Skip to main content

ความเป็นอิสระของวุฒิสภา

 


 


สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์ที่วุฒิสภาเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากการปฎิบัติหน้าที่ของประธานวุฒิสภา สุชน ชาลีเครือ


 


เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๒๒ ราย ได้เข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณารับรองสถานภาพ ผู้ว่า คตง.ของคุณหญิง จารุวรรณ เมฑกา  แต่ประธานวุฒิสภาได้พยายามตัดบท ปิดกั้นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอเหตุผลในการเสนอญัตติ ซึ่งผู้นำการเสนอญัตติได้แก่ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพมหานคร


 


ที่ประธานวุฒิสภาอ้างในที่ประชุมก็คือมีวาระต้องพิจารณากฎหมายหลายฉบับ จำเป็นต้องเข้าวาระเรื่องพิจารณากฎหมาย จึงตัดบทไม่ให้สมาชิกอภิปราย


 


เมื่อถึงวาระพิจารณากฎหมาย ประธานก็แจ้งที่ประชุมว่า รัฐมนตรีติดประชุม ครม.สัญจร ไม่สามารถเข้าชี้แจงกฎหมายได้ จึงขอปิดประชุม


 


ผมเป็นคนหนึ่งที่ยกมือขออภิปรายในประเด็นที่รัฐมนตรีไม่มาชี้แจงกฎหมายในวุฒิสภา  เพราะหลายครั้งที่รัฐมนตรีไม่มาชี้แจงข้อข้องใจของสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบกระทู้ในวุฒิสภา   กระทู้ที่ค้างตอบในวุฒิสภามีหลายสิบฉบับไม่ได้บรรจุวาระ เนื่องจากรัฐมนตรีหนีกระทู้ โดยอ้างว่าไม่ว่าง  แม้กระทั่งการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา รัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาตอบข้อซักถามต่อวุฒิสภา  แต่ประธานวุฒิสภาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรตรวจสอบการทำงาน ให้เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง  เพราะรัฐธรรมนญออกแบบให้วุฒิสภาเป็นอิสระ เป็นองค์กรให้คำแนะนำต่อรัฐบาล


 


ฉะนั้น  การที่ประธานทำหน้าที่ไม่เหมาะสม โดยปิดกั้นความคิดเห็นที่เป็นอิสระของ ส.ว.นั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และจะทำให้วุฒิสภาเสื่อมเสีย


 


ผมและเพื่อนส.ว.หลายคนจึงต้องทำการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อพูดให้ประธานวุฒิสภา สุชน ชาลีเครือได้ ทบทวนบทบาทของตนเอง  หากปิดกั้นการอภิปรายที่เป็นอิสระ ปิดกั้นการทำงานของวุฒิสภา ก็จะพิจารณาถอดถอนในฐานะไม่ทำหน้าที่ที่เป็นกลาง  เพราะตัวแทนประชาชนนั้นต้องสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบ และเสนอแนะในประเด็นสำคัญแก่รัฐบาลได้


 


ในที่ประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ส.ว.ภิญญา ช่วยปลอด จากสุราษฎร์ธานี ได้อภิปรายว่า ส.ว.ทำไมพูดแต่เรื่องของ ผู้ว่า สตง. ทำไมไม่พูดถึงปัญหาภาคใต้บ้าง   ซึ่งทำให้ที่ประชุมหลายท่านไม่พอใจ เนื่องจากเรามีการตั้งกระทู้ เสนอญัตติให้รัฐบาลมาชี้แจงต่อวุฒิสภา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอเปิดอภิปรายทั่วไปให้รัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริงต่อวุฒิสภา เราก็ทำ แต่ไม่สำเร็จ เพราะล่ารายชื่อได้เพียง ๑๐๐ ชื่อเท่านั้น  ทุกปัญหาวุฒิสภาได้ทำแต่ทำไม่สำเร็จเพราะความเป็นกลางของวุฒิสภานั้นน่าครหาเป็นอย่างยิ่ง


 


ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ถึงแม้จะมีการเสนอญัตติ ที่ประชุมวุฒิสภาจะลงมติเรื่องญัตติรับรองสถานะภาพคุณหญิงจารุวรรณ เมฑกาเข้าสู่ที่ประชุม


 


เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะพิสูจน์การดำเนินงานของประธานวุฒิสภาว่าจะทำหน้าที่อย่างไร