Skip to main content

ขาลงของสนธิ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


1


ไม่แน่ใจนักว่า "ขาลง" ของสนธิ ลิ้มทองกุล นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ ผู้ชมชอบกับการ "เลือกข้าง" นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าในปัจจุบันขณะ สนธิ  ลิ้มทองกุล กำลังอยู่ในช่วงขาลง ที่ลงไปสู่ความตกต่ำอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง


 


ปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ "ขาลง" ของสนธิ  ลิ้มทองกุล เกิดขึ้นในอัตราเร่งอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการ "เลือกข้างผิด" พูดให้ชัดขึ้นก็คือการเลือกที่จะเป็นปฏิปักษ์กับทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้สามารถ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้  สนธิ  ลิ้มทองกุลเคยเลือกที่จะยืนข้างและ เชลียร์นายกรัฐมนตรีอย่างออกหน้าออกตามาก่อน แต่แล้วเมื่อตั้งลำได้เขาก็ "แปรพักตร์" และหันมาแว้งกัด


 


การเลือกที่จะเป็นปฏิปักษ์กับทักษิณ  ชินวัตร หรือมีความคิดเห็นตรงข้ามกับท่านนายกเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างในเรื่องของความคิดเห็น การวิพากษ์ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของสื่อมวลชน


 


แต่สิ่งที่น่ารังเกียจอย่างรุนแรงเหลือทนในพฤติกรรมของสนธิ  ลิ้มทองกุล ก็คือการที่เขาดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมาชนกับทักษิณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล เคยกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร ว่าลองของและจาบจ้วง แต่คนที่น่าจะมีพฤติกรรมจาบจ้วงกว่าทักษิณ ก็คือตัวเขานั่นเอง


 


ในเว็บไซต์ของผู้จัดการ มุมบนด้านซ้ายของเว็บไซต์ เขียนไว้ว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง" ซึ่งเป็นการอ้างพล่อย ๆ อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่รู้จะอ้างทำไม เป็นการสร้างกระแสอย่างโง่ ๆ ซึ่งไม่น่าจะมีใครปัญญาอ่อนพอที่จะเล่นกับเขาด้วย


           


สนธิ  ลิ้มทองกุล สมัยที่ยังดูดดื่มกับ ทักษิณ ชินวัตร เคยเขียนโจมตีพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้งที่ในอดีตมักจะนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ใช้สถาบันเพื่อพิฆาตฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษก็เคยโดนเล่นงานด้วยวิธีการทำนองนี้มาแล้ว  


 


ก่อนหน้านี้ไม่นานนักเขายังวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีของสติกเกอร์ที่นำเอาพระราชดำรัสมาใช้โจมตีทักษิณ แต่แล้วสนธิก็ "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"


 


สนธิ  ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้ถูกสงสัยว่าเป็น "ซ้อเจ็ด" ที่ไล่ด่าชาวบ้านเขาไปทั่วเพื่อเรียกเรต ติ้งหากำไรให้กับธุรกิจของตัวเอง กลับทำในสิ่งที่ครั้งหนึ่งเขาเคยประณาม คนที่พลิกลิ้นแบบนี้ไม่น่าจะเป็นคนที่ควรคบหาสมาคมด้วยอย่างเด็ดขาด


                                                                           


2


 


ไม่แน่ใจนักว่า "ขาลง" ของสนธิ ลิ้มทองกุล นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ ผู้ชมชอบการ "เลือกข้าง" นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่ทำให้ผมตระหนักถึง "ขาลง" ของเขาชัดมากก็คือในงานเสวนาเรื่อง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" ที่ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2548


 


ข้อท้าวความสักเล็กน้อยว่าการเสวนาในครั้งนี้ มีประชาชนสนใจเข้าฟังมากเกินความคาดหมายของผู้จัดงาน กระทั่งว่าต้องจัดห้องเพิ่มอีก 2 ห้องเพื่อให้ผู้สนใจได้ฟังการถ่ายทอดการเสวนา คนเข้าฟังส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่เกลียดทักษิณ ชินวัตร ก็เทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างแรงกล้า อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจทั้ง 2 อย่างคือเกลียดทักษิณ และเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างแรงกล้า


 


ผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ประกอบด้วย ประมวล รุจนเสรี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "พระราชอำนาจ" อันขายดิบขายดีและเป็นหนอนบ่อนไส้ของไทยรักไทย, แก้วสรร อติโพธิ สมาชิกวุฒิสภา ที่หยุดพูดถึงประชาชนชั่วคราวแล้วหันมาพูดเรื่องเจ้าแทน และสนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้ชมชอบการเลือกข้าง  และการเลือกข้างผิดในหนนี้ก็ทำให้เขาอยู่ในช่วงขาลงชนิดที่กู่ไม่กลับ  โดยมีอาจารย์ ดร. นครินทร์  เมฆไตรรัตน์ คณบดีคนปัจจุบันแห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ (เป็นที่รู้กันว่าพลเอกสรยุทธ จุลานนท์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่งถูกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ "ขอร้อง" ไม่ให้มา)


 


แม้ว่าชื่อหัวข้อการเสวนาจะชื่อว่า "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" แต่ที่จริงแล้วก็มีการพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างมาก คือเรื่องของการแต่งตั้งผู้ว่าสตง. และโผทหาร  โดยเป้าแท้จริงของงานเสวนานี้ อยู่ที่การหลับหูหลับตามุ่งโจมตีนายกทักษิณ ชินวัตร 


 


สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวโจมตีพฤติกรรมของนายกทักษิณ  ชินวัตร อย่างดุเดือด ที่บังอาจ "ลองของ" และ "ก้าวก่าย" ในพระราชอำนาจ ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ฟังไม่น้อย


 


ในงานนี้สนธิ ลิ้มทองกุล บอกตอนหนึ่งว่า


"..ผมเคยถามว่า ประการแรกผมถามก่อน พวกเราที่นั่งอยู่ในนี้ รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, คุณหญิงพจนมาน ชินวัตร, และคนในตระกูลชินวัตรทุกคน ตลอดจนคนในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ, คุณวิษณุ เครืองาม, ใครต่อใครทั้งหมด คุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าเรายอมรับกันข้อแรกไหมว่า พระเจ้าอยู่หัวเป็นพ่อของแผ่นดิน เรายอมรับไหม ถ้าเรายอมรับตรงนี้ เราก็ต้องยอมรับว่าพระราชินีนั้นก็เป็นแม่ของแผ่นดินเช่นกัน


ถ้าเช่นนั้นแล้วเราไม่ต้องไปพูดถึงไอ้รัฐธรรมนูญบ้านี่ได้ไหม เรามาพูดถึงจารีตประเพณี ขอความกรุณาฮะ ผมเป็นคนอภิปราย อย่าแย่งผมพูด เรามาพูดถึงจารีตประเพณีกัน คำว่าจารีตมันลึกซึ้งมาก ผมในฐานะเป็นหนังสือพิมพ์ ผมชอบสังเกต เมื่อเร็วๆ นี้เราเห็นจารีตอันหนึ่งในครอบครัวอย่างหนึ่ง สังเกตไหมที่ไหน คัทลียา แมคอินทอช ไง ที่มันล่าช้าก็เพราะว่าพ่อแม่ผู้ชายไม่เห็นด้วย นี่คือจารีต เห็นไหม นี่เอาแค่จุดจุลภาคเล็กๆ นะ


ถ้าเราขยายไปถึงระดับมหภาค เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าหลายๆ อย่างเขาอาจจะไม่ได้ตราอยู่ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมีระบุไหมว่า เวลาเกิดวิกฤติแล้วพระเจ้าอยู่หัว จะต้องเรียก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาคลานต้วมเตี้ยมกันอยู่ต่อหน้า ก็ไม่ได้ระบุ แต่เป็นความเป็นรับผิดชอบในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นพระราชา ที่ปกครองราชด้วยทศพิธราชธรรม ตรงนี้ต่างหากซึ่งมีมานมนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี เพราะฉะนั้นเมื่อมีตรงนี้แล้ว เราต้องมีความเกรงพระทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทำอะไรก็ตาม"


การพูดถึงจารีตประเพณีแล้วยกตัวอย่างทั้งระดับจุลภาคและมหภาคแบบนี้ของสนธิ น่าจะเรียกได้เป็นการพูดแบบกำปั้นทุบดิน คือพูดอีกก็ถูกอีก ถูกทั้งนั้น ไม่มีประโยชน์อะไร มันไม่ได้ช่วยให้เข้าใจว่าอำนาจตามจารีตกับตามรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กันอย่างไร? ก็อย่างว่าล่ะครับ จะหาความลึกซึ้งจากสื่อมวลชนแบบนี้ไม่ได้หรอกครับ


ส่วนคุณประมวล รุจนเสรี นั้นพูดในสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วซึ่งไม่น่าสนใจอะไร แต่ก็สามารถโปรโมทหนังสือและแจกลายเซ็นให้กับบรรดาแม่ยกราวกับเป็นดารา  โดยภาพรวม งานเสวนาครั้งนี้ไม่มีอะไรใหม่ คือพูดถึงสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว ตอกย้ำสิ่งที่ต่างก็ตระหนักกันเป็นอย่างดีในเรื่องของพระราชอำนาจ


 


การเสวนาไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรเพราะต่างก็คิดเหมือน ๆ กันหมด ผู้เสวนาเพียงแต่มาช่วยกันโหมกระพือสร้างกระแสความไม่พอใจต่อตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักหรืออาจส่งผลเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น


 


แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับอยู่ที่บรรยากาศอันคึกคักของการเสวนาซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นเหมือนการ "ปลุกระดม" สร้างอารมณ์รวมหมู่ ดื่มด่ำเมามันกันจนบรรลุจุดสุดยอดซึ่งบรรยากาศอย่างนี้หาดูหาชมได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน


 


อย่างไรก็ตาม คงต้องย้ำกันว่านายกรัฐมนตรีทักษิณ  ชินวัตร ขึ้นมาตามช่องทางที่ถูกต้องตามกติกาประชาธิปไตยทุกประการ เป็นกติกาที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและปัญญาชนซ้ายขวาต่างก็ปรีดาปราโมทย์กันถ้วนหน้า ที่สามารถผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา  ดังนั้นการที่จะเอาทักษิณลงจึงควรใช้ช่องทางและกติกาตามรัฐธรรมนูญแทนที่จะไปหา "ทางลัด"  อันน่ารังเกียจ


                   


3


 


ปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้นายกทักษิณ  ชินวัตร เรืองอำนาจอย่างยากที่จะหานายกรัฐมนตรีในประวัติศาสตร์คนใดมาเปรียบ อาจจะอยู่ที่การมีฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภาที่ไร้ความสามารถ   ทำการ "ค้าน" ไทยรักไทยและนายกทักษิณ อย่างไร้น้ำหนัก ไร้เหตุผล อาทิ เช่น บอกว่า "จะทวงแผ่นดินคืน" ซึ่งฟังแล้วไร้สาระอย่างยิ่ง 


 


อย่างเมื่อไม่กี่วันก่อน  ผมนั่งรถผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคนจำนวนหนึ่งกำลังกล่าวโจมตีรัฐบาลในเรื่องที่พยายามดัน กฟผ. เข้าตลาดหุ้น มีป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านการนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้น แต่ที่ปัญญาอ่อนที่สุด มีป้ายผ้าอันหนึ่งเขียนข้อความว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง" !


 


ในทำนองเดียวกับการค้านของสนธิ  ลิ้มทองกุล ซึ่งดึงสถาบันกษัตริย์มาคัดง้างกับทักษิณ เป็นวิธีการค้านอันเก่าแก่ล้าหลังที่ไร้พลังและน่าจะเลิกใช้ได้แล้วเพราะประชาชนต่างรู้ทัน และสะอิดสะเอียนกับการค้านด้วยวิธีการอย่างนี้นักหนาแล้ว


 


การค้านของสนธิ ลิ้มทองกุลที่พูดละเมอคำก็พระมหากษัตริย์ สองคำก็พระมหากษัตริย์ สะท้อนถึงความจนตรอก และความไร้น้ำยาของเขาเองที่ไม่รู้จะหาอะไรมาค้านกับนายกทักษิณ    สนธิ  ลิ้มทองกุล กำลังตกอยู่ในภาวะจนตรอก มีคดีความกับคนนั้นคนนี้หลายคดี รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกถอด ซ้อเจ็ดปิดตัว คนเบื่อหน่าย รัฐบาลเอือมระอา ธาตุแท้เปิดเผย ฯลฯ


 


พอพูดถึงรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ผมไม่กระมิดกระเมี้ยนที่จะบอกว่าเห็นด้วยที่รายการอย่างนี้ถูกถอดออกไปเพราะมันเป็นเรื่องของการทำธุรกิจมากกว่าอะไรอื่น รูปแบบการนำเสนอเหมือนกับเป็นละครที่ฝ่ายหญิงสาวแกล้งโง่เกินเหตุ ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ส่วนชายแก่กลับอวดฉลาดเกินมนุษย์ แสนรู้  รู้มาก รู้ไปหมด และแนะนำสั่งสอนคนนั้น คนนี้ราวกับตนเองเป็นศาสดา


 


4


 


สนธิ ลิ้มทองกุล เคยพบกับ "ขาลง" มาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาผงาดได้อีกคำรบหนึ่งด้วยวิถีทางที่น่าสงสัย และสำหรับ "ขาลง" ในคราวนี้ของเขาคงต้องรอดูกันต่อไปว่าเขาจะกอบกู้ให้ขึ้นมาได้อีกครั้งหรือไม่ แต่คิดว่าคงจะไม่ เพราะหนนี้เขาลงไปไกลเกินกู่เสียแล้วจริง ๆ  


 


ครับ  ใครก็ตามที่ยกสถาบันกษัตริย์มาอ้างสะเปะสะปะ ครั้งแล้ว ครั้งเล่าด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมืองและผลประโยชน์ของตนเอง ก็น่าจะเรียกได้ว่า "หมดหนทาง" แล้วครับ


 


                                                                                             เมธัส   บัวชุม