Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิด ตอน 3

คอลัมน์/ชุมชน

ถึงตอน 3 แล้วนะเรื่องยังไม่ไปถึงไหนเลย เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาว มาต่อกันเลยดีกว่าเพื่อไม่ให้เสียเวลาท่านผู้อ่าน ต้องเน้นนิดหนึ่งว่า นี่คือข้อเท็จจริงไม่ใช่เขียนเพราะมีจิตเข้าข้างใคร


คราวที่แล้ว เราพูดถึงข้อกังวลของชาวสวน และติดค้างเรื่องข้อกังวลของคนทะเลไว้ จากการทำเวทีของชาวบ้านที่อยู่ชายฝั่ง ( ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ) ทำให้เราทราบว่าชาวประมงมีความกังวลมากเกี่ยวกับถนนเส้นนี้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องลม เรื่องดิน เรื่องการเจริญพันธ์ของสัตว์น้ำ เรื่องอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากสะพาน ฯลฯ และที่ชาวประมงกังวลกับสะพานเส้นนี้มากเพราะ เขามีความรู้สึกว่า ทะเลคือชีวิต และหม้อข้าวของเขา เมื่อมีคนที่คิดจะมาทำร้ายทะเล เขาจึงมีความกังวลมากมาย


มาเริ่มกันที่ความกังวลเรื่องน้ำก่อน ชาวบ้านกังวลว่าหากมีการก่อสร้างสะพาน การไหลเวียนของน้ำในจังหวัดที่อยู่ติดริมทะเล โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเรื่องน้ำมากมายทั้งน้ำในฝั่งและน้ำในทะเล มาดูเรื่อ งการไหลเวียนของน้ำในฝั่ง กันก่อนเพื่อจะได้มองเห็นภาพ และมองเห็นการเชื่อมโยงของการไหลเวียนของน้ำในทะเลได้ชัดเจนขึ้น


การไหลเวียนของน้ำในจังหวัดที่ติดทะเลมีความใกล้เคียงกันและมีความซับซ้อนมาก เพราะลักษณะการไหลเวียนของน้ำ มีทั้ง น้ำขึ้น น้ำลง น้ำเกิด น้ำตาย น้ำเท้อ น้ำทาม และน้ำสองกระดอง


น้ำเกิด หมายความว่าน้ำมีปริมาณมากกว่าปรกติ การไหลเวียนของน้ำช่วงนี้จะไหลค่อนข้างแรง ช่วงน้ำเกิดที่ชาวบ้านรู้จักจะอยู่ในช่วงระหว่างขึ้น 12 ค่ำถึง 5 ค่ำ และแรม 12 ค่ำถึงแรม 5 ค่ำ ของทุกเดือน ดังนั้น ในหนึ่งเดือนจะเป็นช่วงน้ำเกิดหรือที่คนในเมืองเรียกน้ำทะเลหนุนสูง ประมาณเดือนละ 10 วัน


  น้ำตาย หมายความว่าน้ำมีปริมาณขึ้นหรือลงน้อยกว่าช่วงน้ำเกิด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าช่วงน้ำนอนคลอง อยู่ในช่วงขึ้นหรือแรม 6 ค่ำถึง 11 ค่ำ น้ำจะไหลเวียนน้อยและไม่เชี่ยวคล้าย ๆ " น้ำเท้อ "


น้ำเท้อ - น้ำทาม หมายความถึงระบบการไหลเวียนของน้ำที่มีลักษณะแตกต่าง จากอาการน้ำเกิด น้ำตาย เพราะบางครั้งมีลักษณะที่น้ำสูงขึ้นทั้ง ๆ ที่น้ำกำลังไหลลง แล้วระดับน้ำก็ลดระดับลง แล้วก็ทำท่าเหมือนระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก แล้วก็ลงอีก เหมือนกับลังเลว่าจะขึ้นหรือลงดี ก่อนที่ไหลขึ้นใหม่จริง ๆ หรือไหลลงจริง ๆ อาการ " น้ำเท้อ - น้ำทาม " นี้คือการเกิดขึ้นในช่วง " น้ำตาย " คือปริมาณน้ำขึ้นน้อย ลงน้อย เวลาน้ำขึ้นก็ไม่สูงมาก เวลาน้ำลงก็ไม่แห้งมาก


ถ้าอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ช่วง " น้ำเกิด " เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ โลก และพระจันทร์ โคจรมาเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยถ้าเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ โลกจะอยู่ตรงกลางระหว่างพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ในแนวเส้นตรงเดียวกันแต่ถ้าเป็นข้างแรม 14-15 ค่ำ ดวงจันทร์จะอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอาทิตย์กับโลกในแนวเส้นตรงเดียวกัน แรงดึงดูดจะเสริมกัน


แต่หากเป็นช่วง " น้ำตาย " พระอาทิตย์ โลก และพระจันทร์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกัน โดยมีโลกอยู่ตรงมุมฉากทำให้แรงดึงดูดระหว่างพระอาทิตย์กับพระจันทร์หักล้างกัน น้ำขึ้นน้อยลงน้อย ชาวบ้านที่ทำอาชีพโพงพาง ซึ่งเป็นอาชีพที่สัมผัสการเคลื่อนไหวของน้ำโดยตรงบอกว่า ในขณะที่น้ำข้างบนไหลลงยังไม่สุดตัว น้ำข้างล่างก็เริ่มไหลขึ้นแล้ว หรือในขณะที่น้ำด้านบนไหลขึ้นยังไม่สุดตัว น้ำข้างล่างกลับไหลลงแล้ว เพราะน้ำทะเลไม่เคยนิ่งตามความเป็นจริง ระดับน้ำข้างบนและข้างล่างจะเคลื่อนไหวสวนทางกัน


โดยทั่วไป สัตว์ทะเลที่เจริญเติบโต โดยการลอกคราบขยายขนาดลำตัว เช่น เคย ( ที่ใช้ทำกะปิ ) กุ้งชนิดต่าง ๆ ปูทะเล ฯลฯ มักจะลอกคราบในช่วงน้ำตาย และเปลือกใหม่จะแข็งเต็มที่ในช่วงน้ำเกิดเพราะน้ำเกิดน้ำทะเลขึ้น - ลง ปริมาณมาก และมีกระแสไหลแรง จะมีอาหาร เช่น แพลงตอนหรือไรน้ำต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์กว่าช่วงน้ำตาย ซึ่งไม่ค่อยมีกระแสน้ำไหลและไม่ค่อยมีอาหาร นั่นคือการไหลเวียนของน้ำในช่วงปกติ


แต่การไหลเวียนของน้ำนี้จะผิดเพี้ยนไปได้ในกรณีมีลมพายุเข้ามา ระบบการไหลเวียนของน้ำจะแปรปรวนมาก ซึ่งในช่วงน้ำตายที่ควรมีปริมาณน้ำน้อยก็จะมีปริมาณน้ำมากได้ ถึงกับเปลี่ยนน้ำเกิดเป็นน้ำตายได้เลยทีเดียว นอกจากนี้หากเข้าช่วงรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่น จากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว จากร้อนเข้าสู่ฤดูฝนช่วงรอยต่อเหล่านี้ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลง ลมก็จะเปลี่ยนแปลง ระบบน้ำก็จะเพี้ยนไปเพี้ยนมา พอเข้าฤดูกาลนั้นๆ ทุกอย่างก็จะเป็นปรกติ


น้ำสองกระดอง เข้ารอยต่อในช่วงฤดูกาลในเดือนเมษายน ก่อนเข้าฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่น้ำและลมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอกเวลา คือจะมีน้ำขึ้น 2 ครั้ง น้ำลง 2 ครั้ง ชาวบ้านเรียก น้ำเช้าน้ำเย็น ในวันเดียวกัน โดยปริมาณน้ำทั้งน้ำเช้า น้ำเย็น จะขึ้นสูงเท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้าง ในแต่ละวันแล้วแต่ว่าจะอยู่ในช่วงไหน น้ำเกิดหรือตาย พอเข้าสู่ฤดูฝนแท้ ๆ เดือนพฤษภาคม น้ำเย็น จะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณสูงขึ้นกว่าน้ำเช้า และจะมีปริมาณมากกว่าน้ำเช้า ( เรียกว่าหน้าน้ำเย็น ) จนถึงเดือนตุลาคม น้ำเย็นกับน้ำเช้าจะเท่า ๆ กัน เป็นสองน้ำหรือ น้ำสองกระดอง อีกครั้ง เพราะเป็นช่วงที่เข้ารอยต่อระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว ถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน น้ำเช้า จะค่อย ๆ มีปริมาณมากกว่า น้ำเย็น ( เรียกว่าหน้าน้ำเช้า ) ในปีใดตามปฏิทินจันทรคตเป็นปีอธิกมาส มีเดือนแปดสองหน หน้าน้ำเช้าหรือน้ำเย็น ก็จะเลื่อนเวลาออกไปจากที่เขียนไว้ประมาณครึ่งเดือน


ดังนั้น เมื่อรู้ข้างขึ้นข้างแรม ภูมิปัญญาชาวบ้านก็จะสามารถบอกได้ว่าวันนั้นน้ำจะขึ้น - ลงในเวลาเท่าไร ปริมาณน้ำที่ขึ้นโดยรวมจะสูงมากหรือน้อย ( น้ำเกิด - น้ำตาย ) และน้ำที่ขึ้นในตอนเช้ากับน้ำที่ขึ้นในตอนเย็น น้ำไหนจะขึ้นมากขึ้นน้อยกว่ากันหรือเท่า ๆ กัน ( หน้าน้ำเช้า - น้ำเย็น หรือเป็นน้ำสองกระดอง ) ซึ่งเป็นความรู้ชนิดที่สื่อล่วงหน้าจากประสบการณ์ตรง  


ตอนต่อไป มาดูลักษณะของลมประจำถิ่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ลึกซึ้งของชาวประมงเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อกังวลของชาวบ้าน