Skip to main content

เส้นทางสู่สภาเยาวชนแห่งชาติ

คอลัมน์/ชุมชน

" ไม่มีแสงใดในโลกหล้า   จะหาญกล้าท้าแสงแห่งหนุ่มสาว


ไม่มีแสงใดในดวงดาว   จะสกาวเท่าแสง แห่งเยาวชน "


 


ในช่วงวันเยาวชนแห่งชาติ ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมทั่วประเทศระหว่างเดือนกันยายน ได้มีคำกล่าวของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่า ภายใน "ไม่เกิน 5 ปีไปข้างหน้า จะทำให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ"


 


ฟังแล้ว, เป็นเรื่องน่ายินดีที่จะเกิดสภาเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์เชื่อมประสานเยาวชนในการทำงานด้านเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับที่แตกต่างกันไป


 


คำกล่าวของทั่นรมต. มิใช่เรื่องใหม่ เนื่องเพราะการถก การอภิปรายเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติมีมานานแล้ว เป็นเรื่องราวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่อยากจะนำมาบอกเล่าสู่กัน เพื่อเป็นฐานคิด หลักคิด ก่อนที่สภาเด็กและเยาวชน จะมีการก่อเป็นรูป เป็นร่างในอนาคต (อันใกล้)


 


สำหรับการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวแล้ว, นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนคนหนุ่มสาวเมื่อปี 2516 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนหนุ่มสาวมาจวบจนทุกวันนี้  เห็นได้ว่า ปัญหาและกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นปัจัยสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนมารวมตัวกัน 


 


การรวมตัวของกลุ่มเด็กและเยาวชนมีหลายรูปแบบ ทั้งรวมตัวเฉพาะกิจ รวมตัวระยะยาว รวมเพื่อเรียนรู้ รวมเพื่อแก้ไขปัญหา และอื่นๆ อีกมาก การรวมกลุ่มของเยาวชนมีความหลากหาย ไม่มีสูตรสำเร็จ และความหลากหลายนั้นทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การทำงานเรียนรู้ประเด็นปัญหา ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน จากที่รู้จักเพียงหนึ่งกลุ่ม จากหนึ่งกลายเป็นสอง จากสองเป็นสาม ขยายออกไปสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้นในทุกระดับ  โดยเกิดการหนุนเสริม  การทำงาน และสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่ม  ซึ่งเรียกว่า " เครือข่ายเด็กและเยาวชน"  - ปัจจุบันมีกลุ่มเด็กและเยาวชนมากกว่า 800 กลุ่มทั่วประเทศ ที่ทำกิจกรรมในโรงเรียน ในชุมชน ท่ามกลางบริบทของวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป


 


ถึงตรงนี้แล้วเรื่องที่ขอย้ำและบอกกล่าวเล่าขานเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบคือ การเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนเพื่อผลักดันให้เกิด สภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ  


 


ย้อนกาลกลับไปเมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา ( ตอนที่ผมเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมใหม่ๆ ) ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยถึงสภาเยาวชนแห่งชาติ ในครั้งนั้น, เวทีเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 1  ตัวแทนเด็กและเยาวชนหลายร้อยจากทั่วประเทศเริ่มมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของตนเองต่อสังคมมากขึ้น เกิดแรงบันดาลใจในการรวมกลุ่มกัน  ความทรงจำและแรงบันดาลใจจากเวทีครั้งนั้นทำให้เกิดการกระจายพลังเยาวชนไปในพื้นที่ ท้องถิ่นต่างๆ ในสังคมไทย  


 


ต่อมาการรวมตัวครั้งใหญ่ของเด็กและเยาวชนได้เกิดขึ้นอีก ใน "เวทีเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2"  ครั้งนี้ ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนและถกกันมากที่สุดคือ การผลักดันให้รัฐบาลและภาคสังคมสนับสนุนให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดยมีกฎหมายรองรับ หรือมี พรบ. สภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ นั่นเอง จากนั้นไม่นานประเด็นต่างๆ ที่มีการเสนอในเวทีเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 2 ถูกนำมาผนวกในนโยบายเยาวชนแห่งชาติและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระยะยาว (..2545 - 2554)


 


หลายปีต่อมาภายหลังเวทีเยาวชนครั้งที่ 2 เมื่อปี 2542 เด็กและเยาวชนทุกคนต่างเฝ้ารอคอยการเกิดสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ  และขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตามจังหวัด ภูมิภาคต่างๆ รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด/ ภาค  ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในพื้นที่และเป็นการเสริมฐานการทำงานที่สำคัญในการเคลื่อนไหวจากพื้นที่สู่ระดับชาติ 


 


กิจกรรมที่เยาวชนในพื้นที่ดำเนินการ มีหลายส่วนที่เป็นรูปธรรมในการนำไปสู่สภาเยาวชนแห่งชาติ กล่าวคือ มีสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล หรือ "อบต.น้อย" ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนตั้งแต่การร่วมคิด ไปสู่การลงมือทำ และประเมินผล สรุปบทเรียน  อนึ่งในส่วนกลางมี เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา ( www.waiyao.com) เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายเด็ก เยาวชนตลอดจนเชื่อมและประสานงานระหว่างเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคต่างๆ


           


สำหรับการก่อตั้ง "สภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ" ผมมองว่า การมีสภาเด็กและเยาวชนเป็นรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเด็กและเยาวชนหลายอย่าง เช่น การจัดสรรสื่อเพื่อเด็ก  การใช้เงินหวยช่วยเด็กที่ยากจน  โครงการ 1 อำเภอ 1โรงเรียนใน ฝัน  หรือแม้แต่  พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.. 2546 นโยบายต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมหรือรับฟังความคิดเห็นของเด็ก เยาวชน หรือแม้จะรับฟังแต่ก็มิได้มีเนื้อหาที่เยาวชนเสนอมากนัก


           


ดังเช่นนี้แล้ว, สภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ  ย่อมต้องเกิดจากส่วนร่วมในการคิด ทำ และประเมินผล จากเด็กและเยาวชนที่หลากหลายในบริบททางสังคมที่ต่างกันไปโดยมีการทำประชาพิจารณ์จากเด็กและเยาวชนและอาศัยฐานเดิมที่มีเครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งไม่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ แต่เป็นการคิดใหม่ อาศัยฐานเดิมที่มีอยู่  และคำนึงถึงพื้นฐานความต้องการของเด็กและเยาวชนที่มาจากกลุ่มที่ชนชาติพันธุ์ที่หลากหลาย 


           


เส้นทางการเดินเพื่อให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ อาจมีอีกยาวนาน ซึ่งต้องรอคอยติดตามดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น  ภายใต้ความเป็นอยู่ ความสนใจของหลายฝ่ายที่อยากทำเพื่อเยาวชน.