Skip to main content

ชาวนาคนสุดท้าย : น้องชาย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


" พี่จะกลับมาบ้านอีกเมื่อไหร่ " น้องชายถามผม เรานั่งกินเบียร์ด้วยกันที่ห้องโถงชั้นล่าง


" ไม่รู้สิ  แต่ปีนี้พี่จะกลับมางานลอยกระทงที่บ้าน " เบียร์หมดไปหกขวดแล้ว น้องชายผมกินเบียร์ยี่ห้อม้าแดง ส่วนผมชอบเบียร์ช้างมากกว่า ตอนนี้มีเพียงเราสองคนตั้งวงด้วยกัน บรรดาลุงป้าอาอาวญาติพี่น้องที่มาช่วยงานบายศรีสู่ขวัญแยกย้ายกันกลับบ้านไปหมดแล้ว หลังจากเสร็จพิธีกินข้าวเที่ยงและช่วยกันเก็บกวาดเรียบร้อย      บางคนไปดูสภาพน้ำท่วมนา ปีนี้ก็เหมือนเดิม ท่วมซ้ำซาก บางคนเตรียมตัวไปยกยอหาปลาที่มาพร้อมกับสายน้ำหลากเอ่อล้นฝั่ง


 


" ออกพรรษาไม่กลับบ้านเหรอ " น้องชายถามอีก


" เมื่อไหร่ล่ะ พี่ขอน้ำแข็งหน่อย "  ผมยื่นแก้วให้


" 19 ตุลานี้ไงออกพรรษา " น้องชายยื่นแก้วใส่น้ำแข็งกลับคืนมา ตามด้วยเบียร์ขวดใหม่


" คงไม่ได้มาหรอก พี่ต้องทำงาน " น้องชายเงียบ ผมรินเบียร์เติมเต็มแก้ว


" เจี๊ยบจะไปทำงานเกาหลีใต้เหรอ อาคำบอกพี่ " ผมเอ่ยถาม


" ไม่รู้จะได้ไปหรือเปล่านะพี่ " เหมือนไม่แน่ใจ


เรายกเบียร์พร้อมกัน รินเบียร์เติมใหม่ เปลี่ยนเรื่องคุย


 


ครั้งนี้ผมกลับบ้านเพื่อมาร่วมงานสู่ขวัญให้เจี๊ยบกับต่าย วันนี้น้องผิงผิงหลานสาวคนล่าสุดของตระกูลเรามีอายุครบหนึ่งเดือนถือเป็นวันออกเดือนของต่ายพวกเราจึงต้องจัดงานบายศรีสู่ขวัญมัดมือให้ รวมถึงเดือนกับน้องที่ช่วยซักผ้าของต่ายที่เปื้อนเลือดเมื่อตอนคลอดอยู่ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดด้วย


 


เจี๊ยบ น้องชายผมอายุ 25 ปี เป็นลูกชายคนเล็กของอาคำผู้เป็นน้องคนสุดท้องของแม่ผม ต่ายเป็นสะใภ้ใหม่หมาด เขาทั้งคู่พบเจอกันที่ประเทศสิงคโปร์ ต่ายทำงานเป็นลูกจ้างขายของอยู่ที่นั่นนานนับสิบปี ส่วนเจี๊ยบเป็นคนงานในอู่ต่อเรือ


 


เมื่อต่ายตั้งท้องเจี๊ยบก็พามาแนะนำให้พวกเรารับรู้ เราจัดพิธีสู่ขวัญเป็นการต้อนรับสะใภ้คนใหม่และหลานคนใหม่ที่อยู่ในท้อง ผมจำได้ว่าพวกเขากลับมาบ้านไม่นานนักยายก็เสียชีวิตลง อาคำบอกผมว่ายายมาเกิดเป็นหลานสาวคนนี้


 


ผมออกจะภูมิใจกับการได้หลานน้อยคนนี้ไม่น้อย นอกจากจะเป็นญาติกันแล้ว ประการสำคัญผมเป็นคนตั้งชื่อให้หลานคนใหม่เอง ต่ายตั้งชื่อเล่นว่า ผิงผิง เพราะต่ายมีเชื้อสายคนจีน ผมรับเป็นคนตั้งชื่อจริงตามคำขอของเจี๊ยบ


‘ ปิยนารถ ’ ผมเอาชื่อจริงของต่ายกับเจี๊ยบมาผสมกัน ‘ ปิยพร กับ ภูวนารท ’


 


พวกเขาวางแผนการกันเอาไว้ว่าหลังจากต่ายคลอดลูกแล้วสักระยะหนึ่งก็จะกลับไปทำงานรับจ้างต่างประเทศอีก อยู่บ้านเราไม่พ้นทำนาทำสวน ยากจนเข้าดินเข้าหญ้าไม่มีอะไรดีขึ้นมา ส่วนน้องผิงผิงอาคำเป็นคนเลี้ยงแทน


 


เจี๊ยบเป็นกำลังหลักในการหาเงินเข้าครอบครัว  หลังจากที่พ่อเขาซึ่งผมเรียกว่าอาวน้อยเสียชีวิตไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา อาวน้อยเคยไปทำงานที่เดียวกันกับเจี๊ยบตามคำชักชวนจากน้องชายอาวน้อยที่ไปบุกเบิกเส้นทางเอาไว้ก่อนแล้ว แต่อาวน้อยทำงานได้ไม่นานนักก็ต้องกลับมาเนื่องจากล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตไปในท้ายที่สุด


 


ผมเกิดมาในตระกูลชาวนา มีเพียงผมกับพี่ชายอีกสองคนเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าคนอื่น ส่วนน้องๆ พวกเราที่เหลือก็เหมือนกับผู้ชายส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเรา ออกไปขายแรงงานต่างแดน


 


น้องชายของผมอีกสองคน สัญญา กับ เอก ลูกอาวหวิงกับอาวหมานตอนนี้อยู่ที่ประเทศไต้หวัน ส่งเงินกลับบ้านเดือนละหมื่นกว่าบาทให้พ่อแม่ได้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง ( แว่วมาว่าเอกเอาเมียใหม่เป็นคนอีสาน ส่วนสัญญาได้เมียคนที่สองมีลูกติดเป็นคนอีสานเช่นกัน )


 


เอกกับสัญญารวมถึงหลายคนในหมู่บ้านไปทำงานที่ประเทศไต้หวันเกินระยะเวลาที่ทางโน้นกำหนดเอาไว้แล้ว พวกเขาจึงต้องทำการเปลี่ยนชื่อ นามสกุลใหม่ กลายเป็นคนใหม่ ทำพาสปอตใหม่ใช้สิทธิไปทำงานไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้บริษัทนายหน้าหางานเป็นคนวิ่งเต้นจัดการให้


" บ่มีใครใช้นามสกุลของอุ๊ยแล้วนะ" พ่ออุ๊ยเหลาบอกผมหลังจากเสร็จพิธีสู่ขวัญ


" ทำไมล่ะอุ๊ย " ผมถามพ่ออุ๊ยผู้เป็นคนทำพิธีสู่ขวัญ และนับกันเป็นญาติเพราะอุ๊ยเหลาเป็นพ่อของเจี๊ยบ


" เปลี่ยนไปทำงานไต้หวันนะสิ " พ่ออุ๊ยตอบ เสียงแผ่วเบา


" เปลี่ยนหมดเลยเหรออุ๊ย " ผมจ้องมองดวงตาคนเฒ่า


" ก็ทั้งไอ้ลง ไอ้เลียง ไอ้ลัย " พ่ออุ๊ยเหลาถึงลูกชายสามคนที่เปลี่ยนชื่อ นามสกุลกันทั้งหมด


" เขาเปลี่ยนกลับมานามสกุลได้มั้ยอุ๊ย " ผมถามแบบไม่แน่ใจ


" ไม่รู้สิ อุ๊ยบ่ฮู้ " พ่ออุ๊ยตอบเสียงแผ่วเบา เบากว่าลมหายใจ


 


 " อา เจี๊ยบมันจะไปสิงคโปร์เมื่อได " ผมถามอาคำตอนที่ไปเยี่ยมน้องผิงผิงเมื่อตอนเช้าก่อนเริ่มพิธี


" มันจะไปเกาหลีใต้แทน " อาตอบทันที


" อ้าว ทำไมล่ะอา " ผมแปลกใจเพราะตกลงกันว่าผมจะช่วยจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกให้น้องชายไปสิงคโปร์


" น้องมันบอกว่างานเสี่ยงเกินไป ตามแขนขามันมีแต่รอยแผลเป็นจากสะเก็ดไฟ " อาเล่าคำต่อว่างานของเจี๊ยบคือช่างเชื่อมโลหะ น้องมันบ่นให้ฟังว่าถึงจะใส่เสื้อผ้ารัดกุมแล้วแต่สะเก็ดไฟจากงานเชื่อมก็ตกใส่และไหม้ผิวหนัง แถมยังต้องสูดดมกลิ่นเหม็นอีกต่างหาก มันคงทำงานได้อีกไม่นานนักถ้าอยู่ต่อ ไหนยังจะต้องทนรับคำดุด่าว่ากล่าวของอาวเลียงน้องชายอาวน้อยอีก ไม่พอใจอะไรก็ลงที่หลาน ถ้าไปทำงานอย่างอื่นที่สิงคโปร์เจี๊ยบมันก็ไม่กล้าสู้หน้าอาวเลียง เพราะยังไงเสียเขาก็เป็นคนพาไปทำงานตั้งแต่แรก


 


" เกาหลีใต้ได้เงินเดือนเท่าไหร่อา " ผมรู้ว่าพวกเขาตัดสินใจกันแล้ว


" สี่หมื่นกว่าบาท ดีกว่าสิงคโปร์ "


" นายหน้าเขาเอาเท่าไหร่ " ผมถามอาถึงค่านายหน้าจัดหาคนงาน


" สองแสนสาม " นายหน้าจะหักจากเงินเดือนที่ออก


" เยอะจัง " ผมอุทาน


" ไปถูกกฎหมายมั้ย " ผมน่าจะรู้ดีว่าลองได้จ่ายค่านายแหน้าแล้วมันคงไม่เป็นอย่างที่ผมถามแน่


" ไปจ้อบ " อาคำหมายความถึงเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว แล้วแอบไปหางานทำตามโรงงาน


" แล้วถ้าจะกลับบ้านล่ะอา " ผมนึกห่วงน้องชาย


" ก็เข้ามอบตัวสถานทูต แล้วเขาส่งกลับประเทศ " อาตอบแบบรู้ชะตากรรมของลูกชายและลูกสะใภ้


" เขาเคยทำกันอย่างนี้เหรอ " ผมรู้สึกหนาวสะท้าน แต่ก็เบาใจได้ว่าน้องชายได้กลับบ้านมาแน่


" ทำไมไม่ไปแบบถูกฎหมายล่ะ "  ผมถามเผื่อมีทางอื่นที่ดีกว่า


" ใช้เวลา 2 – 3 ปีกว่าจะได้ไป ต้องไปฝึกภาษาอีก เงินเดือนก็น้อยกว่า " อาคำแจกแจง


" อืม " ผมตอบได้แค่นั้น


 


เบียร์หมดไปไม่รู้กี่ขวด ระหว่างผมกับผมกับน้องชายก็ไม่รู้ว่าใครเมามากกว่ากัน ผมโซซัดโซเซออกจากบ้านอาคำเมื่อตอนค่ำ


 


ที่ปากซอยใกล้กับมุมรั้วบ้านอาคำมีป้อมยามรักษาความปลอดภัยตั้งอยู่ มันจวนจะพังเต็มทีแล้ว ไม่มีใครนั่งประจำยามหรอก มันแค่สิ่งประดิษฐ์ในงานประกวดหมู่บ้านของทางการเท่านั้นเอง ผมรู้สึกปวดเยี่ยว ผมเดินเซเข้าไปหาป้อมยาม ติดกับป้อมยามมีป้ายแผ่นใหญ่ติดอยู่ ผมเงยหน้าอ่าน ตัวหนังสือโย้เย้ หรือผมตาลาย ไม่ทราบได้ แต่ผมจำแม่น เพราะผ่านมาทีไรผมต้องอ่านมันทุกที


‘ หมู่บ้านเอาชนะยาเสพติด ’


‘ กองทุนหมู่บ้าน ( กทบ. ) ’


‘ กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.) ’


‘ หมู่บ้านอาสาและพัฒนาป้องกันตนเอง (อพป.) ’


 


ผมพยายามยืนทรงตัวให้มั่นคง แอ่นหน้าแอ่นหลังปลดทุกข์ให้ตัวเอง และบรรจงเขียนตัวหนังสือให้สุดสวย


"_"