น ๆ เป็นบุญจริง ๆ ค่ะ


 


ทีมงาน Art for All ได้เยี่ยมเยือนครอบครัวของอาบอซือ พ่อเฒ่าซึ่งอายุมากที่สุดใน หมู่บ้านคือ ๘๔ ปี พ่อเฒ่า ชงน้ำชาแจกให้ทุกคน พร้อมกับถั่วลิสงคั่ว ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ปลูกในไร่ เป็นธรรมเนียมการรับแขกของชาวอาข่า ที่จะให้น้ำชาและพืชผลตามฤดูกาลแก่แขก เช่น กล้วย แตงกวา


 


จากนั้น ดิฉันพาคณะมาที่บ้านแม่เฒ่าตัวเล็กอีกครั้ง พบว่า ข้าวที่นึ่งไว้ในไหไม้กำลังสุก พอดี ดิฉันถามว่าเย็นนี้แม่เฒ่าจะตำน้ำพริก (สะพิถ่อง – ภาษาอาข่า) ไหม แม่เฒ่าหยิบครกไม้กับ สากอันยาวออกมา หยิบถั่วเน่า (เต้าเจี้ยวแห้งที่ทำเองจากถั่วเหลืองที่ปลูกไว้) ที่หมกไว้ในขี้เถ้าที่ เตาไฟ ดิฉันขอแบ่งมาชิม รสเค็มนิด ๆ เผ็ดหน่อย ๆ ยังอุ่น ๆ กลิ่นหอม อร่อยดี แม่เฒ่าหยิบหอชู (กู่ชี้ –ต้นหอมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำพริกอาข่า)  ทั้งใบทั้งรากกับพริกแห้งที่หมก ไว้ในขี้เถ้าออกมาตำ หลานชายก็ช่วยตำ พอแหลกดีก็เอาใส่ถ้วย ตัก ข้าวร้อน ๆ จากไห ออกมาใส่ในภาชนะสานที่เรียกว่า "ห่อวอ" แล้วเอามาวางไว้บน "โตก"


 


หลานชายของแม่เฒ่าหยิบหน่อไม้ที่ต้มในหม้อ ๕-๖ หน่อ มาใส่จานกับปอกแตงกวาดอย ลูกใหญ่เป็นชิ้น ๆ มาอีกอย่าง มีพริกแห้งกับเกลือตำไว้ให้จิ้มกับแตง รวมเป็นกับข้าว ๓ อย่าง คือ น้ำพริกถั่วเน่า หน่อไม้ต้ม กับแตงกวาสด กินกับข้าวดอยนึ่งไหไม้ซึ่งเม็ดร่วน เวลากินก็หยิบข้าวมา ปั้นจิ้มกับกับข้าวชนิดต่าง ๆ


 



 


ดิฉันกับอาจารย์รัศมี กฤษณะมิษ (อาจารย์หญิง) ผู้สอนวิชาภาษาสเปน แห่งคณะอักษร ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กินข้าวจิ้มน้ำพริกกับหน่อไม้ต้มอย่างเอร็ดอร่อย แล้วชวน อาจารย์ตั้ม คณบดีผู้ติดดิน กับคุณประสงค์ องค์ปรีชากุล แห่ง UN ESCAP (Economic and Social Commission of Asia Pacific) คุณสมถวิล (โอเล่) อาจารย์ศุภรัก (บอล) คุณนพวรรณ (เหมียว) และคุณจักรพันธ์ (นิว) มาร่วมวงกินกัน


 


ทุกคนออกปากว่า อาหารมื้อนี้อร่อยสุดยอด หากินที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะข้าวที่กินเป็น ข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองของชาวอาข่า ถั่วเน่า แตงกวา ล้วนเป็นพืชผักพื้นเมืองที่ปลูกแบบธรรมชาติ ปลอดสารเคมี และแม่เฒ่าก็ตำน้ำพริกให้พวกเรากินด้วยความสุข ด้วยความเต็มใจ


 


เมื่ออิ่มข้าวแล้ว ทุกคนร่ำลาแม่เฒ่ากับพ่อเฒ่าผู้เป็นน้องชาย แม่เฒ่ายังฝากถั่วลิสงและ ผักกาดใส่ถุงให้เอาไปกินที่บ้านอีกด้วย


 


บรรยากาศนอกบ้าน เป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์ใกล้จะลับฟ้า ดวงใจทุกดวงอบอวลด้วย ความสุข วันนี้เป็นวันแรกที่ท้องฟ้าแจ่มใส หลังจากที่เมฆฝนปกคลุมท้องฟ้าเมืองเชียงรายอยู่เกือบ สองเดือน จนแทบไม่เห็นแสงสว่าง ดังจะต้อนรับชาวกรุงผู้มาเยือนบ้านป่าค่าสุขใจด้วยจิต ปรารถนาดี


 


ดิฉันขอให้ค่าย Art for All ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จงนำมาซึ่งการรังสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันที่จะอยู่ในโลก  ในสังคมอย่างงดงาม  อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ ด้วยจิตอันเมตตาและเบิกบาน ตลอดไป