Skip to main content

เพราะสูญเสียจึงได้รับชัยชนะ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เมื่อฝ่ายหนึ่งมีปืน   แต่อีกฝ่ายมีแค่มือเปล่า   ฝ่ายแรกย่อมเป็นฝ่ายเหนือกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย  แต่ความเหนือกว่านั้นอาจเป็นแค่ความเหนือกว่าในทางพลกำลัง (หรือการยุทธ) เท่านั้น   ความเหนือกว่าในทางพลกำลังอาจเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะในการต่อสู้กลางป่าลึกหรือในสมรภูมิที่ชุลมุน  แต่บนเวทีกลางแจ้งหรือบนท้องถนนที่มีผู้คนจับจ้องอยู่เป็นจำนวนมาก  การใช้ปืนหรือมีดทำร้ายคนที่มีแค่มือเปล่า   กลับเป็นการทำลายความชอบธรรมของฝ่ายที่ใช้กำลังไปในเวลาเดียวกัน   ฝ่ายที่ใช้กำลังอาจมีชัยในทางการยุทธ แต่ย่อมพ่ายแพ้ในทางการเมือง เพราะจะมีสักกี่คนที่เห็นด้วยกับการกระทำของเขา โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายที่ไร้อาวุธสามารถตอบโต้ด้วยกำลังได้ แต่ไม่ยอมทำเช่นนั้น


 


ความเหนือกว่าในทางพลกำลังไม่ใช่สิ่งเดียวที่ชี้ขาดชัยชนะ    แม้จะสังหารผู้คนจนล้มตายเป็นจำนวนมากก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะประสบชัยชนะ  ในทางตรงข้ามแม้จะเสียผู้คนไปหลายคนก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือความพ่ายแพ้   ประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าบ่อยครั้งฝ่ายที่ล้มตายไปเป็นจำนวนมากกลับประสบชัยชนะในที่สุด  ในขณะที่ฝ่ายที่สามารถฆ่าคนได้มากมายกลับเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้  


 


ในปี ๒๕๐๖ ชาวพุทธในกรุงเว้ประเทศเวียดนามได้ประท้วงประธานาธิบดีโงดินเดียมอย่างสันติ  แต่กลับถูกปราบปรามอย่างรุนแรง  ผลคือรัฐบาลถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากนานาประเทศรวมทั้งจากวาติกัน    แม้แต่สหรัฐก็ถอนความสนับสนุนจนรัฐบาลถูกโค่นไปในที่สุด  นักสังเกตการณ์ผู้หนึ่งได้กล่าวว่า "ความอ่อนแอในทางกายภาพของชาวพุทธเป็นจุดแข็งทางจริยธรรมของพวกเขา หากพวกเขามีปืน พวกตระกูลโงดินเดียมย่อมสามารถบดขยี้พวกเขาได้ โดยที่จะไม่มีใครในเวียดนามหรือที่ไหน ๆ ในโลกสนใจพวกเขา  พวกเขาได้พิสูจน์ว่าการไม่ป้องกันตนเองเลยทำให้ไม่มีใครเอาชนะได้"


 


ในอินเดียจุดพลิกผันที่ทำให้ขบวนการเรียกร้องเอกราชของคานธีได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามเกิดขึ้นเมื่อทหารอังกฤษกราดปืนกลสังหารชาวอินเดียที่มีแค่มือเปล่ากลางวิหารเมืองอมฤตสระในปี ๒๔๖๒  จนมีผู้คนล้มตายหลายร้อยคน บาดเจ็บนับพัน   นับแต่นั้นความชอบธรรมของอังกฤษในอินเดียก็ถูกบั่นทอนจนหมดสิ้นไปในที่สุด


 


ในปี ๒๕๐๔ ชาวอเมริกัน ๑๓ คนเดินทางด้วยรถประจำทางไปตามเมืองต่าง ๆ ในภาคใต้ของสหรัฐเพื่อคัดค้านการเหยียดผิว แต่ถูกคนขาวต่อต้านอย่างรุนแรง รถถูกเผา สมาชิกถูกรุมทุบตีอย่างโหดร้าย  แต่ผลที่ตามมาคือประชาชนตื่นตัวทั่วปรเทศ  นอกจากจะให้กำลังใจสนับสนุนแล้ว หลายคนยังเสนอตัวร่วมขบวนการดังกล่าวด้วย


 


ในการเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม  หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการบาดเจ็บล้มตาย  เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าหากต่อสู้ด้วยสันติวิธีแล้วจะไม่มีการสูญเสีย  (แม้อยู่เฉย ๆ หรือยอมจำนนก็ยังสูญเสียเลยมิใช่หรือ)   แต่ความสูญเสียจากการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นไม่เคยเป็นความสูญเปล่า  หากสามารถก่อให้เกิดชัยชนะทางการเมืองได้เสมอ  โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายนั้นใช้วิธีการที่รุนแรงอย่างปราศจากความชอบธรรม กรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นตัวอย่างที่เราไม่ควรลืม  กรณีสังหารโหดนาวิกโยธินสองคนที่บ้านตันหยงลิมอก็เช่นกัน   ความสูญเสียบุคคลทั้งสองได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รับความเห็นใจอย่างท่วมท้นจากประชาชน    เป็นชัยชนะทางการเมืองที่รัฐบาลไม่เคยประสบมาก่อนนับแต่เกิดเหตุปล้นปืนที่นราธิวาสเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะประชาชนได้รับรู้ว่านาวิกโยธินทั้งสองแม้สามารถจับอาวุธขึ้นต่อสู้การล้อมจับได้แต่ก็ไม่ทำ   ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่ทำการเจรจากับชาวบ้านก็พยายามใช้สันติวิธี โดยปฏิเสธการใช้กำลังกับชาวบ้าน    ผลก็คือทันทีที่สังหารนาวิกโยธินทั้งสองฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็พ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่


 


มองเผิน ๆ การมีแค่มือเปล่าถือว่าเป็นจุดอ่อนของสันติวิธี โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายมีอาวุธร้ายแรง   แต่มองให้ลึกลงไป การมีแค่มือเปล่านั่นแหละเป็นจุดแข็งของสันติวิธี เพราะทำให้อีกฝ่ายอยู่ในภาวะที่ลำบาก เนื่องจาก ๑.ไม่สามารถใช้ความรุนแรงกระทำได้อย่างเต็มที่ (ดังนั้นจึงต้องพยายามยั่วยุให้ผู้ใช้สันติวิธีเปลี่ยนมาใช้อาวุธ แม้จะเป็นก้อนหินก็ยังดี)  ๒.หากใช้ความรุนแรงเมื่อใด ก็จะสูญเสียความชอบธรรม  แนวร่วมตีจาก  ส่วนผู้ที่วางตัวเป็นกลางก็หันไปให้ความสนับสนุนแก่ผู้ถูกทำร้ายที่ใช้สันติวิธี


 


การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพลังของสันติวิธีเป็นสิ่งที่คนไทยและรัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและนำมาใช้ให้เกิดผลอย่างเต็มที่   โดยพยายามใช้สันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์นำเพื่อสะสมชัยชนะทางการเมืองและเสริมสร้างความไว้วางใจจากประชาชน  ขณะเดียวกันก็พยายามละเว้นการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะในกรณีที่ปราศจากความชอบธรรม (แม้จะถูกกฎหมายก็ตาม)    


 


ที่แล้วมา  รัฐบาลตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองเพราะไม่เห็นคุณค่าของสันติวิธี แต่เชื่อมั่นในความรุนแรง  กรณีกรือเซะ  ตากใบ  เป็นบทเรียนราคาแพงที่ย้ำเตือนว่าความรุนแรงนั้นสามารถส่งผลย้อนกลับมาบั่นทอนตนเองได้   อย่าลืมว่าหากฟาดแขนกับอากาศอย่างรุนแรง อะไรจะเกิดขึ้นหากมิใช่กระดูกเคลื่อนและปวดร้าว 


 


นี้คือจุดอ่อนและจุดแพ้ของความรุนแรงที่เราควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด


 


(เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)