Skip to main content

"เสียง..คนหลังป้อมมหากาฬ" ฉบับที่ 1

คอลัมน์/ชุมชน

ชุมชนคลองถม ชุมชนลาดพร้าว ชุมชนเพ็ชรคลองจั่น ชุมชนศิริอำมาตย์ ชุมชนโรงสูบแยกเกษตร ชุมชนบางเขน  ชุมชนเครือข่ายพระราม3 ชุมชนวัดเทพธิดา  ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ชุมชนโรงหวาย ชุมชนหลวงวิจิตร ชุมชนวัดราชนัดดา ชุมชนวัดสระเกศ ชุมชนภูเขาทอง   และ........อีกหลายชุมชนที่กำลังจะถูกไล่รื้อ  


 


"ชุมชนป้อมมหากาฬ" เป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบปัญหาการไล่รื้อ เพราะถูกเวนคืนที่ดินจากกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขายาวนานถึง 13 ปี มีบทเรียนหลายต่อหลายบทจากหลังป้อมที่น่าเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และกระบวนการจัดการของราชการท้องถิ่นที่ขาดความเข้าใจในชีวิตของผู้คนที่เป็นพลเมือง


 


กทม. เวนคืนที่ดินเพื่อนำมาสร้างสวนสาธารณะบริเวณใจกลางเมือง เป็นปอดสาธารณะให้แก่สังคม ให้ความสำคัญกับป้อมมหากาฬเพียงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เพื่อการท่องเที่ยวและแยกคนออกจากโบราณสถานชุมชนจึงถูกกดดันและบีบขับด้วย การเพิกถอนสิทธิความเป็นชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมายมีสถานภาพเพียงผู้บุกรุก...



 


 



 


 


ทั้งนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬได้เสนอถึงการทำงานร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร หาก กทม. ต้องการคนดูแลความปลอดภัยในสวน ชุมชนจะดูแลให้ หากต้องการคนปลูกต้นไม้ ชุมชนจะปลูกให้  โดยขอแบ่งปันพื้นที่เพียง 1 ไร่เศษจากพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 5 ไร่ การเรียกร้องที่ผ่านมาของชุมชนได้นำมาสู่การเปิดเจรจาหลายครั้ง รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนป้อมมหากาฬ  จนมีมติของคณะกรรมการปรองดองที่ระบุว่าจะทำการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ตั้งแต่เดือนตุลาคม จนกว่าจะแล้วเสร็จ


 


 


 


 


สิ่งหนึ่งที่ชาวชุมชนอยากจะทวงถามจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คือ คำสัญญาก่อนได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่กล่าวถึงการไม่ไล่รื้อชุมชนใดๆ ตลอดวาระ 4 ปี รวมทั้งวิสัยทัศน์ที่ประสานความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในการจัดการชุมชน ในรูปแบบโครงการบ้านมั่นคง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการที่อยู่อาศัยเดิม  .............................................. จะมีโอกาสเป็นจริงได้หรือไม่??


 


พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬได้แต่หวังว่า การลงพื้นที่ของผู้ว่าฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เมื่อวันพุธที่  24 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมาจะทำให้ผู้ว่าฯ เข้าใจถึงวิถีชีวิตผู้คนหลังป้อมมหากาฬมากขึ้น ...และจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะเบียดไล่รื้อชุมชนให้ต้องไปเผชิญกับพื้นที่ใหม่ที่ห่างไกลจากแหล่งทำมาหากิน  ห่างไกลจากโรงเรียนของลูกหลาน และวิถีชีวิตดั่งเดิมของชุมชน  ........พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬรู้สึกขอบคุณจากใจจริงที่ท่านลงมารับรู้ถึงปัญหาด้วยตัวท่านเอง....!!


 


เพราะเราไม่อยากให้ .....รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิทธิและการมีส่วนรวมของชุมชน ประชาชน และ....อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางด้านวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีและทำสัตยาบันเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1999 นั้นเป็นเพียงลายลักษณ์อักษรที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในสังคม 


 


....การจัดการเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคน และเรากำลังเผชิญปัญหาร่วมกัน


ปัญหาของสังคมที่ถูกรุกคืบจัดการในนามของ "ส่วนรวม"