Skip to main content

รัฐวิสาหกิจดีเด่น ?!

คงจำกันได้  ว่ามีการแจกรางวัลให้กับรัฐวิสาหกิจดีเด่นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผมขอถือโอกาสชมเชยรัฐวิสาหกิจที่ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง


ปกติเราจะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจจะใช้อำนาจการผูกขาดในการทำกำไร และมักจะไม่ค่อยเห็นรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรถึงแม้ว่าจะมีอำนาจผูกขาดไว้ในมือ


ผมขอเรียนว่า รัฐวิสาหกิจที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงานอย่างน่าชมเชย คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งสามารถทำกำไร และยืนหยัดสู้กับธนาคารของเอกชนอย่างน่าภูมิใจ


ผมชมเชยในฐานะที่เป็นกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่..... พ.ศ. ....ของวุฒิสภา  เพราะเห็นความสามารถของผู้บริหารและพนักงาน ที่ตั้งใจทำงาน และฟันฝ่าพายุแห่งการแข่งขันที่สูงยิ่ง และไม่ได้ใช้อำนาจในการผูกขาดการทำกำไร


พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ขอแก้ไข  ก็เป็นการเสนอให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าในการกู้เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ใช้ในบ้าน  ประเด็นที่มีการอภิปรายในกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ต้องไม่ลืมจิตวิญญาณในการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยเป็นหลัก


และให้ระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบกิจการบ้านจัดสรร  ขอให้เน้นเรื่องปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยเพราะไม่เสี่ยง  จะเห็นได้จากการที่ไม่มีใครให้ยึดบ้านได้ง่ายๆ ต้องกัดฟันผ่อนจนสุดความสามารถ


ขอเรียนว่า มีการแจกรางวัลให้กับรัฐวิสาหกิจโดยคณะกรรมการพิจารณาหลายราย แต่ผมเรียนว่าในกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ยินดีมากนักในรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรโดยการผูกขาด  เช่น ปตท. ซึ่งทำกำไรเป็นแสนล้านบาท แต่ ปตท.มีสิทธิในการคิดค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ


ท่อที่ใช้ในการส่งก๊าซธรรมชาติของไทยนั้นผูกขาดโดย ปตท. และปตท.ก็คิดค่าผ่านท่อกับทุกบริษัทในราคาที่ไม่ได้ต้องแข่งขันกับใครเลย   ทั้งๆ ที่บอกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเน้นให้มีการแข่งขัน และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน  แต่ ปตท. ได้ใช้สิทธิที่เป็นเจ้าของท่อเพียงรายเดียวที่ผูกขาดอยู่คิดค่าผ่านท่ออย่างเมามัน ทำกำไรปีละเป็นแสนล้าน


ทุกธนาคารในประเทศไทยรวมกันยังกำไรน้อยกว่า ปตท.เพียงเจ้าเดียว!


แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ตำหนิได้อย่างไรว่าค้ากำไรเกินควร  ที่สำคัญการกำกับดูแลซึ่งต้องกระทำโดยรัฐบาลก็เป็นอัมพาต  เพราะปลัดกระทรวงพลังงานกลายเป็นประธาน ปตท.ซะเอง!  รัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็มีหุ้นใน ปตท.  แล้วจะให้ใครมาดูแลค่าผ่านท่อ ไม่ให้ ปตท.คิดราคาแพงเกินไป  ล่าสุด ตัวเลขก็ปรากฏเพราะ ปตท.ไปคิดค่าก๊าซกับ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ) แพงกว่าลูกค้ารายอื่น ทั้งๆ ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ ปตท.


เมื่อ กฟผ. ต้องแปรรูป  สิ่งที่ตามมาก็คือ กฟผ. ต้องขอให้ ปตท. คิดค่าก๊าซให้ถูกกว่าเดิม  มิฉะนั้นเขาทำกำไรไม่ได้ตามที่เสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  เราจึงเห็นการเจรจาให้ ปตท.ต้องลดราคาก๊าซที่ขายให้กับ กฟผ.  ราคาหุ้นของปตท.และปตท.สผ.จึงต้องลดลงหลายเปอร์เซ็นต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว


ขอเรียนว่า ประเด็นเรื่องการผูกขาดเป็นประเด็นที่วุฒิสภาเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  องค์กรกำกับดูแลมิให้ใช้อำนาจการผูกขาดต้องมีประสิทธิภาพ และต้องมีอิสระ


ทั่วโลกเขาทำกันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้รัฐวิสาหกิจใช้อำนาจผูกขาดในการทำกำไรเกินควร เช่น การผูกขาดสายส่งไฟฟ้า ท่อประปา ท่อก๊าซธรรมชาติ สายโทรศัพท์ ทางรถไฟ การเดินเรือ เส้นทางการบิน ฯลฯ  เพราะใครมีอำนาจผูกขาด ก็เหมือนทำการค้าเพียงรายเดียว ไม่มีคู่แข่ง และคิดราคาเท่าไรก็ได้  นั่นหมายถึงกำไรสูงสุดที่ธุรกิจอยากจะมีในระบบทุนนิยม  นี่คือสิ่งที่กรรมาธิการการแปรรูปวุฒิสภาเสนอเป็นข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล 


ก็ต้องติดตามกันดูว่า คณะกรรมการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ที่ทั่วโลกเขามีในการกำกับรัฐวิสาหกิจนั้น เราจะได้เห็นในเมืองไทยหรือไม่ ?!