Skip to main content

ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ บทพิสูจน์เรื่อง สิทธิบัตรยา

คอลัมน์/ชุมชน

ปลายฝนต้นหนาว ช่วงแห่งการระบาดของไข้หวัดนก  ซึ่งกลับมาเยือนเมืองไทยอย่างสง่าผ่าเผย


 


กลับมาคราวนี้ เริ่มด้วยการคร่าชีวิตชาวบ้านจนๆ คนหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี จะด้วยความจนไม่มีอาหารเพียงพอกินเมื่อมีไก่ได้มาฟรีๆ หรือเพราะความคึกคะนองอยากท้าทายความตายแม้ญาติจะเตือนแล้วไม่ให้กินไก่ที่เหงาตาย หรือจะอะไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นคือเชื้อไข้หวัดนกเริ่มระบาดอีกครั้งแล้วและเริ่มด้วยความตาย


 


ท่ามกลางข่าวว่าพบไข้หวัดนกระบาดบางแห่งในยุโรป โดยที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าหากมีการกลายพันธุ์เป็นเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คน จะทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกได้เพราะเป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในคน หากกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อระหว่างคนง่ายๆ ด้วยละอองน้ำลาย น้ำมูก ที่ล่องลอยในอากาศที่มาจากการไอ การจามของคนที่มีเชื้อ การระบาดจะรุนแรงอาจเทียบเท่าการระบาดเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1918-1919 (2461-2462) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 50 ล้านคน อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกก็ให้คำยืนยันว่า หากมีการระบาดจริงตัวเลขคงไม่เกินสองล้านคน ซึ่งก็นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร


 


ไข้หวัดนกเองยังไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนป้องกัน เพียงแต่รักษาตามอาการ พยุงให้ร่างกายสู้กับอาการได้ โดยเฉพาะอาการทางปอด แต่หากเชื้อมีความรุนแรงมากขึ้นจะทำลายระบบต่างๆ ในร่างกายมากกว่าระบบหายใจ จะไปที่อวัยวะภายในอื่นๆ รวมทั้งสมองด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ก่อนจะยิ่งมีความรุนแรง ในที่นี้รวมถึงผู้สูงอายุและเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว กรณีที่มีคนไข้นอนอยู่ในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก แล้วกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า มียารักษาคือโอเซลทามิเวีย (Oseltamivir) หรือชื่อการค้าคือทามิฟูล (Tamiflu) นั้น


 


จากการลองค้นหาข้อมูลดูในเว็บไซต์ http://www.tamiflu.com/consumer_treatment.asp พบว่าเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ในคน ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus)  และมียาอีกชนิดที่ใช้รักษาเหมือนกันคือ ซานามิเวีย (Zanamivir) http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/uspdi/500004.html  เป็นยาใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องรักษาให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมง จึงจะได้ผล  ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกยังไม่มี มีแต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ http://www.cdc.gov/flu ซึ่งคนฝรั่งแนะนำให้ประชากรของตนเองที่มีความเสี่ยงฉีดอยู่แล้วทุกปี คือผู้สูงอายุ กับเด็กๆ อายุ 6 เดือนขึ้นไป วัคซีนนี้ต้องฉีดทุกปี และตัววัคซีนจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส  ไวรัสไข้หวัดใหญ่ปรับสายพันธุ์ได้เร็ว และไม่ได้หมายความว่าป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่หากคนที่ฉีดวัคซีนได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่จะป่วยรุนแรงไม่มากนัก


 


สิ่งที่ประเทศอเมริกาและยุโรปกังวลกัน คือการเตรียมการป้องกันประชากรของเขาให้ปลอดภัยจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จึงมีการเตรียมการสำรองยารักษาไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไว้ แต่ก็ยังพบว่ามีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนที่ต้องการทั้งนี้เพราะบริษัทผลิตให้ไม่ทัน บริษัทยาสัญชาติสวิส คือบริษัทโรช (Roche) คือเจ้าของสิทธิบัตรยาทามิฟูล (Tamiflu) ที่ไม่ยอมมอบสิทธิบัตรให้บริษัทยาอื่นๆ ช่วยทำการผลิต เพื่อให้ได้จำนวนเพียงพอสำหรับเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาด ได้แต่บอกว่าจะทำการผลิตเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการและประกาศเปิดโรงงานใหม่ในประเทศอเมริกา  สัญญาว่าจะทำการผลิตในกลางปีหน้า ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มจากปัจจุบันสิบเท่า ซึ่งสมาชิกรัฐสภาของอเมริกาได้ออกมาขู่บริษัทว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหากบริษัทโรช ไม่ยอมมอบสิทธิบัตรให้บริษัทอื่นๆ ช่วยผลิต ซึ่งอเมริกาเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง กับยารักษาโรคแอนแทรกซ์ เมื่อปีพ.ศ. 2544  ที่ขบวนการก่อการร้ายใช้ขู่ว่าจะปล่อยให้แพร่กระจายในอเมริกา  โดยบังคับใช้สิทธิผลิตเอง ขณะนั้นเจ้าของผู้ผลิตยารักษาแอนแทรกซ์ คือ บริษัทไบเออร์ (Bayer) 


 


กรณีนี้ยาเป็นสินค้าที่มีสิทธิบัตร หมายความว่าบริษัทที่คิดค้นมีสิทธิผูกขาดผลิต ขาย กำหนดราคา เพียงผู้เดียวในเวลา 20 ปี ใครจะผลิตเลียนแบบขายไม่ได้ อันนี้เป็นข้อตกลงของประเทศสมาชิกร้อยกว่าประเทศในองค์กรการค้าโลก ดับบลิวทีโอ (WTO:World Trade Organisation) ที่ยอมให้ยาเป็นสินค้าและออกกฎกติกาให้ด้วยคือการให้สิทธิบัตรเป็นการผูกขาด แต่เมื่อเกิดกรณีทุพภิกขภัย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนกระบาด  มีความต้องการยาจำนวนมาก แต่บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรก็ไม่ยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิ  ก็ย่อมจะเกิดปัญหาอย่างเช่นทุกวันนี้  ที่สุดแล้วทางอเมริกา หรือประเทศพัฒนาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการผลิต คงต้องดำเนินการบังคับใช้สิทธิจนได้


 


ทั้งนี้ เพราะในข้อตกลงของสมาชิกดับลิวทีโอ ที่แม้จะให้สิทธิผูกขาดแต่ก็เปิดช่องไว้ว่าหากมีเหตุรุนแรงทางสุขภาพ ต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาล หรือบริษัทอื่น  บังคับใช้สิทธิผลิตยานั้นๆ ได้ โดยบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรห้ามไม่ได้ แต่สามารถได้รับค่าสิทธิตอบแทนบ้างตามสมควร


 


สิทธิบัตรยา เป็นอุปสรรคต่อการรักษาชีวิตมนุษย์ได้เช่นนี้เอง  กรณีที่ไทยกำลังเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับอเมริกา สิ่งที่ไทยต้องยอมสูญเสียคือเรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิในพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ให้บริษัทยาผูกขาดได้นานมากกว่า 20 ปี ซึ่งเกินเลยจากข้อตกลงในดับบลิวทีโอ ไทยจะยังยอมแลกชีวิตคนไทยในการเจรจาครั้งนี้หรือ ขณะที่ไข้หวัดนกกำลังระบาด และไม่รู้ว่าเมื่อไรไข้หวัดนกที่ระบาดจากคนสู่คนเหมือนไข้หวัดใหญ่จะระบาดในคนไทย ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ ไทยจะจัดหายามารักษาสำหรับคนไทยได้เพียงใด แม้มีเงินก็สั่งซื้อไม่ได้เพราะบริษัทผลิตไม่ทัน หรือจะบังคับใช้สิทธิผลิตเองก็ไม่มีศักยภาพจะทำ จะบังคับใช้สิทธิให้บริษัทอื่นในต่างประเทศผลิตให้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นที่ใด 


 


เหล่านี้คือความยุ่งยากที่เห็นๆ กันอยู่  เช่นนี้แล้วเราจะยอมแลกเรื่องนี้ในการเจรจาเอฟทีเอไทยสหรัฐอีกหรือ