Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิด ตอน 5

คอลัมน์/ชุมชน

ท่านผู้อ่านคงรอคอยว่าเมื่อไรจะเข้าเรื่องซะที อ่านแต่เรื่องน้ำเรื่องลม จนจะลืมชื่อเรื่องอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนอยากจะบอกว่าหากผู้อ่านไม่ชัดเจนในข้อมูล ก็จะไม่เข้าใจข้อกังวลของชาวประมงแน่นอน แต่ใกล้เข้ามาแล้ว เหลือเพียงเรื่องคลื่น อีกเรื่องเดียวและเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งของการเดินเรือในทะเล และก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของชาวประมง


คลื่นที่ผู้อ่านเห็นทั่วไป(ยกเว้นสึนามิ)ก็จะเป็นก้อนน้ำที่โถมขึ้นมาแล้วแตกกระจาย แต่คลื่นในทะเล มีหลากหลายกว่าที่ท่านเห็นมากนัก เพราะมีทั้งคลื่น 3 เส้า คลื่นที่เกิดจากมรสุม และเดิ่ง ยิ่งห่างฝั่ง คลื่นก็ยิ่งเปลี่ยนไป และน่ากลัวมากขึ้น คนที่ไม่เคยถือท้ายเรือ จะไม่เข้าใจคลื่นเหล่านี้ ผู้เขียนจึงขออาสาทำให้ท่าน คำว่าคลื่น และเดิ่งกันก่อน คลื่น คือระลอกน้ำที่เกิดจากการถูกผลักดันจากลมที่ก่อตัวขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำ(สูงมากน้อยแล้วแต่ความแรงของลม)และจะสลายเป็นฟองคลื่นในช่วงสั้นๆ


คลื่น 3 เส้า คือคลื่นที่เกิดจากความผันผวนของลม จึงก่อให้เกิดคลื่นทั้ง 3 ทิศ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งคลื่นในลักษณะนี้ น่ากลัวมากเพราะการถือท้ายเรือจะเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก และต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ในการในการที่จะประคองเรือให้ปลอดภัยได้


เดิ่ง หากผู้ที่ไม่รู้จักก็จะมองว่าเป็นคลื่น แต่จริงๆแล้ว เดิ่งกับคลื่นแตกต่างกันมาก เพราะเดิ่ง เป็นระลอกน้ำที่ไม่มีการแตกตัวเป็นฟองเหมือนคลื่น แต่จะกลืนหายไปกับพื้นน้ำในระยะทาง 10-50 เมตร คลื่นเกิดจากกระแสลมที่กำลังพัดในขณะนั้น เดิ่ง เกิดจากปฏิกิริยาใต้น้ำโดยไม่ต้องมีกระแสลม หรือหากมีกระแสลม ก็จะเกิดในพื้นที่ห่างออกไปมาก


ทิศทางของคลื่นและเดิ่งบางครั้ง ก็ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคลื่นอาจจะซัดไปอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันเดิ่งอาจจะซัดไปอีกทางหนึ่งได้เสมอ เช่นคลื่นจากลมสลาตันจะพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเดิ่งอาจจะพัดมาจากทิศตะวันออก ซึ่งลักษณะอย่างนี้จะทำให้ชาวประมงรู้ว่าลมตะวันออกกำลังจะมา เพราะส่งเดิ่งตะวันออกมาเตือนล่วงหน้าแล้ว ชาวประมงจะมีเวลาเตรียมตัวพอสมควร หนีได้ต้องหนี


เราคุยกันถึงเรื่องราวของสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการเดินเรือมาพอสมควร ดังนั้นเรามาฟัง ข้อกังวลข้อแรกของชาวประมงกัน ข้อกังวลข้อที่ 1 ความไม่มั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง หากถามเหตุผลว่ามันเกี่ยวอะไรกัน ก็แค่สะพานตัวเดียว ทะเลออกกว้างขวาง ที่อื่นมีก็หลบไปซิรู้ว่าอันตรายแล้วเข้ามาใกล้ๆทำไม? นี่คือคำถามยอดฮิตที่ชาวประมงได้ฟัง


ดังนั้นก็ต้องมาคุยกันต่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เพราะการขับเรือไม่เหมือนการขับรถ การขับรถหากเจอลมเจอฝน สามารถจอดพักข้างทางหรือและปั้มน้ำมันได้ แต่เรือเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ออกจากท่าแล้วไม่มีคำว่าแวะพัก ตลอดรอบระยะเวลาของการทำประมง หากรอบ 15 วัน เครื่องยนต์ก็จะติดเครื่องอยู่ตลอด 15 วันโดยไม่มีการดับเครื่อง นายท้ายก็ต้องปั่น(หมุน)พวงมาลัยอยู่ตลอดเวลา(ใหญ่/หนักรอบฟรีมีเป็น 10 รอบ) คลื่นจะใหญ่ลมจะพัดแรงอย่างไร ก็ต้องปั่นพวงมาลัยอยู่ตลอด ไม่สามารถจอดพักหลบลมเหมือนรถได้


ฝนที่ตกในทะเลก็ไม่เหมือนฝนที่ตกบนแผ่นดิน เพราะฝนในทะเลบวกด้วยละอองน้ำที่เกิดจากคลื่นลม บางครั้งยืนอยู่ใกล้ๆกันแค่มือเอื้อมก็ยังมองไม่เห็นกันแล้วหากมีสะพานมาขวางอยู่ในสภาวะเช่นนี้คุณผู้อ่านคิดว่าชาวประมงจะรอดไหม ถึงแม้จะเห็นก็ไม่สามารถบังคับเรือให้พ้นได้ เพราะบางครั้งแม้แต่ไม่ไผ่ต้นเดียว(ไม้ที่ปักปีกโป๊ะ) ที่เห็นอยู่ตรงหน้า หากอยู่ในสภาวะคลื่นลมแรง นายท้ายก็ไม่สามารถประคองเรือให้ไม่ชนไม้ได้ เพราะเพียงแต่ปั่นพวงมาลัยเพื่อประคองเรือไม่ให้อับปางก็เป็นไปด้วยความยากลำบากมากแล้ว


ยิ่งอยู่ในสภาวะคลื่น 3 เส้า บวกกับเดิ่งแรงด้วยแล้ว แม้ชีวิตก็เกือบเอาไม่รอด เพราะเรือจะถูกเหวี่ยงไปตามแรงของ เดิ่งและคลื่น บางครั้งเดิ่งพัดเรือเราไปไกลถึง 50-100 เมตร โดยที่เราไม่สามารถบังคับหรือให้ฝืนคลื่นลมได้เลย


กำลังสนุกใช่ไหมละ บทหน้าสนุกกว่านี้อีก อย่าลืมติดตามนะเดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก