Skip to main content

เบื้องหลังสงครามลับแห่งสหัสวรรษ

คอลัมน์/ชุมชน


               


แทบไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลยว่า เมื่อ 3 ปีก่อนในปี พ.ศ.2545 ได้มีการซ้อมรบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเกิดขึ้น และผู้ที่ทำการซ้อมรบครั้งนั้นก็คือกองทัพสหรัฐ กองทัพที่ทรงแสนยานุภาพสูงสุดของโลกนั่นเอง[1]


 


มันมีชื่อเรียกว่า "การท้าพิสูจน์แห่งสหัสวรรษ"  และแม้ว่าจะเป็นเพียงการจำลองการรบด้วยคอมพิวเตอร์ก็ตาม  แต่ทว่ากองทัพสหรัฐก็ได้ทุ่มเท่ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การซ้อมรบครั้งนี้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ไม่เพียงแต่ข้อมูลที่ใช้จะเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดเท่านั้น แต่ว่าในกรณีที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของสหรัฐและผองพันธมิตรก็ถูกนำออกใช้จริงอีกด้วย[2]


 


เป้าหมายของ "การท้าพิสูจน์แห่งสหัสวรรษ" ก็คือ การล้มล้างทฤษฎีความเชื่อที่ว่า  ในการทำสงคราม  หนทางสู่ชัยชนะนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงและการคาดเดา เนื่องจากไม่มีผู้ใดสามารถหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้


 


เพราะในวันนี้  ด้วยเทคโนโลยีทางระบบข้อมูลข่าวสารและการจัดการที่ก้าวไกล ไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือการรับรู้และการควบคุมของกองทัพสหรัฐไปได้ กองทัพสหรัฐคือกองทัพที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่โลกเคยมีมา


 


การซ้อมรบนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างทีมน้ำเงินที่สมมุติว่าเป็นกองทัพสหรัฐและชาติพันธมิตร และทีมแดงที่สมมุติว่าเป็นกองทัพของประเทศหนึ่งในบริเวณแถบอ่าวเปอร์เซียที่ไม่เป็นมิตรและเป็นที่พักพิงของผู้ก่อการร้าย[3] หรืออีกนัยหนึ่งประเทศอิรัก นั่นเอง


 


หัวใจของการบังคับบัญชาการรบของทีมน้ำเงินอยู่ที่โปรแกรมการประเมินผลด้วยคอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของโลก โปรแกรมนี้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าศึกตามหมวดหมู่เช่น การทหาร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ฯลฯ รวมกันทั้งสิ้นกว่า40,000รายการได้พริบตา[4]


 


นอกจากนี้ศูนย์บัญชาการของทีมน้ำเงินยังสามารถดึงข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานใดของสหรัฐที่มีอยู่ทั่วโลกได้ รวมถึงติดต่อ สั่งการและติดตามชมภาพการรบจริงที่ถ่ายทอดสดผ่านระบบดาวเทียมได้ทุกขณะอีกด้วย[5] กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ทีมน้ำเงินมีระบบการจัดการแบบรวมศูนย์ที่สมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา


 


ตรงกันข้าม ทีมแดงนอกจากจะมีกำลังรบและยุทโธปกรณ์ที่อ่อนด้อยกว่าลิบลับแล้ว ยังมีนายแวนริบเปอร์ อดีตนายพลที่เพี้ยนที่สุดในกองทัพสหรัฐเป็นผู้บัญชาการอีกด้วย


 


สิ่งแรกที่เขาบอกกับสมาชิกร่วมทีมก็คือ  "ต่อไปนี้ เราจะยังคงเป็นผู้บัญชาการ แต่จะไม่มีการควบคุมสั่งการ ...ผมหมายความว่า จากนี้ไป กองบัญชาการจะเป็นผู้ให้ทิศทางและหลักเกณฑ์กว้างๆเท่านั้น แต่การตัดสินใจในสนามรบจะขึ้นอยู่กับตัวผู้ปฎิบัติเอง ไม่ใช่ขึ้นตรงต่อคำสั่งจากเบื้องบน ...เราจะอาศัยความฉลาด ประสบการณ์ และวิจารณญาณของผู้คนทั้งหมดฝ่ายเรา"[6]


 


ในแง่หนึ่ง  "การท้าพิสูจน์แห่งสหัสวรรษ" นี้อาจเป็นแต่เพียงการซ้อมรบใหญ่อีกครั้งหนึ่งเท่านั้น ทว่า ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือการสู้รบจริงระหว่างสองขั้วแนวคิด ฝั่งหนึ่งคือตัวแทนแนวคิดในการจัดการแบบรวมศูนย์ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายมาช้านาน และจนถึงในวันนี้ก็ได้รับการพัฒนาจนถึงขั้นสูงสุดแล้ว กับอีกฝ่ายหนึ่งคือตัวแทนแนวคิดในการจัดการแบบจัดการกันเอง (self-organization) แนวคิดใหม่ที่โลกเพิ่งจะให้ความสนใจ


 


ผลลัพธ์จากสงครามครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนบทพิสูจน์ว่า แนวคิดใดคือแนวคิดที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่ากัน


 


เพียงในวันแรกที่สงครามนี้เปิดฉากขึ้น ทีมน้ำเงินก็เคลื่อนพลจำนวนหลายหมื่นนายพร้อมเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินหลายสิบลำเข้าประชิดพรมแดนประเทศของทีมแดง พร้อมกับยื่นคำขาดให้ทีมแดงยอมแพ้ในทันที เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทีมแดงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะยอมแพ้ เท่านั้น


 


ทีมน้ำเงินจัดการทำลายเรดาร์และโครงข่ายการติดต่อสื่อสารของทีมแดงลงจนใช้การแทบไม่ได้ โดยคาดว่าทีมแดงจะต้องหันมาพึ่งโทรศัพท์มือถือซึ่งง่ายต่อการดักฟังเพื่อใช้ติดต่อกันแทน แต่เหตุการณ์หาเป็นไปดังคาดไม่ เพราะฝ่ายแดงหันไปใช้วิธีการอื่นๆ แทน เช่น มอเตอร์ไซค์ส่งเอกสาร และสัญญาณไฟ เป็นต้น


 


ในวันถัดมา เมื่อไม่มีเรดาร์ ทีมแดงก็ใช้เรือเล็กหลายร้อยลำออกลาดตระเวณค้นหาตำแหน่งของกองเรือรบฝ่ายศัตรูแทน และทันทีเมื่อทราบตำแหน่งที่ชัดเจนแล้ว ก็ยิงจรวดเข้าจู่โจมจากทุกทิศทาง หนึ่งชั่วโมงให้หลัง เรือรบ 12 ลำของทีมน้ำเงินก็จมอยู่ก้นบึ้งอ่าวเปอร์เซีย เรือบรรทุกเครื่องบินที่ทางทีมน้ำเงินส่งมาจำนวน 6 ลำ  5 ลำถูกจม  


 


หากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการรบจริง ชีวิตนายทหารกว่า20,000คนก็ต้องถึงจุดจบ โดยที่ไม่มีโอกาสได้ยิงตอบโต้เลยสักนัดเดียว[7]และถ้าการพ่ายแพ้ในครั้งนี้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องถือว่าเป็นการพ่ายแพ้ที่อัปยศอดสูที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การรบเลยทีเดียว                                     


 


ทันทีที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐทราบผลว่าทีมแดงคือผู้มีชัย  ก็มีคำสั่งให้ยุติการซ้อมรบในทันทีและให้เริ่มต้นใหม่โดยไม่ถือว่ามีเรือรบสักลำได้ถูกจมลง มิหนำซ้ำยังห้ามมิให้ทีมแดงเข้าขัดขวางการรุกของทีมน้ำเงินจนกว่าจะได้รับอนุญาตอีกด้วย  ในที่สุด ทีมแดงก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตามความคาดหมาย[8] และผลลัพธ์ที่แท้จริงของ "การท้าพิสูจน์แห่งสหัสวรรษ"  ก็ถูกเก็บเงียบเป็นความลับ จากนั้นเป็นต้นมา


 


เป็นที่ชัดเจนว่า ที่มาแห่งชัยชนะอันขาวสะอาดของทีมแดงนั้น มาจากแนวคิดในการจัดการที่เหนือกว่า การจัดการกันเองเป็นอย่างไร แตกต่างจากการจัดการแบบรวมศูนย์อย่างไร เหตุใดจึงมีประสิทธิภาพถึงเพียงนี้  


 


ที่มาของการจัดการกันเอง


 


ตลอด 30 กว่าปีมานี้ ได้มีการศึกษาทฤษฎีการจัดการกันเองในศาสตร์หลายแขนง อาทิ  ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ฯลฯ    ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่า ปรากฏการณ์ในการจัดการกันเองนั้น มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ทั้งในระบบของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ตั้งแต่เสี้ยวอณูที่เล็กที่สุดไปจนถึงระบบที่ใหญ่ที่สุด นั่นก็คือระบบสุริยจักรวาล


 


แม้ว่าในรายละเอียดแล้ว การจัดการกันเองจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันไปตามแต่ละแห่งแต่ละสภาวะก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนให้วิวัฒนาการสามารถบังเกิดขึ้นเองได้โดยปราศจากแกนนำหรือตัวนำใดๆ ทั้งสิ้น                                     


 


เช่นกัน ตัวอย่างของการจัดการกันเองในสังคมมนุษย์ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เพียงแค่ตั้งคำง่ายๆ กับสิ่งต่างๆ ว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดสิ่งนั้น และหากพบคำตอบว่า ไม่มีหรือมีอยู่มากมายจนไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง  นั่นแหละจะพบว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นจากการจัดการกันเองทั้งสิ้น เช่น ใครคือคนคิดนำกุ้งมาเป็นอาหาร ใครคือผู้บัญญัติคำว่ากุ้ง  ใครเป็นค้นพบวิธีการจับกุ้ง  ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์การทำต้มยำกุ้ง   หน่วยงานกระทรวงไหนเป็นผู้ทำให้ต้มยำกุ้งเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ฯลฯ


 


วิวัฒนาการกับการจัดการกันเอง


 


ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว กระบวนการจัดการกันเองก่อให้เกิดวิวัฒนาการ วิวัฒนาการคือสร้างระบบให้มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น กล่าวคือทำให้ระบบมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น เกิดความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่ลึกซึ้งและหลายด้านยิ่งขึ้น และพร้อมกันนั้นก็ทำให้มีการแบ่งเบาภาระหน้าระหว่างแต่ละสมาชิกที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะทางยิ่งขึ้นไปอีกด้วย[9]  ความสลับซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นนี้เอง คือบ่อเกิดแห่งการสร้างประสิทธิภาพให้กับทั้งตัวระบบเองโดยรวมและให้กับแต่ละสมาชิกอีกด้วย


 


พูดอีกแง่หนึ่ง ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติหรือวิวัฒนาการในสังคมมนุษย์วิวัฒนาการเหล่านี้ล้วนอาศัยการจัดการกันเองในการสร้างประสิทธิภาพทั้งสิ้น โดยสรุปขั้นตอนก็คือ การจัดการกันเองนำไปสู่วิวัฒนาการ วิวัฒนาการสร้างความสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นตัวสร้างประสิทธิภาพในที่สุด และกระบวนการที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนตัวไปเองโดยอัตโนมัติ    


 


แล้วอะไรทำให้เกิดการจัดการกันเอง


 


องค์ประกอบสำคัญ 3 ประการในการจัดการกันเอง คือ ความแตกต่างหลากหลาย การคัดสรรร่วมกัน และการลอกเลียนแบบ [10]


 


ความแตกต่างของสมาชิกเป็นตัวผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลาย  การร่วมกันคัดสรรวิธีการใหม่ๆ เหล่านี้ร่วมกัน  ทำให้มีมุมมองในการทดสอบคัดเลือกที่ครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดได้ และเมื่อได้มาแล้วก็สามารถผลิตซ้ำและใช้การได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการประสานงานกันอีกให้เสียเวลา  เนื่องจากแต่ละสมาชิกต่างก็รับรู้ผ่านกระบวบการคัดสรรร่วมกันไปแล้ว


 


กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่พร้อมๆกันไปทั่วทั้งระบบ และนวัตกรรมต่างๆของแต่ละกลุ่มก็ถูกคัดสรรร่วมกันระหว่างกลุ่มไปในขณะเดียวกันด้วย  การพัฒนาที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้เรียกว่า การพัฒนาแบบคู่ขนาน[11]


 


จัดการกันเองต่างกับแบบรวมศูนย์ยังไง


 


จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่คุณลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในการจัดการสองแบบนี้ คือรูปแบบในการพัฒนา ด้านการจัดการกันเองนั้น การพัฒนาเป็นแบบคู่ขนาน กล่าวคือ การพัฒนาโดยรวมของทั้งระบบเป็นผลจากการพัฒนาเฉพาะส่วนจำนวนมากมายและแตกต่างกัน ที่บังเกิดขึ้นจากการจัดการกันเองของแต่ละหน่วยย่อยๆทั้งหมดมารวมกัน ทั้งนี้  ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นมากกว่าผลรวม


 


ในการพัฒนาแบบคู่ขนาน ผู้พัฒนาก็คือผู้ใช้  ดังนั้นจึงแทบไม่ต้องการการประสานงานระหว่างกันเลยแม้แต่น้อย แม้ระบบจะเติบโตขึ้นแค่ไหนก็ตาม แต่ก็หาได้เป็นการเพิ่มภาระในการประสานงานแต่อย่างใดไม่[12]


 


ความแตกต่างหลากหลายในวิธีการพัฒนาของแต่ละส่วนนั้นก็หาเป็นปัญหาไม่ เพราะวิธีการเหล่านี้ได้ผ่านการคัดสรรค์โดยตัวผู้ใช้แล้วว่าเหมาะสมสำหรับตัวผู้ใช้เอง  ส่วนการเรียนรู้กันระหว่างกลุ่มระหว่างส่วนเพื่อคัดเลือกกันว่าวิธีการของผู้ใดจะดีกว่ากัน และเพื่อจะได้เลียนแบบไปใช้ในส่วนของตน การเรียนรู้จากกันและกันนี้ก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้โครงสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อย่างหลวมๆ (loose coupling)[13]


 


นั่นก็คือ ระบบประกอบไปด้วยระบบย่อยและหน่วยย่อยๆ ที่เชื่องโยงกัน ต่างฝ่ายต่างมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองและต่างก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกันและกัน ในแต่ละหน่วยมีการติดต่อสื่อสารกันเองระหว่างสมาชิกสูงกว่าการสื่อสารข้ามหน่วย การสื่อสารข้ามกันไปมาที่ไม่จำเป็นต้องมีมากนักนี้ คือช่องทางสู่การเรียนรู้จากกันและกันของทั้งระบบ


 


ช่องทางการเรียนรู้เหล่านี้จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นกับระบบส่วนใดส่วนหนึ่ง ระบบส่วนนั้นก็จะเพิ่มปริมาณการติดต่อสื่อสารกับส่วนอื่นๆเพื่อร่วมกันค้นหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม เมื่อพบแล้วก็จะลดการสื่อสารกับส่วนอื่นลง แล้วหันมาสื่อสารกันเองภายในมากขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์[14]


 


แท้ที่จริง ขนาดและความแตกต่างหลากหลายไม่เพียงไม่ใช่ปัญหาเท่านั้น หากแต่ยังกลับเป็นประโยชน์ต่อการจัดการกันเองอีกด้วย เพราะยิ่งระบบมีจำนวนสมาชิกและความแตกต่างหลากหลายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการมีปริมาณสมาชิกที่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหามากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีจำนวนผู้แก้ไขปัญหาที่พอเพียง ก็เท่ากับเป็นการลดภาระของสมาชิกส่วนใหญ่ของระบบไปในตัวด้วย  ระบบจึงมีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้น[15]


       


ตรงกันข้าม การพัฒนาในการจัดการแบบรวมศูนย์นั้นเป็นการพัฒนาแบบเส้นตรง กล่าวคือ เกิดขึ้นได้ทีละครั้ง ณ ศูนย์กลางแล้วจึงกระจายออกสู่ส่วนต่างๆของระบบ  ในการพัฒนาแบบนี้ ข้อมูลของแต่ละหน่วยจะต้องถูกลำเลียงส่งผ่านตามลำดับชั้นเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อประกอบเป็นภาพรวมเสียก่อน จากนั้นศูนย์กลางก็จะจัดการคัดสรรค์หาวิธีการดีที่สุดสำหรับส่วนรวมเพียงวิธีเดียว เมื่อได้มาแล้วศูนย์กลางก็แปรวิธีการนั้นเป็นคำสั่งต่างๆให้กับแต่ละส่วนๆ แล้วจึงส่งผ่านตามลำดับชั้นกลับออกสู่ส่วนย่อยอีกครั้งเพื่อนำไปปฏิบัติ


 


การพัฒนาแบบเส้นตรงที่แบ่งแยกระหว่างผู้พัฒนาส่วนน้อย ณ ศูนย์กลางการจัดการกับผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่รอบทั้งระบบนี้ จำเป็นต้องอาศัยการประสานงานอย่างสูง สิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและเวลา ยิ่งระบบขยายตัวมากขึ้นเท่าไหร่ภาระในการประสานงานก็ยิ่งต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว


 


ยิ่งไปกว่านี้  ความแตกต่างหลากหลายก็กลับกลายเป็นปัญหาอันใหญ่หลวงสำหรับการจัดการแบบรวมศูนย์  เพราะนั่นหมายถึงปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระต่อการจัดการและการประสานงาน


 


บท(ไม่)เรียนจาก "การท้าพิสูจน์แห่งสหัสวรรษ"


 


ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แสนยานุภาพของกองทัพที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านปริมาณและความสลับซับซ้อนได้กลายเป็นอุปสรรคในการจัดการ และเพื่อต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐจึงได้ทุ่มงบประมาณจำนวนอภิมหาศาลไปกับการค้นคิดเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการ จนในที่สุดพวกเขาก็เชื่อมั่นว่าได้ประสพความสำเร็จแล้ว ข้อบกพร่องทั้งปวงในการจัดการแบบรวมศูนย์ได้ถูกกำจัดออกไปจนหมดสิ้นแล้ว วันนี้กองทัพสหรัฐมีระบบการจัดการที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลก


 


ใน"การท้าพิสูจน์แห่งสหัสวรรษ" ความผิดพลาดทั้งปวงอันนำไปสู่ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป มีต้นตอมาจากศรัทธาของเหล่าผู้นำกองทัพสหรัฐในแนวคิดการจัดการแบบรวมศูนย์  ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงวางยุทธศาสตร์การสู้รบทั้งหมดบนสมมุติฐานว่าศัตรูเองก็ใช้ระบบการจัดการแบบรวมศูนย์เช่นเดียวกัน


 


หัวใจของระบบการจัดการแบบรวมศูนย์นั้น คือการประสานงานผ่านโครงข่ายติดต่อสื่อสารที่เชื่อมโยงศูนย์กลางกับส่วนต่างๆ หากถูกทำลายระบบก็ไม่สามารถใช้การได้ ดังนั้น เป้าหมายแรกในการโจมตีจึงเป็นการทำลายระบบประสานงานทั้งหมดของข้าศึก


 


ทว่า ในระบบการจัดการกันเองของศัตรู การประสานงานกับศูนย์กลางไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่เมื่อเทียบกับการประสานงานกันเองในแต่ละส่วนย่อยๆ ดังนั้น การทำลายโครงข่ายระบบโทรคมนาคมจึงแทบไม่มีผลต่อการทำงานของกองทัพข้าศึกเลยแม้แต่น้อย


 


ยิ่งไปกว่านี้ การพัฒนาในแบบคู่ขนานก็ยังผลให้แต่ละส่วนของกองทัพสามารถพลิกเพลงหาวิธีการติดต่อสื่อสารใหม่ๆมาใช้แทนได้ทันที และยังทำให้การปฏิบัติการในแต่ละส่วนคืบหน้าไปอย่างฉับไวและพร้อมเพรียงกัน


 


ตรงกันข้าม การปฏิบัติการในฝั่งกองทัพสหรัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะต้องรอการลำเลียงข้อมูลกว่า40,000รายการผ่านลำดับบังคับบัญชาไปยังศูนย์บัญชาการ เพื่อให้บรรดาเหล่านายพลวิเคราะห์เสียก่อน แล้วจึงออกคำสั่งกลับไปยังแนวรบจึงจะดำเนินการได้


 


"หากเราต้องใช้วิธีการเหมือนฝ่ายตรงข้าม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำคงต้องกินเวลานานกว่านี้ถึงสองเท่า บางทีอาจถึงสี่เท่าก็เป็นได้" นายพลแวน ริบเปอร์กล่าว[16]


 


ความพ่ายแพ้ของกองทัพสหรัฐในการซ้อมรบครั้งนี้ หาได้กลายเป็นบทเรียนให้กับผู้นำประเทศสหรัฐถึงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการแบบรวมศูนย์ไม่  เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน กองทัพสหรัฐก็เข้าโจมตีประเทศอิรักด้วยแนวคิดการจัดการแบบเดิมๆพร้อมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ไฮเทคที่สามารถประเมินผลข้อมูลถึงกว่า 40,000 รายการได้ในพริบตา เป็นโชคดีของสหรัฐที่กองทัพอิรักไม่ได้ใช้วิธีจัดการแบบการจัดการกันเอง


 


สรุป


 


ความศรัทธาในประสิทธิภาพของการจัดการแบบรวมศูนย์ที่ฝังรากลึกลงไปในฐานความคิดของผู้คนนี้เอง คือพันธนาการที่ผูกรัดให้สังคมต้องจำยอมอยู่ภายใต้การปกครองของคนส่วนน้อยที่ไร้ซึ่งความสามารถ มิหนำซ้ำกลับยังมองตนเองและผู้อื่นว่าไร้ค่าไร้ความหมาย ไม่สามารถทำอะไรได้


 


หากเราเปิดใจให้กว้างออกสักนิด  เราจะพบว่า โลกนี้ มิได้มีแต่เพียงการจัดการแบบรวมศูนย์เท่านั้น ตรงกันข้าม ในทุกหนแห่งที่เราค้นหา เราจะพบเห็นการจัดการกันเองอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นภายในตัวเราเอง ในท้องถนน บนท้องฟ้า หรือว่าใต้มหาสมุทร กระบวนการจัดการกันเองไม่ได้เป็นสิ่งแปลกประหลาดมาจากไหน 


 


ทว่า ดำรงอยู่กับเรามาช้านาน ในทุกอณูของสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ความสำเร็จ ความรู้ความสามารถต่างๆของมวลมนุษยชาติที่สะสมสร้างสรรค์กันมา ก็ล้วนเกิดจากกระบวนการจัดการกันเอง ทั้งสิ้น ในโลกของความเป็นจริงที่อาศัยการจัดการกันเองเพื่อการวิวัฒน์นี้  การจัดการกันเองไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นอะไร ไม่จำเป็นต้องอาศัยการทุ่มเทและเสียสละสักปานไหน  ในการจัดการกันเองนี้ เราทุกคนมีค่ามีประโยชน์ต่อกันและกัน ถึงเวลาลบล้างแนวคิดการจัดการแบบรวมศูนย์ออกจากสมองของกันและกันเสียทีได้แล้ว


 


บทความนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้คัดลอกและเผยแพร่


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  http://nokkrob.org