Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิดตอน 8

คอลัมน์/ชุมชน

ท่านผู้อ่านคงอยากรู้ว่า ความ " มหัศจรรย์" ของแหลมผักเบี้ย คืออะไร เมื่อก่อนพวกชาวประมงก็ไม่เคยสนใจว่าที่ไหนจะเป็นอย่างไร เพราะเวลาของพวกเขาทั้งหมดอยู่กับการทำมาหากิน เรียกได้ว่า ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับทะเล แต่เมื่อพวกเขาเกิดความรู้สึกว่า พวกเขากำลังจะถูกรุกรานทะเลอันเป็นที่รัก และพื้นที่ทำกินของพวกเขา ทำให้ชาวประมงหลายจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างสะพานรวมตัวกัน และมีโอกาสไปดูสถานที่จริงของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม


สิ่งที่ได้พบก็คือ ความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้ประทานมาให้ ที่มนุษย์ไม่มีวันสร้างได้ พื้นที่แหลมผักเบี้ยเป็นพื้นแผ่นดินที่ยื่นไปในทะเล เป็นลักษณะแหลมรูปหัวจั่ว ( ผู้เขียนจะพยายามอธิบายให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ ทั้งที่มันก็ยากพอควร) แม้ในแผนที่ประเทศจะมีลักษณะพื้นที่อย่างนี้หลายแห่ง แต่ก็ไม่เหมือนกัน


แหลมผักเบี้ยเป็นแหลมที่แบ่งเขตป่าชายเลน และหาดทรายโดยมีแหลมที่ยื่นออกไปกั้นไว้ หากเรายืนหันหน้าออกทะเล ด้านซ้ายมือของแหลมจะเป็นหาดเลน ดินมีลักษณะเหลวและดำ ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ ชาวประมงใช้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแครงและหอยแมลงภู่ ส่วนด้านขวาเป็นหาดทรายขาว ต่อยาวไปถึงหาดปึกเตียนและหาดชะอำ


ส่วนพื้นที่ดอนหอยหลอดก็มีความมหัศจรรย์ไม่ใช่น้อย เพราะเป็นพื้นที่ ๆ มีน้ำท่วม ( ท่วมมากมาย) และน้ำแห้ง ( แห้งลงไป 3-5 กิโลเมตรจากฝั่ง) ความมหัศจรรย์นี้เองที่ทำให้พื้นที่ดอนหอยหลอดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่หายากและพื้นที่ชุ่มน้ำโลก มีการลงนามในอนุสัญญาแรมซ่า ระหว่างประเทศไทยและสหประชาชาติ ( ผู้เขียนก็มีความรู้เรื่องนี้ไม่มาก) ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์แต่ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่ห้ามทำสิ่งที่อาจทำให้พื้นที่เสียหาย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต


พื้นที่อย่างนี้จะหาที่ไหนได้ในโลก นอกจากประเทศไทย ฝรั่งมังค่ามาเห็นยังตะลึง ไม่คิดว่าจะมีพื้นที่อย่างนี้ ฝรั่งชอบมาศึกษาเรื่องนก และความหลากหลายทางพันธุ์กรรมสัตว์หลากหลายชนิด เช่น คุณฟิลลิป ดีราวว์ ( เขียนถูกผิดอย่าว่านะเพราะผู้เขียนไม่รู้จักภาษาฝรั่งมังค่า)


แต่คนไทยโดยเฉพาะนายทุนที่บริหารประเทศ มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ เพราะ ทุกลมหายใจ มองแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงิน ( มองภาษาคนที่คิดว่าเป็นคนฉลาดเขามองกัน) แต่ ชาวประมงที่ถูกมองว่าโง่ กลับเห็นคุณค่า และต้องการที่จะรักษามันไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลาน และเป็นสมบัติของโลก ( ถึงมีคนกล่าวว่าแม้ต้องรักษาด้วยชีวิตก็ยอม)


เมื่อความคิดและมุมมองต่างกัน ความต้องการก็แตกต่างกัน เมื่อรัฐดันทุรังที่จะสร้าง ชาวบ้านก็พร้อมจะต่อสู้ ถึงแม้รายได้แทบไม่พอยาไส้ แต่ทุกเวทีพวกเขาพร้อมจะไปร่วมรับฟัง และร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงการขุดคุ้ยหาข้อมูลที่จะนำมายืนยันกับภาครัฐ พวกเขาทำสำเร็จได้ระดับหนึ่ง ข้อมูลที่ชาวบ้านหาได้ ถูกนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมเวทีร่วมรับทราบ มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย แต่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสำนักงานขนส่งทางบกไม่สนใจ และกล่าวหาว่า เป็นข้อมูลทางไสยศาสตร์ ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงและสามารถยืนยันได้


จนถึงเดือนพฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก กลุ่มชาวบ้านได้รับเชิญให้นำข้อมูลไปเสนอในเวที


 แต่...ชาวบ้านจะได้นำเสนอไหม มีอะไรเกิดขึ้นกับเวทีนั้น อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะจ๊ะ