Skip to main content

วาทกรรมอันตราย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วาทกรรม "พระราชอำนาจ" และ "เราจะสู้เพื่อในหลวง"  ปรากฏตัวขึ้นในบริบทของสังคมการเมืองที่ผู้ปกครองรวบอำนาจทุกๆ ด้านไว้ในมืออย่างเป็นเอกภาพทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่


 


วาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความอับจนทางปัญญาของสังคมไทย ที่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดีกับอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือไม่ก็อาจเกิดมาจากนักการเมือง-นักธุรกิจที่ "สู้เขาไม่ได้" ในทางการเมืองเลยต้องหันหน้าเข้าพึ่ง "อำนาจศักดิ์สิทธิ์"  


 


วาทกรรมนี้ได้รับการขานรับอย่างค่อนข้างกว้างขวาง โดยที่ไม่คิดเฉลียวใจเลยว่าการใช้วาทกรรมทำนองนี้ไม่เป็นผลดีแม้แต่น้อยต่อระบอบประชาธิปไตยอันเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นใหญ่


 


การที่ผู้ปกครองมีอำนาจมากอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงอะไร หากว่าผู้ปกครองคนนั้นเปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ หรือผู้ปกครองนั้นใช้อำนาจในทางที่ถูกที่ควร แต่ในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือระบอบอะไรก็ตามแต่ ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าผู้ปกครองจะเป็นคนดีมีคุณธรรม ดังนั้น การจำกัดและการถ่วงดุลอำนาจของผู้ปกครองเพื่อไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปในสถานการณ์ปกติจึงเป็นเรื่องจำเป็น


 


อันที่จริง การคาดหวังให้ผู้ปกครองเป็นคนดีมีคุณธรรม ก็เป็นการคาดหวังที่ผิดมาตั้งแต่ต้นของคนที่ไม่เข้าใจ "การเมือง" เป็นความคาดหวังลมๆ แล้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล แต่เป็นการคาดหวังในตัวบุคคล ตัวบุคคลที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความมีเหตุผล  ตัวบุคคลที่พร้อมจะทำสิ่งไร้เหตุผลและฆ่ากันได้ทุกเมื่อถ้าเงื่อนไขอำนวย การโหยหาคนดีจึงเป็นเพียงนิยายการเมืองปรัมปราน่าเบื่อ


 


การเมืองไม่ใช่เรื่องของถูก ผิด ดี ชั่ว แต่เป็นเรื่องของสัมพันธภาพทางอำนาจ และการจัดสรรผลประโยชน์ให้กลุ่มคนต่าง ๆ ที่บางทีก็มีผลประโยชน์และความต้องการที่แตกต่างขัดแย้งกัน การได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง แม้นเป็นสิ่งท่ดีก็ไม่อาจช่วยให้เกิดระบอบการเมืองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  อย่าว่าแต่จะใฝ่ฝันถึงความผาสุกของประชาชน (และอันที่จริงคำว่า "คนดี"็เป็นคำที่ไร้ความหมาย  เพราะไม่อาจจะทำความเข้าใจให้ตรงกันได้ว่ามันแปลว่าอะไร)


 


การจำกัดอำนาจของผู้ปกครองตามความต้องการของพวกเสรีนิยม หรือการถ่วงดุลอำนาจตามหลักการประชาธิปไตยที่แยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย กลายเป็นสิ่งที่เป็นหมันในบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  วาทกรรม "พระราชอำนาจ" และ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเกิดขึ้นมาหมายจะใช้ถ่วงดุลกับอำนาจที่มีมากของผู้ปกครอง


 


แต่การใช้วาทกรรมอันตรายเหล่านี้มาถ่วงดุลกับอำนาจของฝ่ายบริหารในระบอบประชาธิปไตย ออกจะเป็นเรื่องล่อแหลม หมิ่นเหม่ และอันตราย


 


1. ดังที่มักกล่าวกันเสมอว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังการปฏิวัติ 2475)  และเป็นเพราะการอยู่เหนือการเมืองนี่เองที่สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถธำรงความศักดิ์สิทธิ์ ดำรงความหมายในทางสัญลักษณ์ที่เป็นที่เคารพสักการะเอาไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงคลุกคลีกับการเมือง (ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรื่องสกปรก) ในนามของวาทกรรมต่างๆ รังแต่จะส่งผลในด้านลบต่อสถาบันในระยะยาว


 


แน่นอนว่า กลุ่มที่นำวาทกรรมเหล่านี้มาใช้จะมีเหตุผลสนับสนุนของตัวเอง แต่วาทกรรมนี้ละเอียดอ่อนเกินกว่าที่นำมาใช้พร่ำเพรื่อด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมือง เพื่อหวังผลทางการเมืองในระยะสั้นๆ แบบที่ ดร.ธงชัย วินิจจะกุล เรียกอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า  "ประชาธิปไตยแบบคิดสั้น"


 


2. หากลองพิจารณาความหมายของวาทกรรม "เราจะสู้เพื่อในหลวง" บางทีอาจก่อให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวกระทั่งเข้าใจผิดไปอย่างสำคัญได้


 


วาทกรรมนี้ชวนให้คิดไปว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติ ดังนั้น จึงจำเป็นที่พวกเราต้องร่วมกันสู้   สู้กับอะไร?  สู้กับใคร? ใครทำให้เกิดวิกฤติ?  คำถามเช่นนี้หากลองตอบ มันก็จะกลายเป็นการแบ่งพวก แบ่งฝ่ายไปโดยปริยาย วาทกรรมนี้อาจทำให้เกิดการแบ่งเขา แบ่งเราโดยไม่จำเป็นแต่อย่างใดเลย ซึ่งที่สุดจะนำไปสู่อะไรก็ไม่มีใครรู้


 


3. เส้นทางประชาธิปไตยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ 2475 ผ่าน 14 ตุลาคม 16  ผ่าน 6 ตุลาคม 19  ผ่านพฤษภาทมิฬ กระทั่งปัจจุบัน แม้จะล้มลุกคลุกคลานยังไง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกแล้ว มีแต่ต้องเดินต่อไปข้างหน้าอย่างเดียวเท่านั้น


 


วิถีทางและช่องทางที่มีอยู่ตามกฏกติกามารยาทของประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่มากมายหลากหลายวิธี เท่านั้น ที่จะต้องนำมาใช้ต่อสู้ถ่วงดุลทางการเมือง และมันก็มีวิธีที่จะต่อสู้กับใช้อำนาจผิด ๆ ของฝ่ายบริหารตั้งร้อยแปดวิธีที่สามารถนำมาใช้ได้ ทำไมต้องไปสร้างวาทกรรมอันตรายขึ้นมาด้วยเล่า


 


การพยายามหา "หนทางลัด" ในการตอบโต้ต้านทานกับอำนาจเบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหาร ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแม้แต่นิดเดียว มันนำพาประชาธิปไตยให้ถอยหลังเข้าคลองและเริ่มต้นกันใหม่ ไม่รู้จบ


 


4. วาทกรรม "พระราชอำนาจ"  "เราจะสู้เพื่อในหลวง"  ถึงที่สุดแล้วก็มองผ่าน และละเลยอำนาจความสำคัญของประชาชน ของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย  ดร. ธงชัย  วินิจจะกุล ใช้คำว่า "ไม่เห็นหัวประชาชนพอกัน" (กับรัฐบาล) ดังนั้นแม้จะเห็นผลช้า แต่ก็ควรหันกลับไปส่งเสริมและเสริมสร้างอำนาจให้กับประชาชนน่าจะดีกว่า


 


5. เกมการเมืองของชนชั้นนำทางอำนาจ มักจะใช้ประชาชนเป็นเบี้ย เป็นหมากในการโค่นล้มเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ และที่สุดไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้อำนาจไปครอง ก็ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีขึ้นมาแต่อย่างใด คนที่ขายส้มตำก็ยังคงขายส้มตำต่อไปไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปกี่ยุคสมัย  การนำประชาชนเข้ามาเป็นหมากในเกมการเมืองหรือเป็นส่วนขยายของวาทกรรมนี้ก็ทำนองเดียวกัน


 


และหากว่าลองสมมุติให้ 14 ตุลา เป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำโดยที่ประชาชนเป็นเพียงหมากหรือส่วนสนับสนุน ก็จะเห็นว่าความปวกเปียกไร้อำนาจของประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ   


 


ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การนำวาทกรรมเหล่านี้มาใช้ถือได้ว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตย หรือไม่ก็เป็นประชาธิปไตยที่สายตาสั้นและมองการณ์ใกล้  เป็นการไม่รับผิดชอบต่อความเป็นไปในระยะยาวของประชาธิปไตยเพราะหวังเพียงผลทางการเมืองเฉพาะหน้า


 


ผมค่อนข้างจะเชื่อว่า กลุ่มคนที่ใช้และสมาทานวาทกรรม "พระราชอำนาจ" และ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" ไม่น่าจะรักระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่จริง