Skip to main content

สอนหลานให้อ่านอังกฤษ (ตอนที่2)

คอลัมน์/ชุมชน

ทำไมต้องเรียนภาษาอังกฤษ?


 


Stephane Mallarme พูดไว้ทำนองนี้ว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกใบนี้ สุดท้ายก็ไปปรากฏอยู่ในหนังสือ"  Mallarme คงจะพูดไว้นานแล้วก่อนยุคอินเตอร์เน็ท  ดังนั้น ผมจึงขอถือวิสาสะเติม "และอินเตอร์เน็ท" ต่อท้ายที่เขาพูดไว้   ถ้าเราหยุดคิดสักนิดหนึ่งก็คงจะไม่ปฏิเสธความจริงข้อนี้  ในบรรดาสื่อที่บันทึกความรู้และสารสนเทศต่างๆ  เอาไว้  คุณผู้อ่านว่าสื่อประเภทใดมีมากและอยู่ได้นานที่สุด? เป็นภาพรวมทั้งโลกนะครับ  ฝรั่งที่รู้บอกว่าหนังสือ หรือถ้าจะให้ชัดเจนก็คงต้องเรียกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ครับ


 


หากเรายอมรับคำตอบข้างต้น ก็มีคำถามต่อไปว่า แล้วภาษาที่ใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่มากมายมหาศาลในโลกใบนี้เป็นภาษาอะไรครับ?  ฝรั่งที่รู้ก็บอกว่าภาษาอังกฤษครับ  ถ้าความจำผมยังไม่เลอะเลือนมาก เขาบอกว่าประมาณ 60-70% ของความรู้และสารสนเทศในโลกนี้บันทึกไว้ด้วยภาษาอังกฤษครับ และก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยุคอินเตอร์เน็ทนี้


 


พอจะยอมรับกันได้ไหมครับว่า เรา โดยเฉพาะลูกหลาน จำเป็นต้องเรียนและรู้ภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการเรียนรู้ในอนาคต  คงไม่ใช่เพื่อให้ก้าวทันโลกหรอกนะครับ เพราะคนไทยโดยทั่วไปขาสั้น ก้าวไม่ทันฝรั่งที่ขายาวกว่าได้หรอกครับ  แต่อย่างน้อย เรียนเพื่อให้รู้ทันโลก  หากโลกหลงทาง เราจะได้ไม่ต้องหลงไปด้วยอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้


 


John Foster Dulles ได้พูดไว้ทำนองนี้ว่า "หากเราไม่เข้าใจภาษาของคนอื่น ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจว่าอะไรอยู่ในใจของเขา"  ตัวอย่างความไม่เข้าใจกันที่เราพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น พนักงานขายในร้านสะดวกซื้อถามเราก่อนคิดเงินว่า "จะรับซาลาเปาเพิ่มไหมคะ?"  แม้จะเป็นภาษาไทยเหมือนกัน  แต่ถ้าเราใช้ภาษาชาวบ้านก็คิดว่าเธอเตือนเราด้วยความหวังดีให้ซื้อซาลาเปากลับไปฝากลูกหลาน จึงพยักหน้ารับทันที  ในความเป็นจริง เธอใช้ภาษาธุรกิจบอกเราว่าควรจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกเพื่อช่วยเขาขยายสาขาต่างหาก  นี่แค่เป็นเรื่องเล็กๆ ระดับชาวบ้านนะครับ เราก็ยังไม่เข้าใจที่เขาพูด ทำให้เสียท่าเขาร่ำไป  ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเช่นเรื่องระหว่างประเทศที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษล่ะครับ คิดแล้วต้องรีบคว้าเสื้อโอเวอร์โค๊ตขึ้นมาใส่ทันที


 


มาถึงตรงนี้ ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านยอมรับหรือไม่ว่า ลูกหลานเราจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษเพื่อให้อยู่ได้ในอนาคต  หากคุณเห็นว่าไม่จำเป็น ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็อยู่ได้และมีความสุขดีด้วย  ไม่ต้องปวดหัวว่าต้องเติม s ท้ายคำหรือไม่  หรือจะเปลี่ยนกริยาไปช่อง 3 อย่างไร  และอีกอย่าง ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาของพวกจักรวรรดินิยม  ผมก็ยอมรับครับ ทุกคนมีเหตุผลที่ดีทั้งนั้น ตราบเท่าที่เราสามารถเอาตัวรอดได้และมีชีวิตอย่างปกติสุข


 


ผมขอเลี้ยวซ้ายออกนอกประเด็นหน่อยนะครับ สมมติว่าเราไม่ให้ลูกหลานเรียนภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ในความเป็นจริงของปัจจุบัน พวกเขาก็ต้องรู้ภาษาต่างประเทศสักภาษาหนึ่งจึงจะพอไหว  รู้ภาษาไทยอย่างเดียวเขาว่าจะหาไม่พอกินครับ  พอดีผมเห็นใน Newsweek ฉบับประมาณกลางปี ’48 นี้ที่เน้นเรื่องประเทศจีน เขาบอกว่าตอนนี้สหรัฐฯ กำลังจะเร่งเครื่องสอนภาษาจีนให้เด็กนักเรียนอเมริกัน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ  วัฒนธรรม  และความมั่นคง  ง่ายๆ  ครับ ในปัจจุบันนี้มีคนใช้ภาษาจีนทั่วโลกร่วม 1.3 พันล้านคน หรือประมาณหนึ่งในห้าของคนทั้งโลก  และส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ก็อยู่ใกล้ๆ ประเทศไทยนี่เอง  สหรัฐฯ ทำอะไรเราก็ควรทำตามใช่ไหมครับ เพื่อให้อินเทรนด์  ผมหมายความว่าถ้าไม่เรียนภาษาอังกฤษก็ต้องเรียนภาษาจีนล่ะครับ แต่ถ้าจะให้เจ๋งก็ต้องเรียนทั้งภาษาไทย  อังกฤษ  และจีนครับ  อย่างนี้อนาคตจ๊าบแน่


 


ประเด็นนี้เอาไว้ก่อนดีกว่า เรามาคุยกันเรื่องภาษาอังกฤษต่อนะครับ


 


ในเมื่อเราเห็นสภาพความเป็นไปในปัจจุบันที่ภาษาอังกฤษมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน เราก็คงจะพอเดาออกว่าสภาพในอนาคตอันใกล้ ในช่วงชีวิตลูกหลานเรานี่แหละครับ จะเป็นอย่างไร  ภาษาอังกฤษคงจะยิ่งเพิ่มบทบาทมากขึ้นในชีวิตของคนทั่วโลก  เราจะชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เราต้องอยู่กับมันจนเราตายไปก่อน  ผมแน่ใจครับ!


 


Franklin D. Roosevelt ได้พูดไว้ว่า "เราไม่สามารถสร้างอนาคตให้กับเยาวชนของเราได้เสมอไป  แต่เราสามารถเตรียมเยาวชนของเราสำหรับอนาคตได้"  ผมว่าจริงนะครับ  แม้ Nostradamus จะพยากรณ์เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ  ในโลกนี้ได้ถูกต้องอย่างน่าทึ่ง (บางคนบอกว่า เราไปตีความคำพยากรณ์ให้เข้ากับเหตุการณ์ต่างหาก)  แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้น อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดใช่ไหมครับ  ต่อมา Lydon B. Johnson ก็ยังตอกย้ำว่า "[เราต้องเปิดประตูแห่งโอกาส] แต่เราต้องเตรียมประชาชนของเราให้เดินผ่านประตูเหล่านั้นด้วย"  แม้แต่ Earl Woods พ่อของ Tiger Woods ที่คนไทยบางคนไม่ชอบเพราะไม่บอกว่าตัวเองเป็นคนไทย ยังพูดทำนองเดียวกันว่า "พ่อจะเตรียมลูกให้พร้อมที่จะออกจากบ้าน  ส่วนแม่จะเตรียมลูกให้อยู่กับบ้าน"  คำพูดนี้อาจมีน้ำเสียงแบ่งแยกเพศเล็กน้อย คุณผู้หญิงอย่าจริงจังมากนักนะครับ 


 


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็พอจะบอกได้ว่า ฝรั่ง อย่างน้อยก็อเมริกัน เขาเตรียมลูกหลานของเขาสำหรับอนาคต 


 


แล้วเราคนไทยจะว่าอย่างไรล่ะครับ?