Skip to main content

อย่าตัดสินผู้อื่น แล้วท่านจะไม่ถูกตัดสิน

คอลัมน์/ชุมชน


เมื่อสองวันก่อนลูกสาววัยแปดขวบมาขอให้ช่วยตอบการบ้านหัวข้อ "ศาสนาคืออะไร" 


 


สิ่งที่ลูกเขียนมาแล้วมีความว่า  ศาสนาคือ สิ่งที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดี  ในประเทศไทยมีหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ  ศาสนาคริสต์  ศาสนาอิสลาม  ศาสนาซิกข์ เป็นต้น  แม้จะมีหลายศาสนาแต่ทุกศาสนาก็สอนให้คนเป็นคนดี  ในประเทศไทยคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ศาสนาอิสลามมีอยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้  ส่วนศาสนาคริสต์อยู่ในประเทศยุโรป… 


 


แค่นี้ที่ลูกเขียนมาได้  แม่ก็เลยลองเสนอว่า "งั้นหนูลองเขียนถึงศาสนาของหนูดีมั๊ยคะ  ว่าหนูนับถือศาสนาอะไร  ศาสนาของหนูสอนอะไรบ้าง  แล้วหนูปฏิบัติอย่างไรบ้าง"  


 


ลูกก็ไปเขียนต่อว่า…ฉันนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก  เขียนถึงตรงนี้มีคำถามหันมาถามแม่ว่า "นิกายโรมันคาทอลิกแปลว่าอะไร  แล้วมีนิกายอื่นด้วยเหรอ?"


 


แม่ก็ตอบไป แล้วลูกก็เขียนต่อว่า ศาสนาคริสต์สอนว่า พระเจ้ารักเรา  พระเจ้ารักมนุษย์ทุกคน  และพระเจ้าอยากให้เรารักพระองค์ และรักมนุษย์ทุกคน  เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นลูกของพระเจ้า ทุกคนเป็นพี่น้องกัน   แล้วก็หันมาถามแม่อีกว่า "เราต้องรักทุกคนเลยใช่มั๊ยแม่?"  


 


แม่บอกว่า "ใช่จ้ะ เราต้องรักทุกคนเลย" ตอบลูกไปแล้ว ก็ต้องหันกลับมาถามตัวเองซึ่งๆ หน้า "รักทุกคนจริงหรือเปล่า รักได้จริงๆหรือ???…."


 


เมื่อมีโอกาสช่วยลูกทำการบ้าน ก็เป็นโอกาสย้อนกลับมาตรวจสอบตัวเองว่า  ตัวเราเองมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนมากกว่าเด็กแปดขวบหรือเปล่า  อาจไม่ต่างกันเท่าไรนะ  แต่ที่อาจแย่กว่าเด็กคือ ผู้ใหญ่มีอคติมากกว่า อคตินี้บดบังปัญญา อคตินี้บดบังหนทางที่จะพัฒนาความเข้าใจอันจะนำไปสู่การปฏิบัติความรักด้วยใจเบิกบาน สิ่งที่พิสูจน์เห็นชัดถึงความอ่อนด้อยทางคุณธรรมในศาสนาของเรา คือท่าทีของเราต่อสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ความรักและความเข้าใจสร้างสันติภาพ  ความรักต้องการความเข้าใจ  ความเข้าใจต้องการการเปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้


 


แต่ทุกวันนี้ เราขาดทั้งความรู้และความเข้าใจในศาสนาอิสลาม เราขาดทั้งความรู้และความเข้าใจในวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม  แต่น่ากลัวที่เรากล้าตัดสินเขาทั้งที่เราแทบไม่รู้จักเขาเลย


 


เรามีข้อจำกัดในการรับรู้ข้อเท็จจริง  เราไม่มีโอกาสลงไปในพื้นที่  เราเพียงรับข้อมูลผ่านสื่อ สื่อนำเสนอข้อเท็จจริงเพียงบางด้าน          เพราะสื่ออาจถูกควบคุมหรือเลือกนำเสนอ   ดังนั้น เราต้องตระหนักว่าเรารู้ความจริงน้อยมาก   เช่นนั้นหากเรายังไม่รู้อะไรจริงสักอย่าง สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ อย่าเพิ่งตัดสินอะไรทั้งสิ้น  "อย่าตัดสินผู้อื่น แล้วท่านจะไม่ถูกตัดสิน" (พระวรสาร) ในเวลาเดียวกัน หากเรากล้าเรียกตัวเองว่าเป็นคาทอลิก  เราก็ต้องปฏิบัติต่อเพื่อนพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสิ่งเดียวกันกับที่เราปฏิบัติต่อคนที่เรารัก  จึงจะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า


 


พระสมณสาสน์สันติในโลก (Pocem in Terris) ปี 1963˜  เป็นเอกสารที่ศาสนจักรคริสต์โรมันคาทอลิกแสดงจุดยืนของตนเองต่อเหตุการณ์ของโลก  โดยเฉพาะต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ โดยกล่าวถึงหลักคุณธรรม 4 ประการ  ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักในการสร้างสันติภาพ คือ ความจริง  ความยุติธรรม  ความรัก  และเสรีภาพ


 


ความจริง คือ การตระหนักรู้และยอมรับในศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ทุกคน  รวมทั้งการรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่น  และในมิติของศาสนสัมพันธ์  ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวฉันเท่านั้นที่ตระหนักรู้ในความจริงดังกล่าวส่วนคนอื่นไม่ตระหนักรู้  แต่ด้วยความถ่อมตัวเราต้องกล่าวว่า ชาวพุทธ  ชาวมุสลิม  ชาวฮินดูฯลฯ พวกเราต่างร่วมแสวงหาความจริง


 


ความยุติธรรม  คือ การที่ทุกคนปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยการเคารพในสิทธิของเขา  อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง (เลือกปฏิบัติ)  ยิ่งกว่านั้น เราต้องอ่อนไหวต่อสิ่งที่จะทำให้ความยุติธรรมถูกบั่นทอน  และต้องเชื่อมั่นว่า เพื่อนร่วมสังคมที่เป็นชาวพุทธ ชาวมุสลิม ก็อ่อนไหวในสิ่งที่เป็นความอยุติธรรมเช่นกัน  ดังนั้น เราต้องร่วมกันแสวงหาแนวร่วมเพื่อปฏิบัติความยุติธรรม


 


ความรัก คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และแบ่งปันในสิ่งที่เรามีให้แก่ผู้อื่น  โดยเฉพาะในเรื่องของปัญญา คุณธรรม (จิตใจที่งดงาม)  กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการเคารพในความเป็นตัวตนของผู้อื่น  เคารพว่าชาวมุสลิมคือชาวมุสลิม มิใช่เขาเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง  และต้องฟังผู้อื่นและจาริกร่วมไปกับเขา  ความรักที่แท้คือความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข


 


เสรีภาพ  คือ  การที่เราแต่ละคนมีอิสระในการกระทำตามเหตุผลของตน (ไม่ทำตามอำเภอใจหรือตกเป็นทาสอารมณ์ตนเอง)   และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ (สามารถบังคับใจตนเอง)


 


สงครามและการประหัตประหาร บ่อยครั้งมักอ้างว่ากระทำในนามศาสนาหรือความถูกต้อง  เพื่อขจัดความชั่วร้ายและสร้างสันติ  แต่แท้จริงเป็นการยึดติดในความดีที่ตนเข้าใจ  หรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู (ท่านพุทธทาส)  ความคิดเห็นของคนอื่นที่ต่างจากตนถือว่าเป็นศัตรู  ดังนั้น  เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่ด้วยความรัก  สังคมดำรงอยู่ด้วยความยุติธรรม  จึงจำเป็นที่ความยุติธรรมในสังคม จะต้องมีการปฏิบัติความรักมาเป็นสหายร่วมเดินทางเสมอ


 






˜ ถอดความโดยอัจฉรา สมแสงสรวง- ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม