Skip to main content

พิตุ่น ร่มไทรใหญ่แห่งบ้านห้วยหินลาดใน

คอลัมน์/ชุมชน

 


นับสิบปีที่ดิฉันรู้จักหมู่บ้านห้วยหินลาดใน โดยอาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง กรุณาแนะนำให้รู้จักว่าเป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างสมดุล แม่เฒ่าผู้เป็นหลักทางใจและปัญญาของทุกคนในหมู่บ้าน คือผู้ที่ดิฉันต้องไปเยี่ยมเยียนด้วยความเคารพรักดั่งญาติผู้ใหญ่ทุกครั้ง


 


คุณจันทราภา  นนทวาสี ผู้ปฏิบัติงานให้ ส.ว.เตือนใจ  ดีเทศน์  ซึ่งได้ช่วยดิฉันตั้งแต่เริ่มแนะนำตัวลงสมัคร ส.ว.ปลายปี ๒๕๔๒ เธอสนใจที่จะศึกษาวิจัยมิติทางจิตวิญญาณของชุมชนที่อยู่กับป่า จึงผูกพันกับชาวบ้านห้วยหินลาดในอย่างลึกซึ้ง ซึ่งดิฉันภูมิใจที่เธอกำลังศึกษาภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงที่อุ้มผางในเรื่องอาหารและสมุนไพร


 


เมื่อได้ทราบจากคุณจันทราภาว่าแม่เฒ่าผู้เป็นดั่งร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวบ้านห้วยหินลาดในเสียชีวิตลง แต่ด้วยภารกิจสำคัญทำให้ดิฉันไปร่วมงานศพไม่ได้ จึงมอบให้คุณจันทราภาเป็นตัวแทนไปร่วมพิธี เธอจึงเขียนเรื่องจากหัวใจศรัทธาต่อแม่เฒ่ามาฝากท่านผู้อ่านค่ะ


 


"แม่เฒ่าพิตุ่น แม่พ่อหลวงปรีชาตายแล้วครับ จะฝังศพวันพฤหัสฯที่จะถึงนี้"


 


โทรศัพท์จากหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ตอนเช้าของวันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ ทำให้หวนนึกถึงภาพแม่เฒ่าชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) รูปร่างเล็ก  แต่แข็งแรง ผู้มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเป็นนิจ


 


พิตุ่นหรือแม่เฒ่าตุ่น อายุ ๘๘ ปี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๗ คน พิจึงมีหลาน ๆ มากมายในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านปกาเกอญอเล็ก ๆ มีประชากรทั้งหมู่บ้านเพียง ๑๐๒ คน แต่ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนที่ยึดถือขนบธรรมเนียมและวิถีดั้งเดิมในการดำรงชีวิตอยู่อย่างอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ประกอบกับมีผู้นำที่ยืนหยัดโน้มพาให้ชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคทุนนิยมอย่าง พ่อหลวงปรีชาศิริ ผู้เป็นบุตรชายคนหนึ่งของพิตุ่น ทำให้ชื่อเสียงของหมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นที่รู้จักของคนภายนอก     ในฐานะหมู่บ้านที่สามารถรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะดูแลผืนป่าจำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ ด้วยจำนวนคนเพียงน้อยนิด


 


บ้านห้วยหินลาดใน นอกเหนือจากเป็นชุมชนที่ดูแลป่าผืนใหญ่ดีเด่นแล้ว การดำรงชีพของชาวบ้านในหมู่บ้าน มีการผลิตข้าวทั้งจากการทำนาและไร่หมุนเวียนเพื่อบริโภคภายในชุมชน มีพืชผักในไร่ที่เก็บกินได้ตลอดปี เช่น แตงกวา เผือก มัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาตลาดสด รายได้หลักของชาวบ้านห้วยหินลาดในมาจากการทำสวนชาหรือสวนเมี่ยง พืชเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก และปลูกแทรกตัวได้ในผืนป่ารอบหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีลูกพลับซึ่งได้จากการเสียบยอดพลับที่ส่งเสริมโดยโครงการหลวงเข้ากับต้นพลับป่าพันธุ์พื้นเมืองที่แข็งแรง ทนต่อโรคได้ดี นอกจากนั้นพื้นที่รอบสวนชา ยังอุดมไปด้วย ไผ่หก หวาย มะแขว่น มะนาว มะขามป้อม มะไฟ มะก่อ ฯลฯ  ซึ่งนำไปขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย


 


ด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันอย่างแน่นเฟ้นกับระบบการผลิตที่พึ่งพาและเกื้อกูลกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างลงตัว บ้านห้วยหินลาดในจึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการดูแลรักษาผืนป่าที่กลมกลืนกับการใช้ชีวิตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ผู้คนจากภายนอกที่มีโอกาสเข้ามาศึกษางานในหมู่บ้าน ล้วนมีความประทับใจกับการมาเยือนชุมชนเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ เพราะนอกจากเรื่องราวของงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ บ้านห้วยหินลาดในยังมีจุดเด่นอยู่ที่ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของปกาเกอญอ แม้จะผ่านคนรุ่นแล้วรุ่นเล่ามานาน


 


การธำรงรักษาสังคมดั้งเดิมอันดีงาม ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้อาวุโส ซึ่งล้วนแต่เป็นปูชนียบุคคลผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ดีงามสู่ลูกหลาน   หนึ่งในจำนวนผู้อาวุโสคนสำคัญของหมู่บ้าน  คือ พิตุ่น


 


พิตุ่น ไม่เพียงมีความสำคัญในฐานะเป็นแม่ของพ่อหลวงปรีชา ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทุกคนในหมู่บ้าน แต่ด้วยความที่เป็นคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่ว ด้วยวัย 80 กว่าปี พิยังคงเข้าป่าใกล้ ๆ หมู่บ้านเพื่อหาเก็บไม้ฟืนมาใช้เอง และตำข้าวกินด้วยตนเอง พิไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ จำพวกหมู ไก่ และไม่กินผงชูรส โดยบอกว่าไม่อร่อย อาหารหลักของพิ คือ น้ำพริกกับผักต่าง ๆ ที่เก็บจากไร่หรือป่า ยามมีคนภายนอกเข้ามาเยี่ยมชุมชน พิจะยิ้มแย้มแจ่มใส มาช่วยลูกหลานรับแขกทุกครั้ง แม้ไม่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาพูด แต่พิก็ส่งผ่านความรู้สึกเป็นมิตรด้วยภาษากายและภาษาใจ หลายครั้งที่มีคนขอถ่ายรูปกับพิ หรือถ่ายพิเดี่ยว ๆ แกมักจะขวยเขิน แล้วออกตัวว่า  ตนเองเป็นคนแก่แล้ว ไม่สวยไม่งาม ไม่ต้องถ่ายหรอก แต่ทุกคนก็มีโอกาสได้รูปของพิ ติดกล้องไปเสมอ


 


พิตุ่นเป็นคนอารมณ์ดี จึงเป็นที่รักใคร่ของลูกหลานทุกคน พิคอยสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาของชนเผ่าปกาเกอญอ ซึ่งมีหลักการสำคัญว่า มนุษย์เป็นเพียงผู้มาอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็ตายจากไป ขณะที่ธรรมชาติยังดำรงอยู่ มนุษย์จึงควรดูแลรักษาธรรมชาติอย่างกตัญญูรู้คุณ ลูกหลานในหมู่บ้านห้วยหินลาดในยึดถือหลักการดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น สร้างความปลาบปลื้มใจ คลายความวิตกกังวลในวันที่วาระสุดท้ายของพิตุ่นมาถึง พ่อหลวงปรีชาเล่าว่า "แม่จากไปด้วยอาการสงบ ค่อย ๆ หายใจช้าลงช้าลง ตายด้วยดวงตาและปากที่ปิดสนิท แสดงถึงการจากไปอย่างไม่มีความเป็นห่วงใด ๆ อีกแล้ว"


 


พิธีศพของพิตุ่น จัดขึ้นในบ้านของพิเอง มีการขับร้องบททา เพลงซอภาษาปกาเกอญอสลับกันระหว่างหญิง ชายเป็นเวลา 3 คืนเต็ม ๆ ผู้ร่วมพิธีศพ นอกจากคนในหมู่บ้านเอง ก็ยังมีผู้คน ญาติมิตรจากหมู่บ้านใกล้เคียงและไกลออกไป รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานผูกพันกับหมู่บ้าน เช่น โครงการบ้านจุ้มเมืองเย็น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ คณะทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นต้น ล้วนแต่เดินทางมาแสดงความอาลัยต่อการจากไปของพิ


 


สิบโมงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ เป็นเวลาที่กำหนดจะนำร่างของพิตุ่น เคลื่อนออกจากบ้านไปทำพิธีฝังยังป่าช้าของหมู่บ้าน พิธีฝังหรือเผาศพของบ้านห้วยหินลาดใน ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงในหมู่บ้านไปร่วมพิธีที่ป่าช้า เพราะสมัยก่อนพอร่วมพิธีกลับมา มักจะป่วยไข้ต้องรักษาและทำพิธีจนวุ่นวาย เนื่องจากขวัญของผู้หญิงอ่อนกว่าผู้ชาย จึงกำหนดเป็นกฏเอาไว้ให้รออยู่ที่บ้าน


 


ขบวนศพของพิตุ่น เริ่มด้วยผู้ชาย ๒ - ๓ คน ที่คอยสำรวจและเคลียร์เส้นทาง ตามด้วยชายที่สะพายย่าม ใส่ข้าวของที่พิใช้เป็นประจำกับอาหารการกิน ถ้วยชามที่ใช้ในพิธี ต่อด้วยโลงศพของพิที่ใช้ผู้ชาย ๔ - ๕ คนซึ่งเป็นลูกหลานที่ใกล้ชิดผลัดเปลี่ยนกันหาม ปิดขบวนด้วยผู้คนที่ร่วมพิธี


 


ระหว่างทาง ต้องวางโลงศพลงกับพื้น แล้วยกขึ้น ๓ ครั้ง ลง ๓ ครั้ง ตั้งแต่ออกจากหมู่บ้านจนถึงป่าช้ามีการยกขึ้นลง ๓ คราว เมื่อถึงทางที่ต้องหามโลงศพข้ามลำห้วยเล็ก ๆ ชายกลุ่มแรกก็จะนำด้ายสายสิญจน์โยงข้ามน้ำ แทนสะพานให้วิญญาณข้ามไป


 


ป่าช้าของหมู่บ้านห้วยหินลาดในตั้งอยู่บนเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน เป็นป่าที่อนุรักษ์ไว้ประกอบพิธีเผาหรือฝังศพ สภาพป่าสมบูรณ์เนื่องจากไม่ค่อยมีคนตาย เหตุที่ร่างของพิต้องฝังก็เพราะสามีของพิ ซึ่งตายไปก่อนก็ถูกฝังเช่นกัน ชาวบ้านมีความเชื่อว่า สามีภรรยาหากตายไป คนตายก่อนถูกฝังหรือเผา อีกคนก็ต้องประกอบพิธีเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นคนทั้งคู่จะไม่ได้พบกันอีก


 


หลังจากดูทำเลอันเหมาะสม บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ มีแสงแดดส่องถึง บรรดาลูกหลานและชายที่แข็งแรงก็พากันขุดหลุมโดยวัดขนาดจากโลงศพ ส่วนคนที่สะพายย่ามข้าวของของพิ ก็ทำการจัดวางข้าวของพิงกับต้นไม้ใหญ่ ทั้งของใช้ส่วนตัว มีด อาหารการกิน เมี่ยง ยาสูบ เมล็ดพันธุ์พืชนานาชนิด โดยภาชนะที่รองรับเป็นถ้วยชามที่ซื้อมาใหม่ แต่ต้องทำให้แตกหรือบิ่นเสียก่อนเพราะเป็นของใช้คนตาย ในส่วนของพวงหรีดและซองทำบุญก็ทำการเผาไฟ


 


เมื่อขุดหลุมได้ขนาดที่ต้องการแล้ว มีการจุดเทียนที่ฟั่นเอง ลนให้ทั่วหลุม เพื่อให้สัตว์ร้ายหรือสิ่งไม่ดีออกไป แล้วจึงยกโลงศพวางในหลุมพร้อมผ้านุ่ง เครื่องนอนและฝังกลบจนมิดชิด แล้วใช้ไม้ไผ่ปักไขว้ไว้บนหลุมศพลักษณะเป็นจั่วของบ้านหลังใหม่ให้พิ


 


เสร็จพิธีการฝังแล้ว ผู้มาร่วมในขบวนเคลื่อนศพ ต้องหักกิ่งไม้แห้งถือไว้ด้วยมือซ้ายโยนทิ้งทางด้านซ้ายของตัวเอง แล้วเด็ดกิ่งไม้สดจากบริเวณที่ฝังศพเดินโดยไม่หันหลังกลับไปมองจนกว่าจะถึงหมู่บ้าน จึงวางกิ่งไม้สดบริเวณที่ตั้งโลงศพในบ้าน และล้างมือ ลูบหน้าและผมด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย จบลงด้วยการมัดมือจากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน


 


การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของพิตุ่น สร้างความโศกเศร้าอาลัยให้กับลูกหลานและคนเคยรู้จักกับพิ บ้านที่เคยเป็นของพิ จะถูกรื้อถอนเพื่อนำไม้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน เป็นการอุทิศส่วนกุศลไปยังดวงวิญญาณของพิ วาระสุดท้ายของพิให้แง่คิดถึงการกลับคืนสู่ธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเมื่อยังมีชีวิตอยู่อาจจะดิ้นรนไขว่คว้าทรัพย์สมบัตินอกกายไว้มากมาย แต่เมื่อวาระสุดท้ายมาถึงก็ได้เพียงหลุมฝังศพขนาดพอดีตัว สิ่งที่จะทำให้ผู้คนจดจำได้ มีเพียงคำสั่งสอนอันดีงามที่ลูกหลานของพิยังคงยึดมั่นอยู่ตลอดไป








หมายเหตุ:

 


พิ เป็นคำนำหน้าชื่อใช้เรียกย่าหรือยายในภาษากะเหรี่ยง



พ่อหลวง เป็นคำที่คนในภาคเหนือบางจังหวัดใช้แทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน