Skip to main content

ดราม่าควีน

คอลัมน์/ชุมชน


ชื่อเบทความนี้ไม่เกี่ยวกับละครโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษ ที่เราเรียกว่า Expression ไว้เรียกบุคคลจำพวกหนึ่งซึ่งชอบทำอะไรแบบเกินๆขาดๆ เช่น กรี๊ดกร๊าด หรือร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหล แบบสุดโต่งเพื่อเรียกร้องความสนใจ แม้กระทั่งการที่หัวเราะในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เกินจริง เหมือนตัวละคอนบนเวที ฉันใดฉันนั้น และส่วนมากมักเป็น "สตรี"  จึงทำให้เกิดคำว่า "ดราม่าควีน" (drama queen) ขึ้นมา ทั้งที่จริงแล้ว อาจมีผู้ชายบางคนมีอาการแบบนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะชายรักหญิงหรือชายรักชายก็ตาม


 


ลักษณะของดราม่าควีนที่ชัดในสังคมไทยก็คือ  พวกตัวอิจฉาต่างๆ โดยเฉพาะผู้หญิง หรือบทที่ชายรักชายมีในละครทีวีไทยทั้งหลายแหล่ อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันว่า เป็นการไม่ยุติธรรมนักที่จะกล่าวสรุปเหมารวมว่า ผู้หญิงและชายรักชาย มักจะเป็น"ดราม่าควีน" เพราะในชีวิตจริงมีมากมายกว่านั้น เช่น ผู้ชายหลายคนที่ชอบดื่มเหล้าประชดคู่รัก หรือต้องไปปีนเสาไฟฟ้าเพื่อเรียกร้องความสนใจ


 


ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอเรื่องของ"ดราม่าควีน" ที่พบปรากฏในสังคมไทยทั่วไป ที่มีผลในระบบความคิดและพฤติกรรมของคนไทยโดยทั่วไป


 


ขอเริ่มด้วยตัวละครที่เราคุ้นๆกัน คือ "คุณหญิงกีรติ" ใน "ข้างหลังภาพ" พร้อมคำพูดอมตะหลายชุดเกี่ยวกับความรักได้ออกมาจากตัวละครตัวนี้ เช่น


"ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต"


"ถึงแม้จะไม่มีใครรักฉัน แต่ฉันก็ดีใจที่ฉันมีคนที่ฉันรัก" (ที่คุณหญิงกีรติพูดเป็นประโยคสุดท้ายก่อนตาย)


 


อย่างน้อยสองประโยคนี้ ทำให้ผู้คนเคลิบเคลิ้มไปกับคำว่า "รัก" อย่างช่วยไม่ได้ ทำให้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคำว่า "รัก" ชนิดที่แลกกันได้ด้วยชีวิต หลายคนที่ดูหนังเรื่องนี้จึงมักเสียน้ำตาไปแบบไม่รู้ตัว แล้วก็เพ้อไปได้สักระยะหนึ่ง (และผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านี้ด้วย) จนความจริงของชีวิตมาเคาะประตูให้ตื่นนั่นแหละ


 


สิ่งที่น่ากลัวมากนั่นก็คือ หากตนเองไม่ตื่นจากความเคลิ้มหรือภวังค์เหล่านี้ และมองว่าเรื่องแต่งคือเรื่องจริง แลัวนำเอาเรื่องความรักแบบนี้มาเป็นสรณะ หรือตีความความรักตามที่โดนบอกในหนังหรือนิยายชิ้นนี้ โดยไม่เข้าใจว่าเป็นนิยามที่สร้างขึ้นมาชุดหนึ่งเท่านั้น ความรักไม่ได้มีแค่นี้ และจริงๆแล้วความรักมีจริงในโลกหรือเปล่าก็ไม่รู้


 


คนที่เป็นดราม่าควีน มักจะมีอาการฟูมฟายหรือโกรธได้ง่าย และมักอยู่ในขั้นสุดโต่ง ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวว่าพื้นฐานของคนเหล่านี้คือตนขาดความรักความอบอุ่น มีปมด้อย ซึ่งมักน่าจะหายไปกับวุฒิภาวะ แต่ก็พบว่ามีบางคนที่ยิ่งแก่ยิ่งเป็น และมีความรุนแรงสูงขึ้น ทำให้เป็นที่น่ารังเกียจและระอาของคนรอบข้าง อีกสาเหตุหนึ่งที่คิดไว้คือ ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย หรือ ดูมิวสิควิดีโอ มากเกินไป เลยเกิดอาการสับสน


 


ผู้เขียนพบว่าในที่ทำงานของผู้เขียนที่นี่ก็มีบุคคลดังกล่าว การศึกษาไม่ได้ช่วยให้คนดีขึ้นในจุดนี้ หนำซ้ำทำให้คนพวกนี้มีอาการมากขึ้น ทำให้ไม่น่าทำงาน บรรยากาศที่ทำงานปั่นป่วน บางทีก็นึกถามตนเองเหมือนกันว่าทำไมคนไม่สมประกอบทางจิตหรือคนไปไหนไม่รอดจึงมาคลั่กในที่ทำงานนี้ (และตัวผู้เขียนคือคนไปไหนไม่รอดด้วยรึเปล่า? ฮิฮิ)


 


ดังนั้น คนที่เป็นดราม่าควีนจึงเรียกว่าคนมีปัญหา อย่างเลี่ยงไม่ได้


 


ประเด็นต่อมาคือ สังคมไทยได้รับผลกระทบอย่างไร 


 


สังคมไหนก็ตามที่มีสมาชิกในสังคมเป็นดราม่าควีน เสียเป็นส่วนมาก ความสามารถในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น ความสามารถในการมองปัญหาและจัดการปัญหาก็จะหมดไป เพราะโดนชักจูงได้ง่าย ซึ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ คนที่เป็นผู้ที่อ่อนแอในสังคม ได้แก่ ผู้หญิง คนชรา และเด็กมักตกเป็นเครื่องมือได้ง่าย กลายเป็นเรื่องที่ต้องมองให้ละเอียดและเข้าใจ


 


หลายครั้งที่ผู้เขียนเห็นการลุกฮือในกลุ่มคนต่างๆในสังคมไทย ถ้าหากไปแตะเรื่องบางเรื่องหรือมีคนไปโยงให้เข้ากับบางเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญอย่างมาก จุดนั้นสังคมจะไม่หยุดคิด และไหลไปตามการกรอกหูอย่างง่ายดาย ในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มไปได้อย่างง่ายดาย แล้วก็ตายหรือบาดเจ็บอย่างไม่เข้าเรื่อง


 


ไม่นานมานี้ มีข่าวต่างๆที่จะชักนำให้สังคมไทยต้องคิด แต่สังคมไทยส่วนใหญ่กลับคิดไม่ได้ แถมโดนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ฉุดที ลากที ใครยุขึ้นก็เฮไปทางโน้น ทางนี้ ยิ่งถ้ามองตามเว็บต่างๆที่ให้ออกความเห็นยิ่งน่าอนาถ มีหลายกลุ่มเข้ามา และเหมือนที่เค้าเรียกว่ามีหน้าม้า เข้ามาก็มาก เพราะข้อมูลดีเหลือเกิน ชาวบ้านจริงๆคงไม่สามารถทำได้เท่านี้


 


ดราม่าควีน เป็นเรื่องที่ทำให้ละคร หนัง มีความสนุกเพราะคนต้องตีบทให้แตก ต้องแสดงให้ถึงรส ต้องขยี้บท ไม่ใช่เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เกิดอาการสุดโต่ง การบอดเขลาทางปัญญา และนำไปสู่ความพินาศต่อตนเองและสังคมทั้งระบบ


 


นึกขำๆว่า ละครฟองสบู่ทางทีวี นิยายโรแมนติกสุดโต่ง รายการเกมส์โชว์ที่มีคนออกมากระดี๊กระด๊า ไม่ค่อยมีปัญหา ทั้งที่ทำให้คนหลงละเมอเพ้อพก สังคมและชนชั้นปกครองไม่ได้เข้ามาบงการเพราะว่าไม่ทำให้คนใช้ปัญญาเท่าไรนัก เกิดได้ในทุกสังคม  แถมบางที่มีการสนับสนุนมากกว่าปกติ เพราะโฆษณาก็เข้ามากคนชอบดู แต่เรื่องสอนให้คนคิด ป้องกันการหลงกล หรือการมีอารมณ์สุดโต่ง มักหาสปอนเซอร์ยากเย็น


 


ดราม่าควีนคงไม่มีวันตาย เป็นอมตะ เหมือน "คุณยายวรนาถ" แห่ง "ทายาทอสูร" เพราะสนุกและไม่ต้องใช้สมองเลย แต่การทำให้คนรู้จักนึกคิดอะไรเพื่อสังคมเหมือนยาขม ที่ไม่มีคนสนใจแม้แต่จะคิด


 


น่าเศร้าใจจริง