Skip to main content

เสียง...คนหลังป้อมมหากาฬ ตอนที่ 4

คอลัมน์/ชุมชน


 


หลายฉบับที่ผ่านมา เราได้พูดถึงกิจกรรมต่างๆ ของพี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน นอกจากกิจกรรมภายในชุมชนแล้วนั้น ชุมชนป้อมมหากาฬยังได้ร่วมไม้ร่วมมือทำกิจกรรมกับนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาโดยตลอด ล่าสุดกิจกรรมสนุกสนาน ที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้เข้าร่วมด้วยนั้น คือ โครงการตาร่วมดู สมองร่วมคิด ชุมชนกับมหาวิทยาลัยร่วมมือกัน ร่วมจัดโดยกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2548 ที่ผ่านมา ณ สวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ


 


กิจกรรมดีๆ ที่สะท้อนให้เราเห็นว่า มหาวิทยาลัยกับชุมชนต่างเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่เชื่อมโยงกัน การเข้ามาทำกิจกรรมของนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ คือพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและเคลื่อนไหวทางสังคม พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬรู้สึกดีใจและยินดีที่ชุมชนป้อมฯ ไม่ได้ยืนต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เรามีคณาจารย์ที่คอยให้คำปรึกษา ชี้แนะ มีนิสิต นักศึกษาที่สนใจและให้ความสำคัญกับชุมชนเล็กๆ หลังป้อม เรามีสื่อมวลชนที่พร้อมรับฟังเสียงเล็กๆ ของเรา


 


ในเวทีสนทนา ท่านอาจารย์ปราณี วงศ์เทศน์ และท่านอาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัศ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโบราณคดีชุมชน ใครเป็นเจ้าของ และใครควรที่จะเป็นผู้ดูแลจัดการนั้น ทำให้พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬนึกย้อนกลับมาที่ชุมชนของเรา ภาพของชุมชนที่อยู่อาศัยคู่กับป้อมมหากาฬ ป้อมปราการหน้าด่าน ที่มีอายุเก่าแก่ยาวนานหลายร้อยปี เราอยู่อาศัยในบ้านเรือน บางหลังอายุร้อยกว่าปี บางหลังมีประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าชุมชนป้อมมหากาฬเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเมือง โดยเฉพาะบริเวณหัวแหวนของเมืองหลวงอย่าง "เกาะรัตนโกสินทร์"... เรามีวิชาความรู้หลากหลาย ต้นกำเนิดลิเกพระยาเพชรปราณี บ้านทำเครื่องดนตรี ทำทอง เลี้ยงไก่พื้นบ้าน ทำกรงนก ฤาษีดัดตน ความรู้เหล่านี้จะหายไปพร้อมๆ กับบ้านเรือนที่จะถูกรื้อถอน


 


ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มนักศึกษาจึงได้ร่วมกันเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทัศนาศึกษาภายในชุมชนป้อมมหากาฬ เรียนรู้และปฏิบัติจริงจากวิถีชีวิตชุมชน เพื่อที่จะรวบรวม ประมวลเรื่องราวชีวิตของชาวชุมชนป้อมมหากาฬออกมาเล่าสู่ให้สังคมฟัง  ... เสียงของคนตัวเล็กๆ  "ชุมชนป้อมมหากาฬ"


 


ในระยะเวลาเกือบเดือนจะเห็นได้ว่าเราทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย เรา...ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาที่ประสบอยู่ พี่น้องชุมชนยังต้องทำมาหากิน บางคนหาเช้ากินค่ำ บางคนหาค่ำกินเช้า มีวิถีชีวิตปกติที่จะหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องระวังหลัง ห่วงบ้าน ห่วงชุมชนที่อยู่อาศัย ต้องตั้งรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ... นี่คือชีวิตของคนที่กำลังจะเสียบ้าน  ชีวิตของคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาการไล่รื้อเวนคืน ..... ชีวิตและบ้านในความหมายที่หลายคนไม่เคยเข้าใจ?? (เหมือนที่เขาไล่คนออกจากชุมชนศิริอำมาตย์ และกำลังจะไล่คนออกจากสนามหลวง??)


 


หากกรุงเทพมหานครเชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชน เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการ "บ้าน" ของพวกเขา ... สังคมจะน่าอยู่แค่ไหน นี่คือคำถามที่เราอยากฟังคำตอบเหลือเกิน...!!


ร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นที่ : pom_mahakan@yahoo.com