Skip to main content

ส.ว.ในอุดมคติของรัฐธรรมนูญ?

 


 


 


สัปดาห์ที่แล้วที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาไม่รับญัตติของ ส.ว.แก้วสรร อติโพธิ สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ที่ให้ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ เมฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


 


ที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยที่จะนำญัตติเข้าสู่การพิจารณา เพราะเป็นสมัยประชุมนิติบัญญัติไม่ใช่สมัยประชุมทั้งไป


 


ผมเองไม่เห็นด้วยกับที่ประชุมเสียงข้างมาก เพราะอยากจะให้ที่ประชุมวุฒิสภาแสดงจุดยืนอย่างเด่นชัดว่า คิดเห็นอย่างไรกับการสรรหาผู้ว่า สตง.


 


เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากวุฒิสภา  วุฒิสภาเป็นผู้ก่อต้องเป็นผู้แก้ปัญหา  ที่เกิดปัญหาเนื่องจากวุฒิสภาไม่มีจุดยืนของตัวเอง กลับมติไปมา ก็เลยทำให้เกิดความสับสน


 


เคยลงมติเลือกคุณหญิงจารุวรรณเป็นผู้ว่า สตง.  เนื่องจาก พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒  กำหนดให้คณะกรรมการ คตง. เสนอบัญชีรายชื่อให้กับประธานวุฒิสภา


 


คณะกรรมการ คตง.เมื่อส่งบัญชีรายชื่อมาให้วุฒิสภา วุฒิสภาก็ลงมติเลือกคุณหญิงจารุวรรณ  เมฑกา   แต่เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง  แต่ไม่ได้ตัดสินว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นตำแหน่งหรือไม่ ก็เลยเกิดปัญหา


 


เพราะตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะพ้นจากตำแหน่งนั้นในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้คือ ต้องลาออก ตาย ครบวาระ หรือทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น


 


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ตัดสินในประเด็นที่แน่ชัดว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งหรือไม่


 


คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินก็เลยมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าคุณหญิงจารุวรรณยังเป็นผู้ว่าสตง.อยู่หรือไม่


 


ขอเรียนว่าหลายครั้งที่วุฒิสภากลับมติไม่มีจุดยืนของตนเอง  กฎหมายหลายฉบับลงมติต่างกัน  ทั้งๆ ที่น่าจะลงคะแนนให้เหมือนกัน!


 


เช่น พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัยที่เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา มีการแก้ไขในประเด็นที่ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน


 


ที่ประชุมวุฒิสภาจึงมีการเสนอกับรัฐบาลว่าน่าจะส่ง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยภาครัฐโดยรวม แล้วให้อำนาจฝ่ายบริหารไปออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการในมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะออกนอกระบบ


   


ผมเองเสียใจที่วุฒิสภาทำให้ท่านผิดหวัง  ในการทำงานหลายอย่างที่ผ่านมา


 


หลายท่านบอกว่า วุฒิสภาน่าจะมีความเป็นกลางให้มากกว่านี้  บางท่านก็เสนอว่าไม่น่าจะมีวุฒิสภาด้วยซ้ำ  เพราะวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งสอบตก ในแง่ของการทำงานให้คุ้มค่า และผลงานหลายประการไม่ประทับใจ


 


ผมเองก็ยอมรับอย่างยิ่ง เพราะผมเองก็ไม่ประทับใจในวุฒิสภาชุดแรกนี้ !


 


ผมเองทำนายได้เลยว่าสมัยหน้า วุฒิสภาจะเป็นสภาร่างทรงของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน  วุฒิสภาชุดหน้าจะมีการประท้วง มีหลายๆอย่างที่จะไม่แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร  จะมีส.ว.ฝ่ายค้าน ส.ว.ฝ่ายรัฐบาล


 


เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมชักจะเห็นด้วยกับคำวิจารณ์แล้วว่า เราจะมีวุฒิสภาไปทำไม   ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีร่างทรงของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกี่คนในวุฒิสภา