Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิด ตอน 4

คอลัมน์/ชุมชน

ท่านผู้อ่านคงได้อ่านความละเอียดอ่อนในการไหลเวียนของน้ำ ในจังหวัดที่ติดกับทะเล เพราะน้ำขึ้นน้ำลง ในแผ่นดินเกิดจากอิทธิพลของทะเลทั้งสิ้น (เบื่อหรือยังจ๊ะ) อย่าเบื่อเลยนะ เพราะเรื่องการไหลเวียนของน้ำ ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่คุณจะหาอ่านจากที่ไหนไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้มันซึมซับอยู่ในสายเลือดของชาวประมงทุกคนอยู่แล้ว แต่หาคนถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือไม่ค่อยได้ ซึ่งผู้เขียนก็เป็นชาวประมงเช่นกัน จึงขออาสาเป็นผู้ถ่ายทอดให้เอง


ถ้าพูดถึงเรื่องการไหลเวียนของน้ำในฝั่ง ก็ต้องต่อเนื่องด้วยการไหลเวียนของน้ำในทะเล ไม่อย่างนั้นกลัวผู้อ่านจะมองไม่เห็นภาพ เรื่องการไหลเวียนของน้ำเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากข้อมูลไม่ครบ ภาพที่เห็นก็จะไม่ชัดเจน หลายคนอาจจะมองว่า เรื่องการไหลเวียนของน้ำนั้นไม่เห็นมีอะไร ก็แค่น้ำขึ้น-น้ำลง ตามธรรมดา แต่ในความธรรมดานั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่จะทราบได้ด้วยการสัมผัสและการคลุกคลีอยู่กับมันเป็นเวลานานเป็นสิบ ๆ ปี หรืออาจจะบอกว่า ความรู้เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของชาวเลก็ไม่ขัดข้อง


มาคุยถึงเรื่องน้ำในทะเลกันเลยดีกว่า การไหลเวียนของน้ำในทะเล นอกจาก จะมี น้ำเกิด-น้ำตาย-น้ำขึ้น-น้ำลง-น้ำเท้อ -น้ำทาม และน้ำสองกระดองแล้ว ยังมี น้ำเบียด-น้ำกัน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของน้ำทะเล ที่ชาวประมงใช้เป็นเครื่องมือในการดูทิศทางการว่ายของกุ้ง/ปู/ปลา ได้อย่างดี มาพูดถึงน้ำกันกันก่อน


ลักษณะน้ำกันไม่ได้มีตลอดปี แต่มีเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้นคือ ช่วงกลางหรือช่วงปลายฤดูฝน เท่านั้น เพราะการที่จะเกิดลักษณะน้ำกัน ต้องเป็นช่วงที่น้ำจากแผ่นดินไหลลงไปในทะเล และยิ่งปีไหนฝนชุก น้ำท่วมบนฝั่งมาก ก็จะมีการระบายน้ำลงทะเลมากเช่นกัน และเมื่อน้ำจืดจำนวนมากไหลลงในทะเล ก็จะรวมตัวกันเป็นก้อนทั้งน้ำดีน้ำเสียกลิ้งไปด้วยกัน (สังเกตได้จากการที่เกิดน้ำเสียที่จังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาครไม่กี่วัน สมุทรสงคราม เพชรบุรีก็จะเกิดน้ำเสีย แม้แต่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทราก็หนีไม่พ้น เพราะน้ำในทะเลอ่าวไทยหมุนวนถึงกันหมด) กุ้ง/ปู/ปลา ก็จะอยู่ในน้ำลักษณะนี้ไม่ได้ก็พยายามว่ายหนี ไปรวมก้อนกันในน้ำที่ดีกว่า ช่วงน้ำกัน เป็นช่วงที่ชาวประมงรอคอย เพราะจะสามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวนมาก ๆ สรุป น้ำกันคือน้ำเค็มกับน้ำจืด ยังผสมกันไม่ได้


น้ำเบียด มีให้เห็นตลอดทั้งปี เพราะภาวะน้ำเบียดเป็นความมหัศจรรย์ทางสายน้ำ ที่มีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่ทำได้ ลักษณะของน้ำเบียด คือน้ำทะเลและลมสวนทางกัน คือลมพัดไปอีกด้านหนึ่งแต่น้ำ ไหลทวนกระแสไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นอกจากการลงอวนและดูทิศทางของอวนที่ลอยไปตามน้ำถึงจะบอกได้ว่า น้ำเบียดไปทางด้านไหน ไม่มีเวลาแน่นอน ไม่มีใครคาดคะเนได้ ชาวเรือจะดูการลอยของอวนถึงจะทราบว่าน้ำเบียดตะวันออก หรือเบียดไปทางตะวันตก แต่บางครั้งก็สามารถดูลักษณะได้เมื่อน้ำเบียดไหลมาปะทะกัน ก็จะเกิดสายน้ำ (เห็นจากสวะและขยะไหลรวมกันเป็นแนวยาว) ลักษณะน้ำเบียดมีผลต่อการตัดสินใจเดินเรือและการทำประมงมากเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน


เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำแล้ว ก็ต้องพูดถึงเรื่องลม เพราะการเคลื่อนไหวของลมประจำถิ่นมีอิทธิพลมากที่สุดในการเดินเรือ การเคลื่อนไหวของลมในแต่ละเดือนมีทิศทางแตกต่างกันไป เช่น ช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ลมจะพัดเข้าฝั่งทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เรียกว่า ลมว่าว พอเข้าฤดูหนาว ลมว่าวก็จะเร่ไปทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ลมอุกา หรือบางครั้ง พัดรวมกันจนดูไม่ออกวาเป็นลมอะไรแน่ ชาวบ้านจะเรียกลมชนิดนี้ว่า ลมว่าวอุกา


เมื่อหมดฤดูฝนหรือเข้าช่วงฝนสั่งฟ้า ในเดือนตุลาคม-มกราคม ปลาทูและสัตว์ทะเลต่าง ๆ จะเริ่มสะสมอาหารและไขมันและเป็นช่วงที่ปลามีไข่ ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาทะเลมีรสชาติอร่อยที่สุด และช่วงนี้เป็นช่วงที่ลมอุกาพัดแรง มีคลื่นใหญ่ เรือประมงจะออกทะเลไม่ค่อยได้ เรียกว่าเป็นช่วงเรือติดลม จากนั้นลมอุกาก็จะเร่ไปพัดเข้าทางทิศตะวันออกเป็น ลมตะวันออก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจะค่อย ๆ เร่ไปพัดทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นลมบ่ายตะวันออก และจะค่อย ๆ เร่ไปพัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ลมบ่ายตะเภา ในตอนกลางวัน แต่ในเวลาเย็นถึงเวลากลางคืนจนถึงเช้าจะเป็นลมสลาตัน ที่พัดมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือพัดมาจากทางทิศใต้ตรง ๆ และจะเป็นช่วงที่มีกระแสลมพัดแรงมาก


ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ก่อนที่ลมจะพัดเร่ไปทางด้านทิศตะวันตก หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า ลมเซิง หรือ ลมตะวันตก (พัดเวลากลางคืน) แล้วจะค่อย ๆ เร่ไปเป็น ลมว่าว หรือ ลมพัดหลวง พัดแรงเป็นครั้งคราว และเร่ไปเป็นลมว่าวในที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงการปรับเปลี่ยนของลมในแต่ละช่วงในหนึ่งรอบปี ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในการตัดสินใจที่จะเดินเรือและออกไปทำประมงในลักษณะต่าง ๆ ของชุมชน


คราวหน้าเราจะมาคุยกันว่า ทำไมถึงเป็นอาชญากรรมทางความคิด อยากรู้ต้องติดตาม