Skip to main content

อีกหน้าหนึ่งของบันทึก "ช้างเร่ร่อน"

คอลัมน์/ชุมชน


 


วันฝัน


 


ตอนนี้เป็นเวลาพัก…ไม่มีตำราเรียน...ไม่มีอาจารย์...ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียน....แต่ชั่วขณะหนึ่ง มีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น นั่นคือ "ความรู้สึกเบื่อ อยากไปที่ไหนก็ได้" แต่ทำไมความรู้สึกเมื่อครู่กลับกลายเป็นความผ่อนคลาย เมื่อข้าพเจ้าเดินเหม่อไปหยุดอยู่ที่โซนหนังสือนิยาย วรรณกรรม เรื่องสั้น ทั้งไทยและเทศ ในห้องสมุด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่า ข้าพเจ้าได้กลับมาพบเจอเพื่อนเก่าที่รักกันมากและอยากพบเจอมาตลอด เป็นความคุ้นเคยที่ไม่ได้สัมผัสเกือบสี่เดือนนับตั้งแต่กลับมาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วกับข้าพเจ้าในช่วงทำงาน ในหัวมีแต่เรื่องงาน จนทำให้ลืมกิจวัตรประจำวันที่เคยทำเป็นประจำนั่นคือ การเขียนบันทึก


 


สมุดบันทึกของข้าพเจ้าอาจจะดูแปลกๆ ไปหน่อย เพราะข้าพเจ้าจะเขียนเฉพาะช่วงเวลาที่สวยงาม และบทเรียนที่ข้าพเจ้าได้รับจากเหตุการณ์นั้นๆ ข้าพเจ้าจะไม่เขียนในขณะที่จิตใจยังสับสนเพราะมันไม่สามารถช่วยอะไรได้เลยเมื่อต้องการกลับมาอ่านอีกครั้ง การใช้เวลาไตร่ตรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ การเขียนบันทึกแต่ละครั้งจึงเป็นเหมือนการบอกเล่าเรื่องราวให้กับคนอ่านไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง หรือใครก็ตาม บันทึกจึงไม่ใช่บันทึกลับ แต่มันเป็นบันทึกประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ


 


อยากแนะนำว่า อย่าหักโหมกับงาน หรือกับการเรียนมากนัก หาเวลาเติมเต็มความสุขเล็กๆ ให้กับตัวเองบ้าง ทำในสิ่งที่คุณรัก อย่าทิ้งมันไว้อย่างนั้น มันรอคุณอยู่เสมอว่า เมื่อไหร่เราจะได้พบกันและได้มีความสุขด้วยกันอีกครั้ง


 


                            


 


 


"จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ช้างไม่เหมาะที่จะเข้ามาเดินเร่ร่อนในเมือง เพราะเป็นอันตรายต่อตัวช้างมาก จึงสมควรมีการศึกษาหาทางแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างจริงจังโดยคิดถึงช้างเป็นหลัก เพราะปัญหาที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ช้างแต่อยู่ที่คน ควรแก้ที่คนก่อนว่า ทำไมต้องนำตัวเองและช้างมาเสี่ยงในเมืองหลวง และพวกเขาต้องการอะไร ควรเป็นไปในลักษณะประนีประนอมร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับช้าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน (ปางช้าง, มูลนิธิฯลฯ) ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของช้างเร่ร่อน (จ.สุรินทร์, จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ) เพื่อหาจุดยุติที่ดีที่สุดร่วมกัน เพราะควาญช้างกับช้างมีความผูกพันกัน ไม่ควรแก้ปัญหาโดยการแยกควาญออกจากช้าง เพราะช้างอาจได้รับอันตรายได้ และควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ มีการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดผลเป็นรูปธรรม และมั่นใจได้ว่า ช้างได้รับความคุ้มครองแล้ว"


 


นี่เป็นข้อเสนอแนะในการศึกษาจุดพักและเส้นทางเดินของช้างเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางส่วนฯ ในขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง


 


มีการตั้งคำถามมากมายกับข้าพเจ้าว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องราวของช้างเร่ร่อน มันไม่เห็นจะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เรียนอยู่สักเท่าไหร่ ข้าพเจ้าตอบไปว่า "เราชอบช้าง" เป็นความทรงจำที่ฝังใจตั้งแต่เด็กๆ เมื่อมีละครเร่ (เป็นการแสดงความน่ารักน่าชังของช้าง) ที่สนามโรงเรียนใกล้บ้าน และด้วยความซนส่วนตัว แทนที่จะอยู่ดูการแสดง กลับเดินทะลุเข้าไปด้านหลังรั้วแสดงที่ถูกล้อมไว้ด้วยพลาสติกผืนยาวรอบสนาม รู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อเห็นลูกช้างกำลังกินหญ้าอยู่อย่างอร่อย โยกตัวไปมา และร้องทักทาย อยู่ในคอกไม้


 


จำได้ว่า เราทักทายกันโดยลูกช้างยื่นงวงมาใกล้ใบหน้า ส่วนข้าพเจ้ายื่นมือไปลูบหัวลูกช้างที่มีขนยาวชี้เต็มไปหมด เรามองตากัน จากนั้นเพื่อนๆ ก็วิ่งตามเข้ามา พวกเราตื่นเต้นกันมาก แต่อยู่ที่นั่นได้ครู่เดียวแม่ก็เรียกให้ออกไปดูการแสดงต่อ เป็นคืนที่มีความสุขมาก และเป็นวันที่ข้าพเจ้าตอบตัวเองได้ว่า ดวงตาของข้าพเจ้าเหมือนใคร คำตอบก็คือ เหมือนช้างนั่นเอง นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ช้างจึงเป็นสัตว์ที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด


 


สำหรับตอนนี้คำถามที่เกิดขึ้นคงเป็น "แล้วทำไมถึงอยากเขียนบทความนี้" คำตอบก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะทำรายงานส่งอาจารย์นั้น ส่วนที่อยู่นอกกรอบการศึกษาที่ตั้งไว้ตอนต้น ไม่สามารถนำมาเขียนลงในรายงานได้ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสมันมีมากมายและล้วนเป็นส่วนที่อยู่นอกกรอบทั้งสิ้น


 


มันคือ ชีวิต ความผูกพัน และเงื่อนไขทางสังคม หากลองเปิดใจให้เป็นกลาง ก็จะเห็นว่า จำเลยสังคมตามหน้าหนังสือพิมพ์ บางครั้งก็ตรงข้ามกับความเป็นจริง แล้วเราใช้เครื่องมืออะไรในการตีความ "ความรู้สึก กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ศีลธรรม จรรยาบรรณ ฯลฯ" แล้วเครื่องมือเหล่านี้สามารถตีความได้กับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรม ความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน


 


หรือการแก้ปัญหาในปัจจุบันเป็นเพียงการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้าโดยไม่สนใจว่า อดีตที่งดงามเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือเป็นปัญหาในปัจจุบัน กำลังถูกแก้ปัญหาในรูปแบบที่คล้ายกัน นั่นคือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในความหมายของระบบทุน เมื่อความดีงามถูกเปลี่ยนเป็นต้นทุน มีการส่งเสริมรูปแบบการบริหารจัดการตามกลไกตลาด เชื่อว่า ในไม่ช้าความดีงามที่เราพูดถึงกำลังกลายพันธุ์เป็นคนละความหมายกับที่บรรพบุรุษเคยเคารพและนับถือปฏิบัติกันมา


 


อยากให้เราร่วมคิดกันว่า เรารับได้หรือเปล่ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และถ้าตอนนี้เราเป็นลูกหลานของกลุ่มคนเหล่านั้นเราจะทำอย่างไร ตัวอย่างเช่น ชาวกุย หรือส่วย ที่อดีตเขาเป็นกลุ่มคนที่ฝึกช้างให้กับกองทัพในการสู้รบกับข้าศึก แต่ปัจจุบันช้างไม่มีที่อยู่ คนไม่มีอาชีพ พวกเขาจึงหาวิธีที่เอาตัวรอด โดยบางกรณีมีอีกกลุ่มคนให้การสนับสนุน


 


ตัวอย่างที่สองเป็นปัญหาที่ดินของชุมชนประมงโบราณ ที่ร่อนเร่เพื่อมีชีวิตรอดจากธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง หากินอยู่บนพื้นน้ำ ไม่มีการจับจองที่ดิน แต่ในภาวะบีบบังคับในปัจจุบัน พวกเขาต้องขึ้นมาอยู่บนฝั่ง แต่ไม่มีที่ดินให้เขาอยู่ เพราะดินแดนที่พระเจ้าประทาน มีเจ้าของอ้างกรรมสิทธิ์ทุกตารางนิ้ว


 


ข้าพเจ้าคงไม่สามารถสรุปความคิดของแต่ละคนได้ แต่การได้คิดในมุมที่กว้างขึ้น ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยไปเลยก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนในสังคมควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัว  อย่างน้อยลูกหลานคนรุ่นต่อไปต้องประสบและเติบโตในสังคมนี้ต่อไป


 


และนี่เป็นข้อความสัมภาษณ์ขณะติดตามช้างเร่ร่อนและควาญ เมื่อปี 2545


 


"……..ผมขอเถอะ ผมให้ถ่ายรูปไม่ได้ ขนาดคุณหมออลงกรณ์ ผมยังไม่ยอมให้ถ่ายเลย ไม่ใช่ไม่ไว้ใจนะครับ แต่ผมเคยเจอมาแล้ว มีนักศึกษามาขอถ่ายรูปบอกว่าจะเอารายงานส่งอาจารย์ แต่เอาไปลงหนังสือพิมพ์ในทางไม่ดีกับพวกผม.........คุณเคยอ่านข่าวที่เขาลงว่ามีการทรมานช้าง เอาช้างไปใส่กรงแล้วเอาหอกแทงมั๊ย นั่นไม่ใช่พวกผม คนรักช้างอย่างพวกผมไม่ทำกันหรอก.......อยู่บ้านสบายกว่า มาอยู่นี่ลำบากแถมต้องทนให้คนด่า แต่ที่ทนก็อยากให้เขากินอิ่ม อยู่บ้านไม่มีอะไรให้เขากิน.......ที่นี่โดนค่าปรับแพงที่สุดแล้ว ปรับทีนึงก็ 1,000 กว่าบาท มีเหมือนกันที่มาขู่จะฟ้องพวกผม........."                           


 


 


สภาพท้องทุ่งหลังการเก็บเกี่ยว บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์


 


"เงินโครงการเหรอ ไม่เคยถึงช้าง"


 


 "............เสียใจเหมือนกัน ที่มีข่าวลงว่า พวกผมมีนายทุนสนับสนุนให้เอาช้างมาทรมาน ช้างผมไม่ใช่ช้างเช่า ช้างตัวนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่นตายาย ผมเกิดมาก็เห็นแล้ว ตอนนี้แก (ช้าง) อายุ 51 ปี แก่กว่าผม 10 กว่าปี แกเป็นเหมือนคนในครอบครัว.......ถ้าช้างตายก็ต้องเอากลับไปทำพิธีที่บ้าน (สุรินทร์) เอาศพไปฝัง นิมนต์พระมาสวด เพราะถือว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว"


 


 

 


หลังจากทำพิธีฝังศพช้าง เมื่อครบกำหนดจะมีการขุดเอากระดูกมาทำพิธีอีกครั้งและเก็บรวบรวมไว้ที่สุสานภายในวัด


 


"............เริ่มฝึกช้างตั้งแต่ออกนม ออกนมก็คือ ช้างไม่กินนมแม่แล้ว ก็ประมาณ 10 เดือน ลูกช้างฉลาด ฝึกง่าย ไม่ถึงเดือนก็พอฝึกได้แล้ว"


 


 "ช้างขี้หน้าบ้าน......(เสียงโวยวายจากหญิงวัยกลางคน)......จะเอายังไงกับเขา เขาเก็บให้แล้ว (หญิงวัยกลางคนอีกคนหนึ่งพูดตอบเมื่อเห็นควาญโกยมูลช้างใส่ถุงพลาสติกเพื่อนำไปทิ้งลงถังขยะ)....ช้างร้องขอบคุณ เป็นเพราะควาญเขาสอน ไม่ใช่เขาเจ็บ"


 


 "ควาญมันไม่ให้กินของเหลือที่พ่อค้าให้ มันจะเอาไว้ขายของมันเอง...... (พ่อค้าพยายามจะให้เปลือกแตงโมให้ช้างกิน แต่ควาญไม่ให้กินเพราะกลัวว่าจะมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่มาก อีกทั้งคุณหมอเคยสั่งไว้ว่า ก่อนให้ช้างกินแตงโม หรือผักอื่นๆ ต้องแช่น้ำ หรือล้างก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วช้างอาจมีอาการท้องร่วงได้ ซึ่งอันตรายมากสำหรับลูกช้าง)"


 


 ".........อย่าตีมัน ช้างมันเจ็บ.... (ควาญใช้กิ่งโสนตีที่ขาช้าง เพราะช้างตัวโตเริ่มซน).."


 


 ".........มึงเอาช้างมาทรมาน......."


 


 ".........ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องซื้อ เดี๋ยวจะเป็นการสนับสนุนให้เอาช้างมาเดิน (ฝรั่งพูดไทยได้ ห้ามเพื่อน)"


 


 "........น้องผมถูกคนเมาเอาค้อนมาไล่ทุบ เพราะน้องผมไม่ยอมให้ช้างกินโคนผักบุ้งที่คนเมาเอามาจากถังขยะ มายื่นให้ช้างกิน ทำให้ผมกับน้อง เดินซอยนั้นไม่ได้เป็นเดือน....."


 


"........เขาคิดว่าหลานผมจะไปจีบแฟนเขา หลานผมแค่เอาของไปขายเฉยๆ เขาวิ่งมาแต่ไกล ไม่พูดไม่จา ทั้งต่อย เตะหลานผม ผมต้องลงจากคอช้างมาห้าม บอกขอโทษเขา แต่เขาไม่ยอม ผมเลยโดนลูกหลงไปด้วย ผมจะทำไงได้ ก็ต้องอดทนไว้ ไม่อยากมีเรื่อง......."


 


 "...........ผมจะไม่ใช้ขอกับลูกช้างถ้าไม่จำเป็น ส่วนมากจะเอาไว้ขู่......."


 


 "...........วันนี้ช้างผมโดนใบสั่ง ข้อหานำช้างมาเดินในเขตกรุงเทพฯ และก่อความรำคาญ ถูกปรับ 200 บาท.......ถ้าความช่วยเหลือถึงตัวควาญ และช้างจริงๆ หางานให้ รายได้เหมาะสม สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ พวกผมก็เต็มใจ......"


 


"…….ปัญหาช้างเร่ร่อนเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ซับซ้อน และสามารถอธิบายสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อยากให้มองปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องที่มีคนเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย............"


 


...