Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิด ตอน 2

คอลัมน์/ชุมชน

มาแล้วจ้า มาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์กลับไม่ถูก โดยนักเขียนชาวบ้านคนเดิม ขอคิดเข้าข้างตัวเองหน่อยนะว่า ท่านผู้อ่านคงจะอยากติดตามตอนต่อของเรื่องอาชญากรรมทางความคิดแน่เลย ว่าแล้วก็มาคุยกันต่อเลยดีกว่า


ตอนที่แล้ว ค้างไว้ว่าความคิดเรื่อยเปื่อยของชาวบ้านถูกจับให้เป็นจริงขึ้นมา เพราะคณะอาจารย์ได้รวบรวมความคิดของชาวบ้าน (คิดเพราะอาจารย์ขอร้อง) ว่าชาวบ้านต้องการสะพานเส้นตรง (ชาวบ้านไม่ขัดขวาง) ทั้งที่จริง ๆ แล้วชาวบ้านพูดตลอดเวลาว่าไม่เอาถนนในทะเล


ระยะเวลาที่คณะอาจารย์ออกมาสำรวจพื้นที่และสำรวจความคิดเห็นทั้งหมดเพียง 4 เดือนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องวิถีชีวิตต้องมีการศึกษาให้ครบ 1 ปี จึงจะเข้าใจวงจรของสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องลม และเรื่องการประกอบอาชีพ แต่คณะผู้วิจัยถูกจำกัดเวลาให้ทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน ดังนั้น การวิจัยจึงสรุปโดยไม่ได้ข้อเท็จจริงเท่าที่ควร และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ท่านนายกฯ ทักษิณ ไม่ได้สนใจผลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้าน เพราะมีโจทย์ในใจอยู่แล้วว่าอย่างไรก็ต้องสร้าง


เมื่อมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะผู้วิจัยกับรัฐบาล อาจารย์กล่าวรายงานการวิจัยให้นายกฯ ฟัง ปรากฎว่า อาจารย์รายงานยังไม่ได้กี่บรรทัด ท่านนายกฯ ก็บอกให้หยุดโดยบอกว่าไม่ต้องรายงาน ผมรู้แล้ว ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็เลยสงสัย (ในเมื่อนายกฯ รู้แล้ว ทำไมต้องเสียงบประมาณตั้ง 400 ล้าน จ้างคณะอาจารย์มารับฟังความคิดเห็นทำไม?)


จากนั้นก็มีการนำเรื่องงบประมาณการก่อสร้างสะพานเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องบอกก็คงทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก ฝ่ายค้านไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้อยู่แล้ว และถ้าคนชื่อทักษิณต้องการ รัฐมนตรีหน้าไหนจะกล้าขัด งบประมาณในการก่อสร้างเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ได้รับความเห็นชอบให้เป็นงบผูกพันในการเบิกจ่ายการก่อสร้างแต่ละขั้น ทั้ง ๆ ที่ผลการวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ยังไม่ผ่าน ท่านนายกฯ ก็ไม่ได้สนใจ ยังเดินหน้าต่อ ด้วยการจ้างคณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวงเงิน 400 ล้านบาท เพื่อออกแบบและหาแนวทางในระบบการก่อสร้างสะพาน (น่าหนักใจแทนชาวบ้านไหมล่ะ ท่านผู้อ่าน)


เมื่อผลออกมาอย่างนั้น มีคณะอาจารย์ทีมที่ออกมาทำงานชุดแรกหลายคนขอลาออกจากโครงการเพราะรู้สึกผิดต่อชาวบ้าน และมีบางคนมาสารภาพผิดและขอเข้ามาเป็นแนวร่วมกับชาวบ้าน


เมื่อรัฐไม่ยอมที่จะฟังแม้แต่เหตุผลของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ต้องช่วยตัวเอง โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เกี่ยวกับข้อกังวลจากผลที่จะเกิดจากการสร้างสะพาน ผลจากการรับฟังความคิดเห็นข้อกังวลของชาวบ้าน ทำให้เราทราบว่าชาวบ้านในแต่ละพื้นที่มีข้อกังวลแตกต่างกันไป


เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครปฐม คนนครปฐม (โดยเฉพาะชาวสวน) มีข้อกังวลกับถนนเส้นนี้มาก เพราะเป็นถนนทางด่วนพิเศษ เหมือนถนนมอเตอร์เวย์ ที่ไปจังหวัดชลบุรี ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านที่เคยผ่านถนนเส้นนี้รู้สึกอะไรบ้าง นอกจากสะดวกและรวดเร็ว พอดีผู้เขียนอาจจะเป็นคนช่างสังเกตเกินไป เลยรู้สึกว่าถนนมอเตอร์เวย์ มันคือถนนแยกโคตร เพราะตลอดเส้นทางมีรั้วกั้นตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้รถด้านข้างเข้ามาในถนน


แต่ท่านผู้อ่านลองคิดดูสิว่า หากถนนเส้นนี้ตัดผ่านมาระหว่างบ้านพ่อ-แม่ กับบ้านลูกที่อยู่คนละฟากถนน เขาจะข้ามไปมาหาสู่กันยังไง (ช่วยกันคิดหน่อยนะ)


ซึ่งบทเรียนจากถนนมอเตอร์เวย์ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับถนนเส้นนี้มาก เพราะแนวทางของถนนตัดผ่านเข้าไปในช่วงของสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐม นั่นคือบริเวณคลองจินดา ชาวบ้านจึงกังวลว่าวิถีชีวิตชาวสวนจะเปลี่ยนไป ไอเสียจากรถยนต์ที่ขับผ่านจำนวนมากในแต่ละวันจะส่งผลกระทบกับพืชผักผลไม้หรือเปล่า เมื่อถนนตัดผ่านแล้วจะทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสวนเปลี่ยนไปหรือเปล่า เขาจะทำอาชีพเดิมได้ไหม ทั้งหมดคือคำถาม แต่ไม่มีคำตอบเพราะภาครัฐไม่พร้อมจะรับฟัง


นี่คือตัวอย่างข้อกังวลของชาวสวน ฉบับหน้ามีข้อกังวลที่ถึงลูกถึงคนของชาวประมง ตลอดจนแนวคิด และวิชามารของภาครัฐในการสกัดกั้นแนวคิดของประชาชน