Skip to main content

หนี้สินที่หมดไป ทำให้ความจนหมดไปด้วย

คอลัมน์/ชุมชน


                                                      


 


ดิฉันทบทวนชีวิตของตนเองเกี่ยวกับความจนมาเป็นระยะ ในสมัยเด็กๆ ก็รู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์พรั่งพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกในครอบครัว  แต่เป็นความรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ถึงกับน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่มีทีวีดู ไม่มีรถยนต์นั่ง ไม่มีบ้านหลังใหญ่ใหม่เอี่ยมสวยหรู  ไม่มีห้องส่วนตัวคนเดียวต้องอยู่ร่วมกับพี่น้องหลายคน


 


การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้บ้างไม่ทำให้รู้สึกถึงความขาดแคลน หากยังมีอาหารการกิน พ่อแม่มีงานทำ มีรายได้พอใช้จ่ายในครอบครัว มีโรงเรียนได้เรียน มีเพื่อนๆ เล่นสนุกสนานผูกพันกัน ไม่แบ่งว่าเธอรวย หรือจน สิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจมากที่สุดคือ เมื่อพบว่าพ่อแม่ต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามจำนวนของลูก  และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเทอม ค่าหนังสือสมุด ค่าชุดเครื่องแบบ ค่าอาหารกลางวัน และค่ากิจกรรมต่างๆ แต่ละเทอม  พ่อแม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาหมุนเวียนจัดหาซื้อสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกๆ เป็นการลงทุนจำนวนมากเพื่อการศึกษา เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ลูกต้องหมั่นเรียน เพื่อมีงานทำ มีรายได้ สำหรับตนเองและครอบครัว


 


กว่าจะพ้นจากวังวนของหนี้สินเหล่านี้ก็มากกว่า 10 ปี เมื่อลูกบางคนเริ่มมีงานทำ มีรายได้ มาแบ่งปัน หรือไม่ต้องมาใช้จ่ายจากพ่อแม่ ทำให้หนี้สินค่อยลดลง แต่พบว่ามีหนี้สินอื่นๆ เพิ่มขึ้น  เป็นหนี้สินในการซื้อเงินผ่อนสินค้าต่างๆ พ่อแม่ ก็สามารถหมุนเงินมาใช้จ่ายและผ่อนหนี้สินเหล่านี้มาโดยตลอด ชีวิตไม่มีระยะปลอดหนี้นานเท่าไร เพราะการบุกทะลุทะลวงเข้ามาขายสินค้าในบ้านทั้งทางตรงแบบเคาะประตู และทางการโฆษณาที่ผ่านหูผ่านตาทุกวันจากวิทยุ โทรทัศน์ ลูกๆ ที่มีรายได้ก็เริ่มมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งการจัดหาสิ่งดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย การศึกษาของลูก การดูแลรักษาสุขภาพ การรักษาเมื่อเจ็บป่วย การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย รถยนต์ รุ่นใหม่  โฮมเธียเตอร์  เครื่องซักผ้า แอร์คอนดิชั่น ฯลฯ ยังไม่นับรวมการตกแต่งเนื้อตัวร่างกายตามแฟชั่น การจับจ่ายใช้สอยตามห้างในวันหยุด เหล่านี้คือ หนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นวงเวียนชีวิตของหนี้สิน  มีความสุขทางกายแต่ก็ทุกข์ทางใจเมื่อไม่อาจมีเงินมาใช้คืนหนี้สินเหล่านี้ได้  นี่เป็นความจนจากหนี้สินชนิดหนึ่ง


 


เมื่อนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะกำจัดความจนให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย มาตรการหนึ่งคือ การขจัดหนี้สินของคนให้หมดไป ความจนก็จะหมดไปด้วย โดยเฉพาะการปลดหนี้สินให้ทุกคน ด้วยการทุ่มเงินลงไปในหมู่บ้านในรูปกองทุนหมู่บ้าน เพื่อชาวบ้านจะได้มีเม็ดเงินไปใช้คืนหนี้สินต่างๆ ล่าสุดก็จะช่วยปลดหนี้ของข้าราชการ พนักงานรัฐและเอกชนที่ถือว่าเป็นหนี้ภาคประชาชน


 


หากมองโดยทั่วไปเมื่อคนมีหนี้สินก็ทำให้ขาดแคลนเงินเพื่อครองชีพอย่างมีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้น หากปลดหนี้สินออกได้ ความจนก็จะหมดไป ชีวิตย่อมจะดีขึ้นได้  ดิฉันคิดทบทวนดูหลายรอบแล้ว มันไม่น่าจะเป็นแบบตรงไปตรงมาแบบนี้ ไม่มีหนี้ ก็ไม่จน  ทั้งนี้ คงต้องมาดูกันว่า หนี้สินนั้นเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการดำรงชีวิตหรือเป็นหนี้สินเพื่อความสะดวกสบายเกินจำเป็นซึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นด้วยความพึงพอใจ  ซึ่งต่างจากหนี้สินที่เกิดจากความจำใจ จำเป็น เพื่อให้ชีวิตและครอบครัวมีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย ลูกได้เรียน  หากประชาชนผู้มีหนี้สินที่เกิดจากความพึงพอใจยังไม่มีความตระหนักต่อความรับผิดชอบชีวิตตนเอง การปลดหนี้ แปลงหนี้ ไม่อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ หนี้สินใหม่ๆก็จะตามมา นอกจากบางคนจะรู้แจ้งเห็นจริงและเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้  ปัญหาหนี้สินก็จะวนเวียนมาให้รัฐแก้เสมอไป 


 


มาตรการเรื่องการแก้ไขความจน ไม่ควรมุ่งเน้นที่การแก้ไขเรื่องหนี้สินเดี่ยวๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้สินเพราะความขาดแคลนไม่มีรายได้เพียงพอจริง ไม่มีหลักประกันในการทำมาหากิน เป็นหนี้สินเพราะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูก การขาดแคลนที่ดินทำกิน ขาดที่พักอาศัย  เหล่านี้ต้องการให้รัฐจัดหาสวัสดิการพื้นฐานในการดำรงชีวิตสำหรับทุกคนก่อน ด้วยการรับประกันการมีงานทำ การเพิ่มค่าแรงรับจ้างให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต การจัดการศึกษาฟรีที่ฟรีจริงๆไม่ใช่พ่อแม่ต้องจ่ายค่าจิปาถะ ค่าเสื้อผ้าเครื่องแบบ มากกว่าค่าเทอมที่ได้รับการยกเว้น การส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างทั่วถึง มีกองทุนให้อย่างเพียงพอ  เพื่อลดภาระของครอบครัวที่ยากจนจริงๆ ทำให้ไม่ต้องสร้างหนี้สินสำหรับการศึกษาของลูก และสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ


 


ขณะเดียวกันต้องรณรงค์การใช้ชีวิตที่ประหยัด แต่มีคุณภาพใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น หรือใช้จ่ายตามกำลังรายได้ที่มีอยู่ โดยเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่เพียงแต่รัฐเท่านั้นที่จะต้องทำ แต่ควรเป็นการระดมการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของทุกคนในสังคมด้วย เพื่อไม่มีคนจน คนขาดแคลน คงมีแต่คนที่มีฐานะไม่แตกต่างกัน มีบ้าน มีงานทำ มีรายได้ มีสวัสดิการจากรัฐทีเหมาะสม ไม่ตกเป็นทาสการบริโภคที่เกินจำเป็น สังคมไทยจึงจะได้ชื่อว่าปลอดความจนได้จริง