Skip to main content

ฉลองชัยชนะ ด้วยพลังธรรมะและแรงศรัทธา

คอลัมน์/ชุมชน

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ของชาวแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี เป็นแบบอย่างที่ดีงามของ ขบวนการนักสิทธิมนุษยชนทั้งชาวไทยและชาวโลกทั้งมวล


 


สามปีครึ่งที่ผ่านมา ตัวแทนชาวแม่อาย ๑,๒๔๓ คน ที่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียน ราษฎร ได้รวมกลุ่มอย่างต่อเนื่องที่จะเรียนรู้กฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎรและ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  เรียนรู้ที่จะจัดระบบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ที่จะใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์สิทธิ พิสูจน์บุคคลให้เชื่อถือได้อย่างมีหลักวิชาการรองรับ


 


กัลยาณมิตรทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา ทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการ กรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา สื่อมวลชนทุกประเภท ล้วนประทับใจกับจิตที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมของ พระมหานิคม มหาภินิกฺขมโน ที่พึ่งทางใจของแกนนำและชาวบ้านทุกคน ซึ่งได้หล่อหลอมให้ ขบวนการต่อสู้ของชาวแม่อาย มีวัด มีหลักธรรมเป็นฐานอันมั่นคง


 


โครงการอุปสมบทพระภิกษุ บรรพชาสามเณร และบวชเนกขัมมะ (บวชชีพราหมณ์ นุ่งขาว ห่มขาว ถือศีลแปด) เฉลิมพระเกียรติในวันที่ ๑ – ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ ของชาวแม่อาย จึงได้รับการ สนับสนุนอย่างล้นหลาม ด้วยความปลื้มปิติในมหากุศลครั้งนี้ ซึ่งคุณจันทราภา  นนทวาสี จะเล่า ให้ฟังค่ะ


 


 "การตระเตรียมงานยิ่งใหญ่นี้ เริ่มต้นจากการประชุมของแกนนำที่ลงความเห็นพ้องกันว่า ชัยชนะที่ได้มาจากต่อสู้ด้วยหลักการสันติวิธี สมควรอย่างยิ่งที่บุคคลผู้ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียน ราษฎรและผู้เกี่ยวข้องจะ ร่วมกันสร้างมหากุศลเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ ทรงครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และกุศลใดจะเสมอเหมือนการชำระล้างจิตใจให้ผ่องใสด้วยธรรมะ จึงตัดสินใจให้ผู้ที่มีความ พร้อมทั้งกายและใจ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ บรรพชาเป็นสามเณร และบวชเนกขัมมะ ส่วนคนที่ ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ ก็ทำหน้าที่บริการ อำนวยความสะดวกในพิธีการตามกำลังของตน


 


ในช่วงแรกของการคิดงาน ชาวบ้านไม่ต้องการให้เป็นพิธีการใหญ่โตนัก จะรวมกันบวชที่ วัดน้ำยอน (บ้านร่มไทย) หมู่ ๑๔ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นพระภิกษุ สามเณร แยกย้ายกันไปจำวัดตามหมู่บ้านของตน ส่วนผู้ที่บวชเนกขัมมะรวมกันปฏิบัติธรรมอยู่ที่ วัดน้ำยอนหรือวัดท่าตอน (แห่งใดแห่งหนึ่ง) แต่หลังจากหารือและประสานงานแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้อง ทราบ กัลยาณมิตรจากหลายที่หลายแห่งแนะนำจนเนื้อหาของงานขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่ง พระราชปริยัติเมธี เจ้าคณะอำเภอแม่อาย และเจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระอารามหลวง แสดงมุทิตาจิตเป็นเจ้าภาพหลักของงานดังกล่าว พิธีการทั้งหมดจึงจัดขึ้นที่ สวนธรรมโกศล วัดท่าตอน พระอารามหลวง  ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่


 


พิธีอุปสมบทพระภิกษุ บรรพชาสามเณร และบวชเนกขัมมะ กำหนดให้จัดขึ้นตั้งแต่วัน เสาร์ที่ ๑ – วันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ มีผู้แจ้งความประสงค์จะอุปสมบทและบรรพชา จำนวน ๑๘๔ รูป บวชเนกขัมมะ ๒๓๕ คน รวมทั้งสิ้น ๔๑๙ คน โดยจัดพิธีถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกัน ในบริเวณศาลาสวนธรรมโกศล ได้รับความเมตตาจาก พระราชปริยัติเมธี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้รับเกียรติจาก คุณหญิงอัมพร มีศุข ประธานอนุกรรมการชาติพันธุ์ คณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส


 


พิธีการเริ่มจาก การกล่าวรายงานถึงความเป็นมาของงานวันนี้ และเชิญนายอำเภออดิศร กำเหนิดศิริ นายอำเภอแม่อาย กล่าวเปิดงาน คุณหญิงอัมพร มีสุข ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส ถวายพานพุ่มเงินและทอง เปิดกรวยถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จากนั้นแกนนำกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย จำนวน ๙ คน ซึ่งจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านทั้งหมด นั่งเก้าอี้เพื่อให้ผู้มีเกียรติที่มา ในงานร่วมขลิบผม ก่อนจะโกนผม และห่มผ้าเหลือง พิธีการช่วงเช้าจบลงด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระและเลี้ยงอาหารกลางวัน แก่ผู้ร่วมงาน


 


ภาคบ่าย พระภิกษุและสามเณรแยกย้ายกันไปทำพิธีอุปสมบทและบรรพชาเป็น ๔ แห่ง เนื่องจากมีจำนวนคนมาก จากนั้นจะร่วมกันจำวัด ปฏิบัติธรรมตลอด ๔ คืน ๕ วัน โดยการดูแลของท่านพระอาจารย์ทองสุข แห่งวัดผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ที่วัดท่าตอน พระอารามหลวง


 


 


ในส่วนของผู้บวชเนกขัมมะ เข้าสู่พิธีการรับกรรมฐานจากพระอาจารย์ทองสุข และได้รับ ความกรุณาจาก รศ.บุญทัน อยู่ชมบุญ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และอาจารย์ปานหทัย กัณทา (ครูน้อย) จากโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอ แม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นวิทยากร ซึ่งครูน้อย ท่านมีความประทับใจกับงานปฏิบัติธรรมครั้งนี้เป็นอันมาก และนำเรื่องราวตลอดระยะเวลาการ ปฏบัติวิปัสสนากรรมฐานมาร้อยเรียงเป็นบทกวีอันงดงามดังนี้ค่ะ


 


สาธุโว มโนจื่นจ๊อย  ตั๋วข้าม่อนน้อย ม่วนอกม่วนใจ๋ งานบวชเตื้อนี้ ปี้น้องศรัทธาหลากหลาย ตึงญิง ตึงจาย บ่าวสาวแก่เฒ่า ครบหกสิบปี๋ ครองราชย์ต้านเจ้า ในหลวงของเฮาต้านนี้ องค์เจ้าเหนือหัว เปิ้นได้กล่าวจี้ แนะนำปัดเป่าโพยภัย ตี้ใดแห้งแล้ง น้ำท่ว ตั้ดไหน พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไป จุ่มเย็นทั่วหล้า พสกนิกร มีสุขถ้วนหน้า เพราะป๋ารมีจ้วยก๊ำ แม่อายบ้านเฮา ม่วนใจ๋เจ้นล้ำ จึ่งได้ถือศีล ทำบุญ เป้กตุ๊ บวชพระ เนกขัมมะก๋องหนุน ฮ่วมกั๋นสร้างบุญ ถวายต้านเจ้า . . . . .


 


 


 


หนึ่งถึงห้า ตุลา มารวมกัน                           สี่ร้อยสิบเก้า ชีวัน ทั้งชายหญิง


            พระราชปริยัติเมธี ที่พึ่งพิง                          อุปถัมภ์ ทุกสิ่ง ทุกรายการ


จัดงาน บรรพชา อุปสมบท                          เนกขัมมะ ตามกฎ ให้ลูกหลาน


            ท่านอดิศร กำเนิดศิริ เป็นประธาน                 นายพรหมมินทร์ ประสานงาน ทุกขั้นตอน


เนกขัมมะ ยคี มีหญิงชาย                          สองสามห้า จำง่าย รวมละอ่อน


            สโรชา อยู่กรุงเทพ มหานคร                        เคยเห็นเปรต มาก่อน หัวไม่มี


อายุมาก ที่สุด แม่อุ้ยแหลง                         ร้อยเอ็ดปี แข็งแกร่ง บวชคราวนี้


            จิรพรรณ อ่อนที่สุด น่ารักดี                          สิบเอ็ดขวบ ตื่นตีสี่ เก่งจริงจริง


สวยที่สุด ปราณี อ้ายหยีไง                          หมู่สิบสี่ ไม่ไกล บ้านน้องหญิง


            ปฏิบัติ ตั้งใจ นั่งแน่นิ่                                ไม่โยกเอน ไหวติง พลิกกายา


ตีสี่ครึ่ง ทำวัตร- เช้าสวดมนต์                       ปฏิบัติ ทุกคน เมื่อตีห้า


            เดินจงกรม พร้อมเพรียง ในศาลา                  เดินกำหนด ช้าช้า ทั้งขซ้าย


นั่งกรรมฐาน ดูอาการ เคลื่อนของท้อง            กำหนดพอง ยุบหนอ ใช่ของง่าย


            เข่าก็เจ็บ ขาเป็นเหน็บ  เฉียดความตาย           พอลืมตา เจ็บปวดหาย แสนสุขใจ


ฟังธรรมะ ดูหนัง กฎแห่งกรรม                      สิ่งดีชั่ว เคยทำ ต้องชดใช้


            คนทำชั่ว รับผล อย่างเร็วไว                         ตัวอย่างมี ทั่วไป ในสังคม


เห็นความทุกข์ ทรมา ของการเกิด               ลำบากแท้ ตอนกำเนิด แสนขื่นขม


            คำว่าแม่ นั้นประเสริฐ เราชื่นชม                    เสียสละ อบรม ลกทุกคน


วันที่สาม ฝนตก พายุจัด                             หลังคารั่ว ไฟถูกตัด มืดทุกหน


            ม้วนพรมเก็บ หนีน้ำ อลวน                           กว่าพายุ จะผ่านพ้น เหนื่อยใจกาย


อาหารเช้า วันที่สี่ สุดพิเศษ                          มาม่าต้ม รสเด็ด แต่เรียบง่าย


            น้ำซุบหวาน กุ้งนุ่ม เคี้ยวสบาย                      เพิ่มพลัง มากมาย แก่โยคี


พอตอนสาย ปูนา มาฟังธรรม                       ตัวใหญ่ใหญ่ แดงดำ ปูสองสี


            ได้รับเกียรติ โชว์ตัว หน้าห้องนี้                     เป็นสัตว์เล็ก รักดี สนใจธรรม


หกโมงครึ่ง เจ้าคุณศรีฯ มีเมตตา                   เทศนา เรื่องราว อย่างลึกล้ำ


            ถูกดี ถึงดี พอดีทำ                                     พฤติกรรม มีประโยชน์ โปรดทำดี


สี่คืน ห้าวัน ประทับใจ                                 บความรู้ แปลกใหม่อย่างเต็มที่


            จะจดจำ ทุกเรื่องไว้ ตลอดชีวี                       วิทยากร หนึ่งเดียวนี้ ท่านบุญทัน


ฝ่ายบริการ อาแอ พร้อมพี่บุญ                      เป็นกองหนุน อดทน และขยัน


            อาหารคาว ผลไม้ ไม่ซ้ำกัน                         คุณผ่องพรรณ คนสวย รวยน้ำใจ


            ยกมือสิบนิ้วขึ้นสู่เกศา ข้อยขอกราบลา ปิ๊กป้อกเมือบ้าน


            แม้นกำอู้จ๋าบ่สมเปิงถ้าน ขอโปรดยกโต้ดภัย


            กำฮู้บ่นัก ผญาบ่หลาย พลาดพลั้งเผลอไป


            ขออภัยเน้อเจ้า ขออภัยเน้อเจ้า สวัสดีเจ้า"


 


 


ดิฉันเอง ได้ร่วมการปฏิบัติธรรมวันแรกของกลุ่มที่บวชเนกขัมมะ รู้สึกปิติที่เห็นเด็กหญิง ตัวน้อย อายุแค่ ๑๑-๑๒ ขวบ จนถึงแม่อุ้ยพ่ออุ้ย อายุ ๘๐ กว่าปี นุ่งขาวห่มขาว ตั้งใจปฏิบัติธรรม ด้วยใจที่เบิกบาน ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามรอบศาลาปฏิบัติธรรม คือ สระน้ำกว้างใหญ่ ทุ่งนา เขียวขจีกับดอยสูงเป็นฉากหลัง


 


ขออนุโมทนาบุญของผู้บวชพระ บวชเณร บวชเนกขัมมะ รวมทั้งคณะวิทยากร เจ้าภาพ ผู้สนับสนุนทุกฝ่าย ขอให้ผลบุญนี้ จงแผ่ไปสู่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า มนุษย์ สรรพสัตว์และธรรมชาติ ทั้งมวล ขอให้การทำหน้าที่ทุกอย่างเป็นการปฏิบัติธรรม และขอให้ทุกคนดำเนินชีวิตด้วยสติ สัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อสันติสุขจะคืนสู่สังคมทุกหนทุกแห่งโดยเร็วเทอญ


 


หมายเหตุ ขอขอบคุณ กลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย เอื้อเฟื้อภาพประกอบ