Skip to main content

ฝาย คือชีวิตของชาวบ้าน คือหัวใจของชาวนา

คอลัมน์/ชุมชน

1


 


"อยากฮู้แต๊ๆ ว่า ไผเป็นคนสั่งหื้อมารื้อฝาย…"  ใครคนหนึ่งเอ่ยออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด  ผมยืนอยู่ตรงนั้น, บริเวณฝายท่าวังตาลทางฟากฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง ไม่ใกล้ไม่ไกลนักจากตัวเมืองเชียงใหม่


 


แดดบ่ายสาดแสงสะท้อนสายน้ำปิงที่กำลังรี่ไหลล้นลงสู่เบื้องล่างไม่หยุดนิ่ง 


เป็นแดดบ่ายที่อวลอบอ้าว และเร่าร้อนอย่างยิ่ง  ในห้วงขณะนั้น...


หลายคนจ้องมองสายน้ำปิงในยามน้ำหลาก  ช่างขุ่นข้น  ไม่สดใสเหมือนครั้งก่อนเก่า


ใช่, ชาวบ้านทั้งคนเฒ่าคนแก่  เด็ก หนุ่มสาว จากลุ่มน้ำปิงเกือบร้อยชีวิตยืนมองร่องรอย


ของเครื่องจักรกลที่รุกเข้าไปจ้วงตักทำลายฝายเก่าแก่โบราณให้แหว่งหายไปส่วนหนึ่ง


 


ผมจ้องมองดูสีหน้าแววตาของพวกเขา   ล้วนบ่งบอกให้เห็นถึงความตื่นตกใจ


ผสมความเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยคาดคิด 


กับสิ่งที่บรรพบุรุษเคยสร้างเคยรักษาสืบทอดเอาไว้มานานหลายชั่วอายุคน


ต้องถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของคนภายนอก  โดยใช้ในนาม "อำนาจรัฐ"


 


ว่ากันว่า- -หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี 


เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  นายกฯ คนเมือง  คนเชียงใหม่  ได้ออกมาพูดว่า  สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่  มาจากฝายพญาคำ  ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล  เนื่องจากเป็นตัวกีดขวางทางน้ำ  ทำให้น้ำปิงเอ่อท้นล้นนองท่วมตัวเมืองเชียงใหม่


 


ค่ำคืนนั้น, นายกฯ  ได้สั่งการให้รื้อฝายทั้ง 3 แห่งทิ้งทันใด!!


ไม่น่าเชื่อ...ฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ของชาวนา


กลับกลายเป็นสิ่งแปลกประหลาด  เป็นสิ่งกีดขวางในห้วงขณะนี้


ในห้วงขณะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน  เป็นคนเชียงใหม่


 


"ทำไมต้องทำกันอย่างนี้..." เสียงชาวบ้านของความไม่เข้าใจระคนสงสัย


แน่นอน  ทั้ง พระสงฆ์องค์เจ้า  ชาวบ้าน  คนเฒ่าคนแก่  รวมทั้งนักวิชาการ  ต่างพากันออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้  เพราะต่างถือกันว่าเป็นแนวคิดที่สวนกระแส  อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจโดยพลการ  ไม่ยอมฟังเสียงของชาวบ้าน  ไม่ชี้แจงประชาชน   จนเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


 


2


 


ยังจำได้...กับภาพของแม่จันทร์  ขัติสาร  ที่ยืนอยู่ริมฝั่งฝายท่าวังตาล 


ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ     


 


แม่จันทร์  บอกกับผมว่า  ฝายแห่งนี้มีความสำคัญ  มีประโยชน์ต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก 


เพราะต้องนำน้ำที่ผันเข้าลำเหมืองไปใช้ในการทำนา  ปลูกผัก  ทำสวนลำไย 


 


"ถ้ารื้อฝายตรงนี้  น้ำที่เข้าลำเหมืองก็ต้องแห้ง  และชาวบ้านก็ต้องตาย  เรารับไม่ได้  ที่มาทำอย่างนี้  ทำไมไม่บอกชาวบ้านเสียก่อน"  แม่จันทร์ เอ่ยออกมา พร้อมกับชี้ให้ดูร่องรอยการพยายามรื้อฝายท่าวังตาล


 


แม่จันทร์  พูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า  ฝายไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ 


ตั้งแต่เกิดใหญ่มาก็ไม่เคยเจอน้ำท่วมแบบนี้  และทุกพื้นที่ก็ถูกน้ำท่วมกันหมด 


ไม่ว่าทางต้นน้ำหรือท้ายน้ำ  


 


3


 



"เรื่องอย่างนี้  น่าจะมีการทำประชาพิจารณ์กันก่อน"


"น้ำท่วม ทุกคนยอมรับได้  ชาวบ้านไม่กลัว  แต่กลัวน้ำแห้ง  ถ้ามีการรื้อฝายทิ้ง  เพราะทุกหมู่บ้านต้องใช้น้ำในการเกษตร  ถ้ามีการรื้อฝาย  ก็จะทำให้ชาวบ้านตายกันทั้งหมู่บ้าน"


 


"แล้วทีนายทุนที่เข้ามาซื้อที่ดินริมแม่น้ำปิงล่ะ  ทำไมไม่เข้าไปจัดการ  ปล่อยให้เขาเข้ายึดที่ดิน  และยังมีการเอาดินมาถมล้ำเข้ามาในแม่น้ำปิง  จนทำให้แคบลง  ไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ  แต่กลับมารื้อฝายของชาวบ้าน  มันเกินไปแล้ว"


"หากนายกฯ ทักษิณ  ออกมาสั่งให้รื้อฝายจริง  รับรองว่าสมัยหน้า  ไม่ได้เป็นนายกฯ อีกแน่นอน" 


 


"ที่สำคัญ  ฝายท่าวังตาล  เป็นฝายที่ชาวบ้านได้คิดได้ช่วยกันสร้างกันขึ้นมา  และเป็นฝายที่ในหลวงเสด็จมาเป็นประธานเปิดด้วย  แต่รัฐบาลชุดนี้กลับมาสั่งให้รื้อฝายทิ้ง"


 


"รู้ไหมว่า ฝาย คือ ชีวิตของชาวบ้าน  คือหัวใจของชาวนา..."


 


นั่น,เป็นเสียงของชาวบ้านที่อาศัยพึ่งพากับสายน้ำปิง  สะท้อนออกมา...


เป็นน้ำเสียงที่ออกมาด้วยอารมณ์ความรู้สึกทั้งแปลกใจ  เคียดแค้นและชิงชัง  กับการกระทำของภาครัฐในครั้งนี้


 


ผมไม่รู้ว่า ในห้วงยามนี้  ชาวบ้านได้คิดเตรียมการใดกันต่อ  หลังจากที่มีคำสั่งของนายกฯ คนเมืองที่บอกว่า  จำต้องรื้อฝายเหล่านี้ทิ้ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่


 


4


 


ครั้นเมื่อหวนกลับมาอ่านบันทึกอันเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ตรงฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง 


ใช่,หลักปูนสี่เหลี่ยมแท่งนี้  เป็นเหมือนศิลาจารึกของชาวบ้านย่านนี้  เป็นเสมือนคำประกาศเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และจดจำตระหนักถึงที่มาที่ไปของฝายท่าวังตาล


ผมอ่านทบทวนดูอีกครั้ง.... 


 


 


"ถัดนี้ลงไป ๓๒ วา ปากเหมืองยามน้ำเหนือหลากพัดทรายเข้าเหมืองท่าวังตาล 


ทุกข์เหลือกำลังนัก ชาวนา ตำบลท่าวังตาล  ตำบลดอนแก้ว ตำบลหนองแฝก


ควรย้ายปากเหมืองขึ้นไป


ได้ชักชวนชาวนาออกเงินซื้อเหมืองใหม่นี้มาช้านาน


ครั้นลุ พ.ศ.๒๔๙๐ นายอำเภอสารภี ได้มอบภาระให้ เจ้าวุฒิ ณ. ลำพูน


โดยนายอำเภอช่วยสนับสนุน ก็รับมอบได้พยายามชักชวนให้ร่วมมือร่วมใจ


จนบรรลุความเสร็จเรียบร้อย ๑๒,๕๐๐ บาท


ได้ซื้อเหมืองนี้เป็นสิทธิของสามตำบลแล้ว


จึงขนานเหมืองนี้ว่า "ท่าวังตาลสามัคคี"


ในการนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าชลประทานราษฎร์ และผู้ช่วยทุกคน


ในตำบลวังตาล ตำบลดอนแก้ว ตำบลหนองแฝก ได้ร่วมมือด้วยเป็นอย่างดี


๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๑ ได้ศุภฤกษ์พิธีฉลองได้กระทำ ณ.ที่นี้


 แล้วเริ่มเปิดน้ำปิง ไหลสู่ลำเหมืองป่าลงท้องทุ่ง


ท่ามกลางความสดชื่นเริ่นเริงของพี่น้องชาวนาทั่วทุกคน"


 


ใช่,ฝายท่าวังตาล คือฝายที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจ เกิดจากความสามัคคีของชาวบ้าน 


เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมานานนัก แต่กลับต้องถูกทำลายลงด้วยคำพูดคำสั่งของคนเพียงคนเดียว!! 


 


เมื่ออ่านถ้อยคำอันเก่าแก่ในแท่งศิลาจารึกของชาวบ้านแล้ว 


ทำให้ครุ่นคิดใคร่ครวญอยู่อย่างนั้น...


 


ผมไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ซึ่งเคยออกมาพูดย้ำนักย้ำหนาว่า เป็นคนเมืองเชียงใหม่ เป็นลูกแม่น้ำปิง  ซึ่งพ่อแม่ของเขา  ตระกูลชินวัตรของเขาได้เคยใช้น้ำแม่กวง ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิงมาเนิ่นนาน จะเคยคิดเคยศึกษาเรียนรู้ถึงระบบเหมืองฝายของล้านนาหรือไม่ว่า…


 


"ฝาย" มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวบ้าน  ชาวนา ชาวสวน มาช้านาน


และทำให้ผมอดประหวั่นนึกถึง  "ความไม่รู้"  กับ "อำนาจรัฐ"ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่ว


โดยไม่ได้ให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดั้งเดิม


 


ซึ่งหาก "อำนาจรัฐ" เช่นนี้ยังคงแผ่ลุกลามต่อไปไม่รู้จบ 


ยิ่งทำให้ผมรู้สึกวิตกกังวลระบบเหมืองฝายดั้งเดิมจะถูกทำลายอีก


ไม่ใช่เพียงแค่ฝายท่าวังตาล แต่นั่นหมายถึงฝายหนองผึ้ง  ฝายพญาคำ ที่กำลังตกเป็นเป้าหมายของการทำลายทิ้ง  แน่นอนว่า  กำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับ ฝายท่าวังตาล...


 


หรือมันจะจริงดังที่นักปราชญ์หลายๆ คน ที่กล่าวเอาไว้ว่า...


 


"อำนาจนั้นทำให้มนุษย์เรากลายเป็นคนโลภ และความชั่วร้าย!!"