Skip to main content

"ฆ่าพระ-เผาวัด" กับบททดสอบครั้งสำคัญของสังคมไทย

คอลัมน์/ชุมชน


 


และแล้ว สิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง กล่าวคือ ภายหลังการเข่นฆ่านาวิกโยธิน ๒ นาย กระทั่งเกิดกระแส "เคียดแค้น-ชิงชัง" ต่อ "มุสลิม"   ซึ่งคนทั่วไปมักสรุปง่ายดายว่า "อยู่ฝ่ายเดียวกับโจร"  ขึ้นในวงกว้าง   เชื่อกันลึกๆ ว่าถึงจุดหนึ่ง น่าจะมีการ "ตอกลิ่ม" ให้เกิดความ "แตกแยก" และ "แตกต่าง" ระหว่างความเป็น "พุทธ" และ "มุสลิม" ซ้ำขึ้นอีก เพราะดูจะสามารถขยายผลได้  แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีการฆ่าพระและสามเณรขณะออกบิณฑบาตมาบ้างแล้วก็ตาม แต่เป็นเพราะสถานการณ์ขณะนั้นยังไม่สุกงอม จึงไม่มีผลสะเทือนระดับกว้างมากมายนัก ด้วยความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่าง ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมในท้องถิ่น "ยังดียู่" หรือจะเป็นเพราะความรุนแรงในภาพรวมยังไม่ยกระดับขึ้นมาเท่าปัจจุบันก็ยากจะสรุปได้โดยง่าย


 


จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็เกิดเหตุร้ายแรงยิ่งสำหรับ "ศาสนิกชน" ขึ้นอีกจนได้ กล่าวคือ มีการทำร้ายพระภิกษุสูงวัย ๑ รูป และเด็กวัดอีก ๒ คน กระทั่งมรณภาพและเสียชีวิต ตลอดจนมีการวางเพลิง เผาผลาญและทำลาย ทั้งศาสนวัตถุและศาสนสถานจนเสียหายร้ายแรง ในระดับที่ไม่แตกต่างอะไรนัก กับการเข่นฆ่า "อิหม่าม" หรือ "บาทหลวง" ตลอดจน "ผู้นำศาสนาอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับการทำลายล้างสิ่งปลูกสร้างของศาสนานั้นๆ ไม่ว่าจะเรียกขาน หรือกำหนดชื่อว่าอย่างไรก็ตาม


 


กล่าวโดยปรากฏการณ์ ก็ดูเหมือนว่า ณ วันนี้ วินาทีนี้ จะยังมีการใช้ยุทธศาสตร์เดิมๆ ยุทธวิธีเดิมๆ ของทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งผู้ก่อการร้าย และผู้ก่อการดี เพียงแต่เปลี่ยนพื้นที่ และบุคคลเป้าหมาย ตลอดจนรูปแบบ ให้ดูคล้ายกับว่า มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น น่าสะเทือนขวัญ หรือน่าหวาดกลัว และน่าวิตกกังวลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่ และ/หรือ ผู้มีความอ่อนไหวในเชิงความต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว


 


"คนทำ" คาดหวังอยู่แล้ว ว่าจะเกิด "สิ่งใด"  และเกิด "กับใคร" ดูเหมือนว่า "คนถูกกระทำ" และคนมีหน้าที่ "แก้ปัญหา" มากกว่า ที่นับวันก็จะติด "กับดัก" และ "ขาดพัฒนาการ" จนดูราวกับว่า ปฏิบัติงานอยู่บนด้วยความอืดอาด ล่าช้า และไม่ทันสถานการณ์เอาเสียเลย


 


ดังปรากฏความเสียหาย ทั้งต่อ "ชีวิต" และ "ทรัพย์สิน" ที่นับวันจะทวีมูลค่าและจำนวนมากยิ่งขึ้น ตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป


 



 


จริงอยู่ ว่าการเป็นผู้ "ถูกโจมตี" หรือ "ถูกกระทำ" ในลักษณะ "ตั้งรับ" นั้น จะมากจะน้อยก็ย่อม "เสียเปรียบ" อยู่วันยังค่ำ


 


แต่หากจะถามกันอย่างตรงไปตรงมา ถึง "เจ้าภาพหลัก"  เช่นรัฐบาลแล้ว คงต้องให้ยกตัวอย่างเสียบ้างว่า เคยกระทำสิ่งใดใน "เชิงรุก" หรือในฐานะ "ผู้กระทำ" ไปบ้างแล้ว นอกจาก "ด้านลบ" หรือ "ด้านมืด" ที่ถูกกล่าวอ้างมาโดยตลอด ว่ามีส่วนรู้เห็นในปฏิบัติการลับ ประเภท "อุ้มฆ่า" "ลักพาตัว" "จับคนผิด" ตลอดจน "ทารุณกรรม" อื่นๆ ที่มัก "นอกกฎหมาย" หรือ "หมิ่นเหม่" ต่อการ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน"


 


ไม่เช่นนั้น ก็เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาระดับเปลือกผิว เช่น การพับนก และ การรับปากว่าจะ "ให้" หรือ "แจก" ทั้ง "สิ่งของ" และ "งบประมาณ"   ซึ่งมี "ที่มา-ที่ไป"  อันซับซ้อน และอาจขัดต่อหลักการทางศาสนาอิสลามอันเคร่งครัด เช่น การใช้งบประมาณจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล มาลด แลก แจก แถมต่างๆ ในบางพื้นที่ เป็นต้น


 


ขณะที่ "ปัญหาพื้นฐาน" เช่น การใช้ความรุนแรง การขาด "กระบวนการ", "วิธีการ" และ "เป้าหมาย" ด้าน "สันติวิธี" ตลอดจนการขาดข้อมูลและกระบวนการเรียนรู้ข้อมูล และ/หรือ กระบวนการ "มีส่วนร่วม"  ของคนในพื้นที่ ก็ยังไม่เคยมี หรือไม่เคยได้รับการ "ใส่ใจ" อย่างจริงจังแต่อย่างใด


 


ไม่มีแม้แต่ "สัญญาณด้านบวก" หรือ "ภาพสะท้อน" ทั้งด้าน "วุฒิภาวะ", "ความเป็นผู้นำ" และ/หรือ ความเป็น "ผู้ปกครองที่ดี" ที่จะร่วงหล่นออกมาจาก "ผู้นำฝ่ายบริหาร" เอาเสียด้วยซ้ำ


 


หากจะมีอยู่บ้าง ก็คงจะมีเพียงวาจาสามหาว อวดเก่ง-อวดกล้า (ในเรื่องที่ไม่ควรอวด) และการขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เท่านั้น  อันพิสูจน์ได้จาก "จำนวน"  การขีด  "เส้นตาย"   และวาทะอ้างความรับผิดชอบ (ที่เลื่อนลอยปราศจากผลทางปฏิบัติ)  หรือคำพูดอวดตัวว่า  "รู้แล้ว-รู้หมดแล้ว"  ที่ทยอยเพ้อพร่ำออกมาเป็นระยะๆ


 


จะว่าไปแล้ว ก็มิน่าเชื่อว่าทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเกิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลมี "เสียงข้างมาก" ใน "สภาผู้แทนราษฎร" มี "สายสนกลใน" กับ "สมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างมาก" และสามารถ "แทรกแซง" ข้าราชการตลอดจนระบบราชการได้อย่าง "เบ็ดเสร็จเด็ดขาด" ไม่เว้นแม้แต่องค์กรอิสระ หรือสถาบันหลักในสังคมก็ตาม


 


นี่หากมิใช่เรื่องของ "ความบกพร่องอย่างยิ่ง" แล้ว ก็อาจหมายถึง "การละเลยมิได้ปฏิบัติให้สมควรแก่เหตุ"  ซึ่งมีที่มาที่ไปจากกระบวนการบริหารงานทั้งสิ้น


 


และยิ่งที่กล่าวกันว่า ใน "รัฐบาลทักษิณ" มี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"  เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จทับซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งแล้ว "เป็นจริง"  นี่ย่อมนับได้มิใช่หรือ ว่าเป็นความบกพร่องและล้มเหลวของ "นักธุรกิจการเมือง" ผู้นี้ "โดยตรง" และ "โดยแท้" เลยทีเดียว


 



 


กรณีการสังหารพระภิกษุและเด็กวัด ณ วัดพรหมประสิทธิ์ บ้านเกาะ ม.๒ ต.บ้านนอก อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี เมื่อดึกสงัดของวันที่ ๑๕ ตุลาคม นั้น ว่ากันในรายละเอียด ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าเกิดจากการสร้างสถานการณ์ของผู้ไม่ประสงค์ดี ที่พยายามจะเสี้ยมเขา หรือสร้างความขัดแย้ง ให้เกิดการขยายผลในระดับกว้างเป็นแน่ เพราะหากจะฟังเสียงชาวบ้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกำนันตำบลบ้านนอก อย่าง นายมือเซาะ แฮะ ที่กล่าวว่า


 


หลังจากงานศพของผู้เสียชีวิตทั้งสามผ่านพ้นไป เขาจะพยายามให้ผู้นำในชุมชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม มีโอกาสได้พูดคุยปรับความเข้าใจกัน เพราะเขาเองก็ยอมรับว่า ไม่มีความมั่นใจเลยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะบานปลายออกไป หรือเกิดเรื่องอะไรแทรกซ้อนขึ้นมาอีก       


 " จะบอกให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นว่าเราสามารถอยู่กันอย่างรักและสามัคคีเหมือนเดิมได้ อย่าระแวงกัน เพราะจะทำให้ผิดใจกัน มีอะไรก็ให้มาปรึกษา พูดคุยกัน วันนี้ก็มีพี่น้องมุสลิมมาช่วยงานศพ มาช่วยยกของ ช่วยงานต่างๆ เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีใครหรอกที่จะไม่รู้สึก เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราต้องไม่แตกแยกกัน ต้องร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันให้มากกว่าเดิม"


 


หรือที่ พระเจริญ ประทุมเทศ พระลูกวัดที่กระโดดหน้าต่างหนีตาย ขณะคนร้ายบุกเข้าก่อเหตุ กล่าวว่า มีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเกิดความรุนแรงเมื่อสุนัขที่วัดถูกวางยาเบื่อตายตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทั้งนี้ คนในวัดเองไม่เคยคิดระแวงว่าจะมีคนมาสร้างความโหดเหี้ยมถึงเพียงนี้       


 "เราอยู่กันมาโดยสงบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พระในวัดกลัวมาก ต่อไปคงจะต้องนอนกับทหารแล้ว"


 


และ นางขิน จันทร์ทิตย์ อายุ 63 ปี แม่ค้าขายของชำหน้าวัดเล่าว่า ขณะเกิดเหตุมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด แต่ไม่กล้าออกมาดู ซึ่งเชื่อว่าคงเกิดเหตุร้ายขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งโบสถ์และรูปปั้นที่ถูกทำลายล้วนเป็นของเก่าแก่อายุนับร้อยปีอยู่คู่กับวัดแห่งนี้มาช้านาน       


 "พอตำรวจมา ยายก็ออกมาช่วยตามหาหลานข้างบ้านที่หายตัวไป มาพบอีกทีกลายเป็นศพถูกเผาอยู่ในกุฏิแล้ว" นางขินกล่าว       


นางขิน บอกในทำนองเดียวกับพระเจริญว่า พื้นที่แห่งนี้มีชาวไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาช้านาน ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความเข้าใจกันอย่างดี เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสถานการณ์ของผู้ไม่หวังดีหวังให้เ กิดความแตกแยกขึ้นมา       


 " พวกเราอยู่กันแบบพี่น้อง ไปมาหาสู่กันประจำ เพื่อนๆ ที่เป็นอิสลามมาซื้อของที่ร้านยายบ่อย เดินผ่านไปมาก็ทักทายกันประจำ พวกเราไม่ได้ขัดแย้งอย่างที่หลายคนเข้าใจ"


(อ้างถึง ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในผู้จัดการออนไลน์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ๒๒.๒๑ น. เรียบเรียงใหม่โดยผู้เขียนบทความนี้)


 


 



 


ทั้งนี้  มิพักจะต้องกล่าวถึง ประเด็นที่เป็นช่องว่าง หรือ "โอกาส" ของการก่อเหตุ หรือช่องทางของการสร้างสถานการณ์ เช่น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในพื้นที่ กล่าวกับสื่อบางประเภทว่าพื้นที่เกิดเหตุเดิมมีความสงบสุขมายาวนาน และไม่มีท่าทีที่ส่อว่าจะเกิดความรุนแรง ก่อนหน้านี้จึงถอนกำลังออกไปดูแลรักษาความสงบให้พื้นที่อื่น ซึ่งจำเป็นกว่า จนทำให้ขณะเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่ามีกำลังทหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นอยู่รักษาความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด


 


หรือที่ลึกและมากไปกว่านั้น ดังปรากฏในบางสื่อมวลชนอีกเช่นกัน ว่านอกเหนือจากการเป็นเด็กวัดหรือศิษย์พระแล้ว นายหาญณรงค์ คำอ่อง  เด็กวัดที่เสียชีวิตคนหนึ่ง ยังเคยผ่านหลักสูตรการอบรม     อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) มาแล้วอีกด้วย  อีกทั้งในคืนที่เกิดเหตุ เด็กหนุ่มคนนี้ยังสวมเสื้อของ อปพร. อยู่กับตัว โดยที่เด็กวัยรุ่นในกลุ่มเดียวกันกับผู้ตายระบุว่า พวกเขามักไปเล่นเกมและเล่นกีต้าร์กันที่วัดและกุฏิพระที่เกิดเหตุ ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีแง่มุมให้คิด ให้พิจารณาเพิ่มขึ้น ถึงความเหมาะควร หรือไม่และอย่างไร อยู่ในที


 


ซึ่งจะว่าไปแล้ว สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ล้วนแต่บอกเล่าอะไรได้มากไปกว่าความเป็น "พุทธ - มุสลิม" หรือความเคียดแค้นชิงชังที่จะตามมาหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งบางฝ่ายอยากให้มี อยากให้เป็น หรืออยากให้เกิดขึ้นอย่างมากมายนัก


 


ซึ่งหาก "ความไม่มีปัญหามาก่อน" และ/หรือ ความซับซ้อนของเหตุปัจจัย เป็นเรื่องที่คู่ควรแก่การพิจารณาอย่างแยบคาย คำถามก็คือ ยังมีอีกกี่พื้นที่ ที่มีสภาพการณ์เช่นนี้ และมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้โดยง่าย และสำคัญหรือยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ก็คือ เมื่อจำเป็นต้องประสบหรือเกี่ยวข้องกับ "เหตุ" เช่นนี้  เราทั้งหลาย "จะทำอย่างไร" กับปรากฏการณ์หรือผลที่เกิดขึ้น ที่เหมาะควร ดีงาม และยิ่งใหญ่ ไปให้ไกลเสียกว่าการที่จะมัวเคียดแค้นชิงชัง หรือก่นด่าประณาม จนลืมเรียนรู้ให้ลึกลงไปในรายละเอียด ชนิดที่เพียงพอต่อการสรุปบทเรียนในบั้นปลาย


 


แน่ล่ะ ว่าการ "ฆ่าพระ" ฆ่าเด็กวัด"  การเผาอุโบสถ การเผากุฏิสงฆ์ เป็นความโหดร้ายและทารุณชนิดที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ ถึงวินาทีนี้ "สิ่งนี้" ได้เกิดขึ้นแล้ว และกล่าวอย่างถึงที่สุด "เราทุกคน" ก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ไม่มากหรือน้อยไปกว่ากัน


 


ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม และอย่างพยายามลดทอนความรุนแรง หรือมุ่งสร้างและส่งเสริมสันติสุข จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนหรือทุกฝ่ายน้อมนำมาปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุด ก็ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมราชินีนาถได้ทรงชี้แนะเอาไว้ ในหลายกรรมหลายวาระ


 


จะว่าไปแล้ว นี่นับเป็นอีกบททดสอบหนึ่งซึ่งมีความสำคัญยิ่ง และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ อย่างมิอาจปฏิเสธได้ สำหรับกระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างที่เชื่อ หรือที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน


 


เมื่อเรามีรากฐานและโครงสร้างซึ่งยังเป็นที่ยอมรับว่าสามารถ "ใช้งานได้"  ก็จำเป็นอยู่เอง ที่เราจะใช้สิ่งเหล่านั้นเป็น "เครื่องมือ" ในการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติงาน


 


และโดยนัยเดียวกัน หากเราเห็นตรงกัน ว่าโครงสร้างและรากฐานดังกล่าว เป็นสิ่งที่คนในยุคร่วมสมัยมิอาจใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ชอบอยู่เอง ที่จะใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการแก้ไขทั้งโครงสร้างและรากฐานเหล่านั้นให้ใช้งานได้อย่างมี "ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล" ยิ่งขึ้น จนสมแก่เจตนารมย์


 


จะอย่างไรก็ตาม "บ้าน" และ "เมือง" ต่างก็ "มีขื่อ-มีแป" และย่อมมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วัดพรหมประสิทธิ์  จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องหันกลับมาตรวจสอบและทบทวนทั้งตนเองและผู้อื่นกันให้มากเข้าไว้


 


ว่า...


 


ในฐานะ "ศาสนิกชน" เราทั้งหลายมอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ "ตัดสิน" ความถูกต้องและดีงาม แทนพระผู้เป็นเจ้า หรือคอยชี้ทาง ดับทุกข์ - สร้างสุข ให้แก่เรา แทนหลักธรรมคำสอนของศาสดาไปเสียแล้วละหรือ


 


และในฐานะ "สมาชิกของสังคม" เราทั้งหลายได้มอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง หรือคณะ หรือพรรคการเมืองหนึ่ง กระทำการใดๆ ตามอำเภอใจเสียแล้วหรือ


 


แผ่นดินจึงลุกเป็นไฟขึ้นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


 


จะว่าไปแล้ว สิ่งนี้แหละ ที่หมายถึงหรือจะเป็น "บททดสอบ" อันสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย


 


ว่าถึงขั้นนี้แล้ว "เรา" ซึ่งหมายถึง "ศาสนิกชนทั้งหลาย"  จะมี "ส่วนร่วม" หรือ "ละทิ้ง" กันแค่ไหน และอย่างไร...