สอนหลานให้อ่านอังกฤษ (ตอนที่3)
คอลัมน์/ชุมชน
จะทำอย่างไรดี?
เราๆ ท่านๆ ที่ได้เรียนหนังสือมาระดับหนึ่ง และเคยทุกข์ทรมานกับวิชาภาษาอังกฤษมาโดยตลอด คงเคยสงสัยว่า ทำไมเพื่อนฝูงของเราบางคนถึงเรียนภาษาอังกฤษได้เร็ว แต่ส่วนมาก รวมทั้งเรา ถึงไปได้ช้า หรือแทบไม่ขยับจากที่เดิมเลยก็ว่าได้ คำตอบก็มีหลากหลายแหละครับ ผมว่าเราอย่าเพิ่งตอบคำถามนี้ แต่ลองหันมาดูรอบๆ หรือใกล้ๆ ตัวเราก่อนดีไหมครับ
คนที่มีญาติพี่น้องแต่งงานกับคนต่างชาติ หรือมีเพื่อนฝูงผู้ร่วมงานเป็นคนต่างประเทศ หรือมีอาจารย์เป็นคนต่างภาษา เคยสังเกตไหมครับว่า คนเหล่านั้นใช้เวลาไม่นานก็สามารถพูดคุยภาษาไทยกับเราได้รู้เรื่องพอสมควรหรือใช้ได้ ส่วนคนที่มีพ่อแม่หรือบรรพบุรุษที่ใช้ภาษาอื่นมาก่อน เคยคิดไหมครับว่าบุพการีของเราใช้เวลานานเท่าไรจึงติดต่อสื่อสารเป็นภาษาไทยได้ ผมเดาว่าคงไม่นานเช่นกัน มิฉะนั้นพวกเขาคงอดตายไปนานแล้ว
เอาตัวอย่างสุดโต่งก็ได้ครับ หลายคนคงเคยไปเดินตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติมากๆ เราจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของที่ระลึกหรือเสื้อผ้าบนทางเท้าสามารถขายของให้ฝรั่งหรือคนเกาหลีญี่ปุ่นได้ แม้ว่าจะพูดภาษาเหล่านั้นแทบจะไม่ได้เลย เอาล่ะ เรารู้ว่าพวกเขาพูดต่อรองราคากันผ่านเครื่องแปลภาษาที่เราเรียกว่าเครื่องคิดเลข แต่ภาพเช่นนี้ก็ชี้ให้เราเห็นอะไรบางอย่างใช่ไหมครับ
ผมมองว่าเป็นเพราะสถานการณ์ความจำเป็นบีบบังคับ คนเหล่านั้นไม่มีทางเลือก หากพูดจาสื่อสารกันไม่ได้ พวกเขาจะมีปัญหาสาหัสตามมาทันที ดังนั้น ทางเดียวที่ต้องเลือกก็คือ ต้องทำให้ได้ ก็คล้ายๆ กับที่เขาพูดกันในวงการนักประดิษฐ์ล่ะครับว่า "ความจำเป็นเป็นมารดาของสิ่งประดิษฐ์" หากสืบสาวกลับไปหาต้นตอของสิ่งประดิษฐ์ส่วนใหญ่ จะพบว่าเกิดมาจากความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือหรือสิ่งของเหล่านั้นเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น คำตอบส่วนหนึ่งของคำถามข้างบนก็คือ ความจำเป็นครับ หากไม่จำเป็น เรียนอะไรก็ไม่เข้าหัวทั้งนั้น
ในช่วงแรกที่หลานทั้งสองมาอยู่ด้วยตอนอยู่เมืองไทย เมียผมเคยขอหรือความจริงก็คือสั่งให้ผมช่วยสอนภาษาอังกฤษให้พวกเขา แต่ผมก็ทำหูทวนลมเสียอย่างนั้น เพราะมั่นใจว่าหัวพวกเขาไม่รับแน่ๆ เนื่องจากยังไม่มีวิชาภาษาอังกฤษที่ต้องสอบเอาคะแนน เพราะแม้แต่วิชาบังคับ พวกเขาก็ยังไม่สนใจเลยครับ เมื่อต้องไปสหรัฐฯ ผมเห็นว่าสถานการณ์บังคับและเป็นใจมาก น่าจะลองสอนภาษาอังกฤษเสริมของทางโรงเรียนเผื่อจะช่วยได้บ้าง การที่เจ้าหลานชายทั้งสองคนได้ไปเรียนในโรงเรียนฝรั่ง ก็เหมือนได้เรียนหลักสูตร "แช่ทั้งตัว" ที่ผู้มีเงินนิยมส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกตอนหน้าร้อน
ผมสอนเสริมก็เหมือนช่วยกดหัวพวกเขาลงใต้น้ำเป็นระยะๆ ที่ว่าเป็นระยะๆหมายความว่ามีความสมดุลพอสมควรกับกิจกรรมอื่นๆ โดยหวังว่าถ้าพวกเขาไม่สำลักน้ำตายเสียก่อน ก็จะมีเลือดมีลมเป็นภาษาอังกฤษทั้งตัว ผมก็คิดไปเรื่อยเปื่อยแหละครับ ดังนั้น ผมจึงสร้างสถานการณ์ให้หลานทั้งสองรับรู้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม แล้วผมจะพูดถึงในหัวข้อต่อไปครับ
นอกจากสถานการณ์ความจำเป็นแล้ว ผมยังมองว่าต้องเป็นความต้องการของตัวผู้เรียนด้วย ไม่อย่างนั้นก็เสียเวลาทั้งสองฝ่าย อย่างที่มีคำกล่าวของกรีกโบราณว่า "ในการสอน ตัวนักเรียนนั่นแหละที่จะต้องขวนขวายอยากเรียนเอง อาจารย์ไม่สามารถบังคับได้ และนักเรียนเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ อาจารย์เพียงแต่ช่วยเหลือในขบวนการนี้เท่านั้น"
อ่านแล้วทำให้ผมนึกถึงหนังจีนกำลังภายในสมัยก่อนที่พระเอกไปเคาะประตูสำนักจอมยุทธ์เพื่อขอสมัครเป็นศิษย์ แต่ท่านอาจารย์กลับไล่ส่งและปิดประตูใส่หน้า พระเอกก็สุดจะตื้อ คุกเข่าลงที่หน้าประตูเจ็ดวันเจ็ดคืนเพื่อขอร้องอาจารย์ จนท่านเห็นความตั้งใจจริงจึงรับไว้เป็นศิษย์ แล้วถ่ายทอดวิทยายุทธ์ให้จนหมดไส้หมดพุง แต่เจ้าหลานชายทั้งสองคนไม่ใช่พระเอก ก็เลยไม่มีแรงบันดาลใจเป็นพิเศษที่จะอยากเรียนภาษาอังกฤษจนไปขอให้อาจารย์ที่สำนักไหนช่วยสอนให้ นี่คงเป็นธรรมชาติของเด็กวัยเล่นครับ แม้แต่ผู้ใหญ่วัยเรียนก็คงจะไม่ต่างกัน
พูดถึงเรื่องนี้ผมขอหยุดข้างทางหน่อยนะครับ ผมเคยแกล้งทำตัวเป็นลุงที่ดีบอกกล่าวสั่งสอนถึงความสำคัญในการเรียนหนังสือ รวมทั้งภาษาอังกฤษ ที่จะมีประโยชน์ต่อพวกเขาในอนาคต เพราะคนได้เรียนหนังสือมักจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นใช่ไหมครับ? อย่างที่ Sydney J. Harris ได้พูดไว้ว่า "ความมุ่งหมายโดยรวมของการศึกษาก็คือ เปลี่ยนกระจกเงาให้เป็นหน้าต่าง"
นอกจากนี้ การรู้ภาษาอังกฤษยังจะช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในโลกกว้างได้อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด ดังที่สุภาษิตอาหรับกล่าวไว้ว่า "ภาษาคือม้าชั้นดีที่จะพาเราไปสู่ดินแดนที่ห่างไกล" แต่เท่าที่ดู คำพูดของผมคงไม่กระทบแก้วหูพวกเขาด้วยซ้ำ นี่ก็คงเป็นธรรมชาติของเด็กวัยเล่นอีกเช่นกัน
ต่อมา ผมลองแต่งกลอนให้เจ้าหลานน้อยทั้งสองคนติดไว้ที่ข้างฝา และให้ท่องจนขึ้นใจ โดยหวังว่าพวกเขาจะทำตามบ้างเมื่อได้เห็นและท่องให้ผมฟังบ่อยๆ คล้ายกับการปลูกฝังความเชื่อไว้ในหัวพวกเขา
กลอนสี่ไม่มีสนิมชื่อ "จง" ของผมเป็นอย่างนี้ครับ
จงร่ำจงเรียน จงเขียนจงอ่าน
จงทำการบ้าน จงอ่านหนังสือ
การงานจงทำ ตอกย้ำฝึกปรือ
อย่าทำซื่อบื้อ ถือว่าน่าอาย
ถ้าว่างจึงเล่น อย่าเน้นขวนขวาย
จะพาวอดวาย เสียดายเวลา
เลือกเรียนไว้ก่อน คำสอนลุงป้า
จงอย่าลืมหนา ชีวาเจริญ
เจ้าหลานชายทั้งสองท่องกลอนนี้ได้ในวันรุ่งขึ้นครับ เวลาท่องให้ผมฟัง พวกเขาผลัดกันท่องคนละวรรค แถมยังใส่จังหวะแร็พและออกท่าออกทางประกอบด้วย แสดงว่ากลอนบทนี้จำได้ง่ายมาก แต่เรื่องทำนี่ไม่เกี่ยวกันนะครับ เพราะพวกเขาแทบจะไม่เคยทำสิ่งที่ผมบอกไว้เลย ต้องบอกครับ ต้องสั่ง แสดงว่าสิ่งที่พวกเขาท่องบ่นจนขึ้นใจไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความนึกคิดที่อยู่ในหัวเลยครับ
ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า ถ้าจะให้พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษ ผมก็ต้องบังคับหรือสร้างสถานการณ์ให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน
มาถึงตรงนี้ก็คงจะพอตอบคำถามข้างต้นได้บ้างนะครับ