Skip to main content

ตลาดในมือเฮา

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อหลายสิบปีก่อน ดูจะเป็นเรื่องแปลกที่ชาวบ้าน "ริอ่านทำธุรกิจ" เพราะชาวบ้าน...อย่างดีก็ได้แค่ทำนา แล้วก็มาให้พ่อค้า/นายทุน/โรงสีหน้าเลือด (บางคน) กดราคาซะดีดี !!(อิ อิ)


 


แต่ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกใน พ.ศ. นี้อีกต่อไป เมื่อทางการท่านส่งเสริมให้ชาวบ้านตั้ง "กลุ่มอาชีพเสริม" หรือ "กลุ่มแม่บ้านผลิตแชมพูขาย" ในทศวรรษ 2520 จนผ่านยุคธุรกิจชุมชน(ปลายทศวรรษ 2530) ยุควิสาหกิจชุมชน (ต้นทศวรรษ 2540) จนถึงในยุค "โอท็อปโกอินเตอร์" (ปัจจุบัน) ธุรกิจชุมชนก็มีเห็นให้เกลื่อนแทบทุกหมู่บ้าน เช่นในปี 2543 จังหวัดพิษณุโลก มีกลุ่มธุรกิจชุมชนถึง 259 กลุ่ม บางหมู่บ้านมีถึง 19 กลุ่ม


 


กลุ่มเหล่านี้ (ยกเว้นบางกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการกู้ทรัพย์เป็นหลัก) ล้วนแล้วแต่มีปัญหาด้านการตลาด เช่น เมื่อทอผ้าแล้วไม่รู้ว่าจะขายที่ไหน หรือขายไม่ออก ชาวบ้านจึงต้องขอให้ทางราชการผู้มาส่งเสริมให้เขารวมกลุ่มผลิตผ้าทอช่วยในการหาตลาด


 


แต่ทางราชการก็มีข้อจำกัดด้านการสร้าง "ทุนทางปัญญา" ให้ชาวบ้าน "เก่ง" ในการหาตลาด เพราะทางราชการก็ไม่เคยทำธุรกิจเหมือนกัน (จึงไม่รู้ว่าควรจะส่งเสริมธุรกิจได้อย่างไร) นอกจากจะ "ฉีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองเทน้ำร้อนให้ชาวบ้านกินได้เลย" โดยจัดงานนิทรรศการประจำปี หรือจัดงานโอท็อปประจำอำเภอ จังหวัด


 


แต่ตลาดแบบนี้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะมันมีเพียงปีละ 2 – 3 ครั้ง แต่ชาวบ้านต้องกินต้องใช้ตลอดปี  ย่อมต้องการตลาดที่ขายได้ทุกวันหรือขายได้เรื่อยๆ แต่เฮาจะทำยังไงดี! เฮ้อ...เฮาความรู้น้อย จบแค่ ป. 4 จะเอาปัญญาที่ไห๊น...ไปหาตลาด (ยอมจำนนดีก่า!!) ปล่อยให้กลุ่ม (ธุรกิจ) เจ๊งโลด!!


 


และกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจชุมชนก็เจ๊งจริงๆ หรือถ้าไม่เจ๊งก็ปล่อยให้ตลาดดำเนินไปตามยถากรรมแบบลุ่มๆ ดอนๆ ลูกผีลูกคน


 


แต่ท่ามกลางการยอมจำนนกับการต่อสู้กับระบบตลาดของกลุ่มธุรกิจชุมชนส่วนใหญ่ กลับมีกลุ่มธุรกิจชุมชนกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มทอผ้าบ้านป่าปอบิด ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะเชื่อว่าตลาดผ้าทอเป็นเรื่องที่ "เฮาเรียนรู้ได้" 


 


กลุ่มทอผ้าบ้านป่าปอบิด ซึ่งประธานกลุ่มจบเพียงแค่ประถม 6 ก็ลุกขึ้นมาทำการ "วิจัยตลาดผ้าทอของกลุ่มฯ" ด้วยตัวเอง... "เป็นได้ไง (วะ) ชาวบ้าน ป. 6 ทำวิจัยตลาดเนี่ยนะ...โม้รึเปล่าเจ๊!" ช่างคนอ่าน...ถ้าอยากรู้ว่าทำได้จริงรึเปล่าก็แวะมาหาเจ๊ที่คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร หรือเขียนอี-แมว achariyach@yahoo.com นัดเวลาดีดี "แล้วเจ๊จะพาไป..."


 


กลุ่มทอผ้าบ้านป่าปอบิด โดยเฉพาะลำเพ็ญ  ทองคำ (พี่เพ็ญ) ประธานกลุ่มทอผ้า (ในขณะนั้น) เกิดคำถามสำคัญในการวิจัยว่า กลุ่มทอผ้าบ้านป่าปอบิดจะหาตลาดผ้าทอด้วยตัวเองได้อย่างไร  จากนั้นกลุ่มฯจึงเริ่มแบ่งผลิตภัณฑ์ผ้าทอออกเป็น 3 ประเภท คือ ผ้าทอลายเลียนแบบ ผ้าทอลายประยุกต์ และผ้าทอลายโบราณ (แกะลายโบราณแต่ทอใหม่) เพื่อทดลองตลาดและเก็บข้อมูลลูกค้าที่ซื้อผ้าทอว่าเขามีคุณลักษณะเช่นไร เหตุผลที่ซื้อเป็นเช่นไร พร้อมทั้งเก็บข้อมูลคู่แข่งด้วย


           


แต่ทว่าผ้าทอของกลุ่มฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันกลับไม่มีลายโบราณหลงเหลืออยู่เลย กลุ่มฯ จึงต้องไปสืบค้น ตอนแรกทีมวิจัยก็แยกย้ายกันไปสัมภาษณ์และขอตัวอย่างผ้าทอแต่ละคนมาดูอย่างคร่าวๆ แต่ก็เห็นแค่ตัวผ้ากับลายผ้า ไม่เห็นความหมายและชีวิตของคนทอผ้าแต่ละผืน รู้สึกไม่สะใจ! ทีมวิจัยชาวบ้านซึ่งประกอบด้วยพี่เพ็ญ พี่คำเม้า และพี่หนูหลี่ เป็นแกนหลัก จึงต้องลงไปสืบค้นและ "เจาะใจ" "โซ้น" (ยาย) ที่ทอผ้าที่ละหลังคาเรือนอย่างเอาจริงเอาจัง เรือนหนึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมง จนพบความเป็นมา ชีวิตและความหมายของผ้าแต่ละผืน เช่นผ้าเช็ดหน้าลายขิดผืนของโซ้นหวิน ทอเมื่ออายุ 15 ปี เพื่อเตรียมไหว้แม่ผัวในวันแต่งงานเมื่อ 58 ปีก่อน ผ้าสะไบขาวขิดหลากสีลายดอกแก้วที่โซ้นเต่ยทอเมื่อ 30 ปีก่อน ไว้ให้ลูกชายใส่ไปวันผูกข้อมือแต่งลูกสะใภ้ และอีกผืนหนึ่ง..."อาจารย์เคยเห็นบ่ ผ้าผืนนี้เป็นลายซ้าง ซ้างที่ไหนก็มีแต่ซ้างซือๆ บ่มีคนขี่ แต่ซ้างบ้านป่าปอบิดมีคนขี่นำ(ด้วย) แถมยังมีหมวกและสามง่ามด้วย คนขี่ซ้างนี้ต้องไม่ธรรมดา ต้องเป็นทหารแน่นอน ชาวบ้านป่าปอบิดต้องเคยเป็นทหารของเมืองนี้แน่นอน..." พี่เพ็ญกล่าวอย่างภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของคนบ้านป่าปอบิด








 

 


 


               


          

ผ้าสะไบขาวที่โซ้นเต่ยทอเมื่อ 30 ปีก่อน              ผ้าเช็ดหน้าลายช้างบ้านป่าปอบิดที่มีทหารขี่


 


 


เมื่อสืบค้นลายผ้าแต่ละเรือนแล้ว ทีมวิจัยฯยังได้เชิญโซ้นที่ทอผ้าโบราณแต่ละคนมาประชุมเล่าความเป็นมาของลายผ้าแต่ละผืน พร้อมทั้งชื่อลายเพื่อบันทึก กิจกรรมครั้งนี้พี่เพ็ญบอกว่า "วิจัยนี้ วิจัยแล้วมันก็ไม่ได้ออกไปไหน มันก็อยู่ที่ตัวเรานี่แหละ ทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น" (ว้าว...ขนลุก)


 


เห็นได้ชัดว่ากระบวนการสืบค้นลายผ้าโบราณดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยฯ รู้สึกภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีที่ได้เป็นแม่ญิ๋งทอผ้าบ้านป่าปอบิด ต่อมาทีมวิจัยฯก็ได้มาคุยกับผู้เขียน (ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก) บอกว่าขอ "เปลี่ยนใจ" ไม่ทอผ้าลายเลียนแบบ และลายประยุกต์เพื่อวิจัยตลาดอีกแล้ว เพราะมันไม่มีความหมายอะไรกับเรา (นอกจากได้เงินถ้าทอตามออร์เดอร์ที่สั่ง ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้)


 


คิดไป คิดมา การทอผ้าก็เหมือนศิลปินวาดรูป ซึ่งมักวาดรูปตามแรงบันดาลใจ อารมณ์และความรู้สึกในขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นภาพวาดที่แฝงไว้ซึ่ง "จิตวิญญาณของคนวาด" แม่ญิ๋งทอผ้าก็คงเหมือนกัน เมื่อพวกเธอค้นพบ "ตัวตน" ของแม่ญิ๋งทอผ้าป่าปอบิดแล้วพวกเธอก็คง "ไม่มีอารมณ์" ที่จะทอผ้าตามออร์เดอร์ลูกค้าด้วยลายเลียนแบบ(ตลาด) เท่าใดนัก


 


โอ้...จอร์ช  ถ้าเราจะบอกว่าพวกเธอกำลังประกาศศักดิ์ศรีแม่ญิ๋งป่าปอบิด จะเว่อร์ไปหรือเปล่าเนี่ย !


 


ถ้าคุยกับนักสังคมวิทยา เขาคงจะบอกว่า นี่คือสร้างอัตลักษณ์ ผ่านการต่อสู้ทาง "ความหมาย" โอ้ว...ว...ว


 


เมื่อเริ่มทอผ้าลายโบราณ ชาวบ้านคนอื่นๆก็เริ่มสนใจและอยากซื้อผ้าของกลุ่มฯเพราะรู้สึกว่ามันเป็นลายของ "พวกเรา" ก่อนหน้านี้นักวิจัยในโครงการฯ ได้เคยไปสำรวจช่องทางการตลาดเบื้องต้น พบว่าลายที่ตัวเองทอเลียนแบบแล้วไปขายนั้น เป็นลายที่ตัวเองมีศักยภาพในทอได้ไม่ดี และลูกค้าก็มีความต้องการที่หลากหลาย การทอลายผ้าใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เป็นการวิ่งตามตลาดซึ่งเหนื่อยเกินไปและที่สำคัญมีต้นทุนค่าการตลาดสูง


 


ทีมวิจัยฯ จึงมีความหวังว่าการทอผ้าทอลายโบราณครั้งนี้ คือการประกาศอำนาจของ "แม่ญิ๋ง" ป่าปอบิด ที่ไม่ต้อง "วิ่งไล่กวด" ตลาดอีกต่อไป ตลาดผ้าควรเป็นตลาดที่เรารู้จัก (ลูกค้า) โดยไม่ต้องวิ่งตามให้เหนื่อย ถูกต้องนะคร้าบ...บ... ต้องเน้นตลาดในชุมชน (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ) ที่เรารู้จักความต้องการและวิถีชีวิตของชาวบ้าน (ลูกค้า) เป็นอย่างดี ผ้าทอของลายโบราณของกลุ่มหลายลาย หลายประเภทต่างก็ "โดนใจ" ชาวบ้าน ในหลายโอกาส เช่น เพื่อไหว้ผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์ งานบุญ งานบวช งานแต่ง งานวัด แม้กระทั่งใส่ (ผ้าถุง) ในชีวิตประจำวันอีกด้วย


 


เรื่องนี้ทำให้ทีมวิจัยฯ ได้ความรู้ว่าต้องทำธุรกิจ (ผ้าทอ) ในสิ่งที่ตัวเองถนัด ที่สำคัญคือการทอผ้าก็เหมือนการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ต้องมีจินตนาการและแรงบันดาลใจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพี่เพ็ญจึงพูดต่อหน้าชาวบ้านที่ มสธ.ศูนย์ฯ สุโขทัย ซึ่งมาฝังการบรรยายเรื่องตลาดผ้าเมื่อคราวเธอเป็นวิทยากรว่า "ต้องให้ลูกค้า (คนนอก) วิ่งตามเรา เข้าใจเรา ไม่ใช่เราวิ่งตามลูกค้า ต้องให้ความรู้แก่ลูกค้าว่าผ้าแต่ละผืนมีความหมาย มีธรรมชาติ และมีเสน่ห์อย่างไร"


 


บัดนี้กลุ่มฯ ได้ตัดสินใจแล้วว่า ตลาดผ้าของกลุ่มควรเน้นหนัก "ตลาดในชุมชน" ซึ่งเป็นตลาดที่เรารู้จักดีที่สุด และมีค่าการตลาดน้อยที่สุด (แต่ก็ไม่ปฏิเสธตลาดภายนอก เพียงแต่ไม่เน้น)


 


เรื่องนี้เป็นวิธีคิดใหม่สำหรับแม่ญิ๋งทอผ้าหลายกลุ่มที่ขายอยู่ทั่วประเทศ แน่นอน ทีมวิจัยฯ  3 – 4  คน ต้องต่อสู้กับผลประโยชน์ (เงินตรา) ที่จะได้จากการทอลายเลียนแบบ เพราะทอได้เร็ว ขายได้คราวละมากๆ ตามออร์เดอร์ที่สั่ง แต่พวกเธอก็ "ยิ้มยิงฟัน" และแสดงออกมาอย่างชัดเจนมาก ว่าจะทอผ้าบนคุณค่าและความหมายใหม่ แม้จะขายได้น้อยและช้าก็ตาม


 


และแล้ว...เรื่อง "มูลค่า" กับ "คุณค่า" มักจะไม่ค่อยไปด้วยกันเสมอ  เฮ้อ...