Skip to main content

คืนสู่เหย้า Homecoming

คอลัมน์/ชุมชน


 



 


 


สุดสัปดาห์นี้ ที่มหาวิทยาลัยผู้เขียนทำงานอยู่มีงาน "คืนสู่เหย้า" หรือ Homecoming เป็นเวลาสามวัน เริ่มนับตั้งแต่บ่ายวันศุกร์


 


นั่นหมายถึงว่าบรรดาศิษย์เก่าและครอบครัว จะเดินทางมาพบกันที่มหาวิทยาลัย ศิษย์ปัจจุบันและคณาจารย์ก็จะเข้ามาให้การต้อนรับ มีการจัดการแสดง การเลี้ยงอาหาร การเล่นกีฬาสามัคคีต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือว่ามีการพบปะกันระหว่างรุ่นต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่าย  โดยเน้นสิ่งที่มีร่วมกันคือ การมาเล่าเรียนในสถานที่นี้  ดังนั้น การที่ถือเป็นพวกเดียวกันก็จะนำไปสู่ความรู้สึกที่ภูมิใจในความเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน อาจนำไปสู่การพึ่งพาอาศัยกันในธุรกิจหรือความสัมพันธ์อื่นได้


 


ใครๆ ก็ตื่นเต้น โดยเฉพาะพวกที่ต้องพึ่งพาศิษย์เก่า เช่น พวกที่ทำงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ พวกนี้ต้องคอยไล่ล่าศิษย์เก่าเพื่อเรี่ยไรเงินเป็นกองทุนให้มหาวิทยาลัย  และเก็บไว้ใช้ในกรณีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย  ถือเป็นกองทุนฉุกเฉินแบบหนึ่งก็ว่าได้  นอกจากนี้ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัวและดึงลูกค้าในอนาคตเพราะลูกหลานศิษย์เก่าอาจมาเรียนต่อที่นี่ก็ได้


 


ยิ่งมหาวิทยาลัยดังๆ ใหญ่ๆ ก็จะมีการให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ฝรั่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นเรื่องหน้าตาและผลประโยชน์อย่างที่บอกแต่ต้น


 


ผู้เขียนไม่ได้เคยไปร่วมงานแบบนี้ในสถาบันอุดมศึกษาที่จบมาสักแห่ง ไม่ว่าไทยหรือเทศ  ถ้าพูดแบบขำๆ คงถือเป็นศิษย์อกตัญญู เพราะไม่ได้ช่วยอะไรสถาบันในด้านการเงินเลย บอกตรงๆ ว่าไม่ได้มีเงินมากมายอะไร ให้ไปเหมือนเนื้อหนูปะเนื้อช้าง  อีกทั้งไม่ได้เป็นศิษย์เก่าที่ลือชื่อกระเดื่องนาม  ไม่สามารถนำผลประโยชน์สู่สถาบัน ไปแล้วก็ไม่ได้ทำไรดีขึ้น ไม่ได้ช่วยสถาบันก็ไม่ได้ทำให้สถาบันจนลง


 


แต่คำถามที่ถามตนเองตลอดเวลาคือ งานพวกนี้เป็นงานที่ตอบสนองอัตตาของคนบางกลุ่มหรือไม่? เท่าที่รู้มาก็คือว่า ศิษย์เก่าธรรมดาๆ ไม่มีใครสนใจ ตัวสถาบันเองอาจจะเชื้อเชิญ แต่จริงๆ แล้วก็เชิญมาให้เป็นไม้ประดับหรือเป็นพระอันดับเท่านั้น  นับเป็นการแบ่งเขาแบ่งเราภายในรั้วของสถาบัน


 


สถาบันได้สร้างคนแต่ก็ทำลายคนเพราะงานแบบนี้  เพราะสร้างปมด้อยต่อคนที่ไม่ดัง ไม่เลิศเลอ และสร้างปมเขื่องต่อคนที่ดัง หรือเลอเลิศในสังคม หรือพูดง่ายๆ คือรวย มีอำนาจ และที่สำคัญคนกลุ่มหลังก็มักรวมตัวกัน เสริมโอกาสกันและกันต่อไป และสถาบันก็ชอบเหลือเกินที่จะอยากได้พวกนี้เข้ามาร่วม หลายครั้งก็หลอกศิษย์เก่าบางคนให้ช่วยโน่นนี่ โดยอ้างว่าช่วยหน่อยไม่ไปไหนเสีย ศิษย์รุ่นต่อไปจะได้เก่งกล้ากว่าสถาบันอื่น สืบสานตำนานความเลิศ  ทั้งที่ลืมไปว่ากำลังสร้างความเหลื่อมล้ำบางอย่างในสังคม อย่างน้อยสุดก็กำลังสร้าง "สถาบันนิยม"  อย่างชัดเจน  นับเป็นการแบ่งเขาแบ่งเรานอกรั้วสถาบัน


 


นอกจากนี้บางสถาบันโดยเฉพาะในสหรัฐฯ จะมีการพบปะกันในงานประชุมระดับชาติ อันนี้เน้นเฉพาะระดับภาควิชาหรือคณะวิชาของสถาบันนั้น เช่น ผู้เขียนไปประชุมของสมาคมการสื่อสารแห่งชาติ สหรัฐฯ ทุกปีนับตั้งแต่ ปี ๒๐๐๑   คณะวิชาที่ผู้เขียนจบมามีงานพบปะที่งานประชุมนี้ทุกปี เพราะเป็นโปรแกรมด้านการสื่อสาร/นิเทศฯที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ มีคนเรียนเป็นวิชาเอกรวมกันตั้งแต่ปี ๑ ถึงปี ๔ และปริญญาโท และเอก รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าพันคนต่อปี (อย่าเทียบกับไทย เพราะมหาวิทยาลัยไทยบางแห่งอาจมีนักศึกษานิเทศฯ มากกว่าสองพันคนต่อปี ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ)  ดังนั้น ในงานนี้ผู้เขียนก็จะกลายเป็นฝุ่นที่ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่ได้รวย ไม่ได้ดัง ไม่ได้มีวิจัยดีเด่นดังคับฟ้า  แถมสอนในที่ห่างไกลผู้คน


 


หลายครั้งที่ผู้เขียนถามตนเองว่าไปทำไมงานนี้ น่าเอาเวลาไปนอนพักดีกว่า เพราะเดินทางแต่ละหนไกลก็ไกล เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ทุกครั้งมีเพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันมาฉุดให้ไป จึงต้องไป  หลายต่อหลายคนก็ไม่ได้อยากนึกถึงเราเท่าไร   ตอนเรียนเราก็ต้วมเตี้ยมไม่ได้โดดเด่นอะไร  จบมาได้นี่ก็ถือเป็นบุญ


 


ผู้เขียนไม่ได้นึกเป็นปมด้อยแต่อย่างใด นึกในใจว่าเป็นคนฉลาดน้อยแต่โชคดีได้เรียนในที่ๆ คนเก่งๆ ไปเรียนไปสอนกัน  เราจึงกลายเป็นคนเก่งนิดๆ แต่ไม่เด่น ไม่ดัง แต่มีความสุขเพราะไม่ต้องแก่งแย่งมากนัก (เป็นข้อแก้ตัวของ loser)  อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รู้สึกสนุกนัก แต่ตั้งคำถามว่า หลายคนอุตส่าห์เรียนมาขนาดนี้ทำไมยังไปติดกับเงื่อนไขสังคมกระแสหลักได้ขนาดนี้?


 


พอนึกถึงจุดนี้ ก็พลันนึกต่อไปว่า คนเรากันเองนี่แหละที่พยายามจะกดขี่กันเอง ทำร้ายกันเอง โดยใช้ความมีและไม่มีมาเป็นเกณฑ์   สังคมต่อไปคงต้องแข่งขันกันทุกขั้นตอนของชีวิต คนรุ่นต่อไปอาจมัวแต่แข่งกับคนอื่น และแม้กับเงาตนเอง แต่ไม่เคยถามเลยว่าตนเองเป็นใครและต้องการอะไรในชีวิต


 


ส่วนประเพณีการคืนสู่เหย้าในเมืองไทยที่ผู้เขียนได้ไปจริงๆ ก็คือที่โรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่ไปเพราะอาจารย์เก่าที่เคารพบอกให้ไป แต่ก็ไม่มีอะไรให้น่าประทับใจ เพราะเหตุผลเดิมคือไม่ใช่คนมีชื่อเสียง และเคยเป็นเด็กมีปัญหาที่ตรงนั้น


 


ในงานวันนั้น  ผู้เขียนนึกถึงเพื่อนหลายๆ คนที่ต้องกระเด็นออกพร้อมๆ กัน หรือคนที่ไม่ได้กระเด็นออก แต่บังเอิญไม่ได้เด่นดัง จะมีใครคิดถึงพวกเขาไหม ทำไมต้องมีการจัดการพื้นที่แบบนี้ ทั้งที่ก็โตมาด้วยกัน และเรียกกันว่า "เพื่อน"


 


พรุ่งนี้ ผู้เขียนคงไม่ได้ไปยุ่งกับงานคืนสู่เหย้าของมหาวิทยาลัย เพราะงานบ้าน งานวิชาการ ค้างพะเนิน แต่สิ่งหนึ่งที่จะพยายามทำให้ได้ คือคิดถึงเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันที่ไม่มีพื้นที่ในงานคืนสู่เหย้า ทั้งระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย จะย้ำบอกกับตนเองว่า  "ชีวิตนั้นเป็นสุขที่ตัวเรา สังคมกระแสหลักมากำหนดเราไม่ได้ จงยอมรับกับความเป็นบุคคลชายขอบอีกรูปแบบหนึ่งก็แล้วกัน"


 


ถ้าจะจบแบบนี้ จะเรียกว่า "องุ่นเปรี้ยว" รึเปล่านะ?