Skip to main content

บทสนทนาของคนชายขอบ

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


 มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งมาถามว่า "พี่ คนชายขอบ แปลว่าอะไร ใช่ ชายแดนมั้ย" 


คนที่ถามเป็นผู้หญิงที่มาจากฝั่งพม่าและพูดภาษาไทยได้ แต่ยังคงมีความจำกัดทางการใช้ภาษา ขณะที่คำนี้ในภาษาไทยเองก็สับสนอยู่ไม่น้อย ก็เลยคิดว่าจะอธิบายอย่างไรให้เป็นภาษาที่ง่ายๆ เพื่อให้ได้ความหมายที่ตรงที่สุด


 


คำตอบที่ให้ไปก็คือ คนที่เข้าไม่ถึงบริการต่างๆ ตามสิทธิ์ที่ควรจะได้ หรือคนที่อาจถูกมองข้ามไปในยามที่รัฐจัดสรรบริการใดๆให้กับคนในสังคม และคนชายขอบก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนชายแดน แต่ก็มีคนชายแดนจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนชายขอบ  พูดไปก็ไม่รู้ว่าคำตอบนี้จะเพิ่มความสับสนหรือไม่  แต่ค่อนข้างมั่นใจขึ้นเมื่อเธอบอกว่า "ก็พวกเรานี่เอง  ถ้าอย่างนี้พวกเราก็เป็นคนชายขอบ ใช่มั้ยพี่"


 


ใช่ ในทางศัพท์บัญญัติที่นิยมใช้กันในหมู่นักวิชาการและเอ็นจีโอ  เธอคือกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Marginalized group


 


ตอนที่เจอกันนั้น เธอมากับกลุ่มแรงงานหญิงชาวพม่าจำนวนหนึ่งที่อยู่ในแม่สอด เมืองชายแดนระหว่างไทยกับพม่า พวกเธอมารวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นแรงงานพม่าที่อยู่ในประเทศไทยที่มีปัญหาสุขภาพ ทั้งกายและจิต แต่ด้วยอุปสรรคนานาที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่มีอยู่ของรัฐไทย  ซึ่งแน่นอนว่าที่ผ่านมาพวกเธอก็เจอปัญหานี้มาแล้วเช่นกัน


 


แรงงานหญิงพม่าที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่พบกับความรุนแรงนานาชนิดมาก่อนทั้งจากครอบครัว เจ้าหน้าที่ของรัฐและนายจ้าง พบปัญหาสารพัดที่คนเมืองอย่างเราอาจคาดไม่ถึง ซึ่งหลายๆ ครั้งเจอปัญหาที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์หรือต้องเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นซ้ำซากจนไม่กล้าไปหาหมอ และหมอเองก็เซ็งที่จะรักษาคนซ้ำหน้าด้วยโรคเดิม และก็ไม่มีเวลาที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมถึงไม่หายสักที  ทั้งที่แท้จริงแล้ว ปัญหาของคนเหล่านี้มักไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเจ้าตัวเอง แต่พวกเขามักจะถูกกระทำมา และไม่มีอำนาจต่อรอง  รวมทั้งปัญหาที่มีอยู่นั้นไม่ได้เป็นแค่ปัญหาทางกายแต่เป็นปัญหาทางใจด้วย การมีกลุ่มขึ้นมาทำให้ผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกมีเพื่อน มีที่พูดคุยแลกเปลี่ยน  และมีที่พึ่ง


 


แต่ใช่ว่า จู่ๆ คนเหล่านี้จะกล้าลุกขึ้นสู้หรือเรียนรู้ขึ้นมาเองได้หรอกนะ มีเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามากระตุ้นให้เกิด   การเข้าไปทำงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมด้านสุขภาพของแรงงานย้ายถิ่น ขององค์กรพันธมิตรสากลต้านการค้าหญิง (Global Alliance Against Traffic in Women- GAATW) เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้และได้พัฒนาศักยภาพ และเสริมความสามารถของผู้หญิงได้ด้านต่างๆ ขึ้นมาโดยผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลายๆ เรื่อง


 


เวลา 1 ปีทำให้ผู้หญิงได้รู้จักเนื้อตัวและร่างกายของตัวเองมากขึ้น รู้จักโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามมาก่อน  เริ่มรู้จัก รู้ว่าจะดูแลตัวเองได้อย่างไร เห็นความสำคัญและกล้าต่อรองมากขึ้น  รวมถึงมีความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรต่างๆ ในการรักษาโรค  ที่สำคัญ หลังจากการวิจัยจบไปแล้ว ผู้หญิงก็ยังคงรวมตัวกันอยู่และผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มีปัญหา ทั้งในเรื่องครอบครัว ร่างกาย จิตใจ หรือเจ็บป่วยก็ยังคงเข้ามาขอบริการหรือขอคำปรึกษากับกลุ่มนี้อยู่ เพราะเป็นที่เดียวที่ผู้หญิงย้ายถิ่นชาวพม่ารู้สึกสบายใจที่สุดที่จะเปิดเผยเรื่องของตนเอง


 


ในวันนั้น กลุ่มผู้หญิงกลุ่มนี้ซึ่งมีคนพูดภาษาไทยได้เพียงคนเดียวและเพื่อนๆ อีก 5-6 คนพูดภาษาพม่า ได้มาร่วมการประชุมปรึกษาหารือกลุ่มช่วยเหลือตัวเอง (Self-help group) ซึ่งเป็นสมาชิกของ GAATW ที่มาจากประเทศต่างๆ อีก 7 กลุ่ม   เป็นการรวมตัวเองของผู้ประสบปัญหาโดยตรง เพื่อร่วมกันเป็นแรงใจและให้ความช่วยเหลือผู้ที่พบปัญหาแบบเดียวกัน ไม่ใช่เป็นกลุ่ม NGOs ที่เข้าไปทำงานประเด็นนี้


 


การจัดประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นที่แม่สอด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนชายขอบกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้จากคนชายขอบจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากว่าถึงแม้จะมีการจัดประชุมที่เมืองไทย แต่หากไม่ไปจัดที่นั่น กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ก็ไม่สามารถเดินทางไปร่วมได้ ถือไว้ว่า "เปิดโอกาสให้คนชายของได้เป็นศูนย์กลาง" บ้าง


 


ในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่เคยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ (trafficked victims) ที่ทางกลุ่มเองมักจะใช้คำว่าเป็น trafficked survivors หรือผู้ที่รอดชีวิตมาจากการค้ามนุษย์  กลุ่มนี้มาจากประเทศเนปาล มีกลุ่มคนที่เป็นแรงงานในบ้านจากอินเดียที่มาจากต่างแคว้นกัน 2 กลุ่ม และอินโดนีเซียที่ไปทำงานอยู่ในฮ่องกง  กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศจากกัมพูชา และฮ่องกง  รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงไทยที่กลับมาจากประเทศญี่ปุ่น รวมๆ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 30 คน


 


ทั้งหมดมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นทั้งประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เช่น กลุ่มจากเนปาลมาเล่าประสบการณ์เรื่องผู้หญิงจากเนปาลที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และการทำงานที่ผ่านมาของกลุ่ม ว่ามีปัญหาอุปสรรคใดๆ บ้าง แก้ปัญหาอย่างไร และยังต้องการความรู้เพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง  เช่นเดียวกับองค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิของผู้ค้าบริการก็ได้นำเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาบอก รวมทั้งการรวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาเดียวกัน กลุ่มคนทำงานบ้านก็เช่นกัน  มีบางคนที่ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่แต่โชคดีมีเจ้านายที่เข้าใจและยินยอมให้เธอออกมาประชุมต่างประเทศได้ คนเหล่านี้ล้วนต่อสู้มาตั้งแต่เพื่อเอาตัวเองให้รอด และมาวันนี้ก็ต้องสู้เพื่อเพื่อนที่ประสบปัญหาเดียวกัน


 


นอกจากนั้น ทุกกลุ่มก็ยังหาจุดร่วมในการจะทำงานร่วมกันและสนับสนุนกันในฐานะที่เป็นองค์กรประเภท Self-help group เหมือนกัน ที่รู้ถึงปัญหาและความต้องการของตัวเองเพื่อให้มีการสนับสนุนกันได้อย่างตรงจุดที่สุด


 


แต่การนำคนเหล่านี้มาประชุมกันนั้นก็นับว่าไม่ง่ายนัก เรื่องหลักๆ ที่สำคัญที่สุดของการหารือก็คือเรื่องของภาษาที่จะใช้สนทนากัน แน่นอนว่า ในการประชุมระดับนานาชาติแบบนี้ เชื่อว่าผู้คนคงคาดหวังว่าจะต้องเป็นการประชุมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักแน่นอน และหลายๆ ครั้งคนที่ถูกส่งออกมาประชุมนอกประเทศนั้นก็มักจะเป็นคนพูดภาษาอังกฤษได้ โอกาสหลายๆ โอกาสจึงตกกับคนที่พูดภาษาอังกฤษ  ทั้งๆ ที่คนที่ลงมือทำงานจริงนั้นกลับเป็นคนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ และมีบ่อยครั้งมากที่หากการประชุมไม่จัดหาล่ามไว้ให้ แล้วมีบางองค์กรที่ต้องการให้คนที่ไม่พูดภาษาอังกฤษเข้าไปร่วมด้วยโดยการนั่งแปลกันเอง ก็ดูเหมือนจะได้รับการมองแบบตำหนิว่ารบกวนผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ หรือไม่มีการชะลอเพื่อให้ล่ามได้มีโอกาสแปลอันเนื่องมาจากเกรงว่าจะเสียเวลา จึงทำให้คนที่ไปร่วมที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ดังนั้น  หลายๆ ครั้ง เวลาพูดว่าการประชุมนานาชาติ (International Conference) จึงกลายเป็นการประชุมของผู้ที่พูดภาษาอังกฤษ (English Spoken Conference) ไป


 


แต่ในที่ประชุมครั้งนี้ อย่างที่บอกว่า คนเหล่านั้นล้วนมาจากคนรากหญ้าและเป็นคนชายขอบที่ขาดโอกาสหลายๆ ด้าน ทั้งการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากร หรือการบริการต่างๆ ดังนั้น อย่าว่าจะให้พูดภาษาอังกฤษเลย แม้กระทั่งภาษาตัวเองก็อาจไม่เคยได้เรียนด้วยซ้ำ ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการสนทนากันจึงเป็นภาษาในชีวิตประจำวันมากกว่าและทุกคนก็ได้ใช้ภาษาที่ตัวเองถนัดมาคุยกัน ในที่ประชุมจึงประกอบด้วยภาษาฮินดี เบงกอลี เนปาลี เขมร จีนกวางตุ้ง  พม่า  ไทย และภาษาอังกฤษซึ่งนำมาเป็นตัวเชื่อมทุกภาษา


 


การประชุมดำเนินการไปอย่างช้าๆ  ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงแต่ประการใด เพราะผู้จัดนั้นได้พยายามอย่างสูงสุดในการแก้ปัญหานี้เอาไว้แล้ว คือแต่ละกลุ่มต่างมีล่ามเป็นของตัวเอง และการจัดตารางเวลาการประชุมมีการคำนวณเวลาเพิ่มเป็นสองเท่าจากการประชุมภาษาเดียว  ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่เมื่อทุกคนอยู่ในสถานะเดียวกันต่างก็เข้าในปัญหาของกันและกัน ทุกคนจึงอดทนและยินดีที่จะรอให้ล่ามแปลเสร็จเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกัน และให้เกียรติกันแม้จะฟังในสิ่งที่คนหนึ่งพูดไม่เข้าใจ แต่ทุกคนก็ฟังกัน  จนจบการประชุมพวกเขาก็สามารถวางแผนการทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม


 


แน่นอน การมีล่ามเป็นความสำคัญและจำเป็นมากๆ ในที่ประชุมแบบนี้ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือการทำให้คนที่พูดภาษาต่างกันเข้าใจกัน ทำงานร่วมกันได้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับล่ามเป็นอย่างมาก การที่องค์กรใดก็ตามหากต้องการให้การแลกเปลี่ยนในระดับนานาชาติเกิดขึ้นจริงแต่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับล่าม ก็เท่ากับว่าไม่ได้จริงใจที่จะรับฟังเสียงคนชายขอบ และได้ปิดโอกาสของการเรียนรู้ของคนทำงานไปแล้ว กระนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้ในการประชุมครั้งนี้ก็ลุล่วงไปได้ด้วยดีที่น่าประทับใจก็คือ ความพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจและการเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน


 


อย่างที่กล่าวเอาไว้แล้วว่า ต่างก็เป็นคนชายขอบเหมือนกัน ถูกละเลยมาเหมือนกัน พบกับความรุนแรงหรือต้องต่อสู้มาเหมือนๆ กัน แม้รูปแบบการต่อสู้จะต่างกัน หลายคนเพิ่งจะออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก เพิ่งจะรับรู้เรื่องราวของประเทศอื่น จึงเปิดใจพร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้กันเต็มที่ และก็พบว่าปัญหาเป็นแบบเดียวกัน  การพูดคุยกันด้วยภาษากายชัดเจนว่า ทุกคนเปิดเผย เป็นมิตร และยิ้มให้กันอย่างจริงใจ  นอกที่ประชุมก็มีการออกมาจับคู่เต้นรำด้วยกันระหว่างหญิงอินเดียกับหญิงพม่าที่ไม่พูดภาษาของกันและกันเลย ในขณะที่ทุกคนกำลังร้องเพลงที่เป็นภาษาอินโดนีเซีย พวกเขานั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ไปเดินซื้อของด้วยกันดูเหมือนจะเข้าใจกันดี


 


เด็กสาววัย 20 ต้นๆ จากปัตนะ อินเดีย เธอทำงานเป็นเด็กทำงานบ้านมาตั้งแต่อายุ 14 เนื่องจากทางบ้านยากจนและอยากมีเงินเรียนหนังสือ ปัจจุบันมาตั้งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือคนทำงานบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเด็ก นี่เป็นครั้งแรกของการออกนอกประเทศของเธอ เธอเดินเข้ามาบอกด้วยภาษาอังกฤษที่จำกัดว่า "ดีใจที่ได้มา ได้เรียนรู้เยอะมาก ได้รู้ว่าเพื่อนๆ ที่อื่นมีปัญหาอย่างไร เสียดายที่คุยกันเองได้ไม่มากนัก แต่รู้ว่าทุกคนเป็นมิตร เราส่งภาษาท่าทางถึงกัน เรายิ้มให้กัน ฉันว่าพวกเรารู้กันนะว่า เราหมายความว่าอะไร"


 


ความน่าประทับใจจึงอยู่ที่ว่า การสนทนากันคนชายขอบที่ต่างคนต่างใช้ภาษาของตนเองมาแลกเปลี่ยน แต่ด้วยรากฐานที่มาที่ใกล้เคียงกัน กลับดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำความเข้าใจต่อกัน ต่างกับการประชุมหลายๆ ประชุมที่แม้ผู้เข้าร่วมทุกคนจะพูดภาษาเดียวกัน แต่ดูเหมือนบ่อยครั้งจะไม่เข้าใจกันเพราะในที่ประชุมแห่งนั้นลืมใช้ "ภาษามิตรภาพ" อันเป็น "ภาษาสากล" ยิ่งกว่าภาษาอังกฤษ เสียอีก