Skip to main content

จุดจบของการเกษตรเพื่อเงิน (เกษตรรายย่อย)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 




 


เงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคนเรา ต้องเกี่ยวข้องกับมันทุกวัน เกือบทุกคนล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของมัน แม้ว่าเงินจะถูกสร้างขึ้นไม่นานเมื่อเทียบกับการเกิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่มันก็สามารถเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยนและพัฒนาตนเอง (โดยมีมนุษย์อยู่เบื้องหลัง) ให้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้สำหรับมนุษย์ รวมถึงการเป็นเป้าหมายสำคัญของการแสวงหาของมนุษย์ในปัจจุบันด้วย


 


แต่ก่อนบ้านนอกเราอยู่ได้อย่างไร เมื่อยังไม่มีเงิน เป็นคำถามที่น่าค้นหาคำตอบ เพราะนับเนื่องไม่น่าเกินสามสิบปี  เงินยังไม่ได้มีอิทธิพลเช่นปัจจุบัน  สมัยนั้นเรายังพบเห็นวัฒนธรรมการเอาแรง  เมื่อบ้านโน้นมาเอาแรงบ้านเราจำนวนสองแรง  บ้านเราก็ต้องไปใช้เขาเท่ากัน  เมื่อวานเพื่อนบ้านเอาแกงมาให้  วันนี้เราต้มยำ จึงตักไปฝากเขาบ้าง  เดือนที่แล้วมีกฐินที่วัด ลูกบ้านเลยเอาข้าวหม้อแกงหม้อไปช่วยกันเลี้ยงแขกที่มาทอดกฐิน สะพานที่คลองถูกน้ำเซาะขาด คนในหมู่บ้านจึงช่วยกันตัดต้นไม้ในป่าข้างหมู่บ้าน เพื่อนำไปซ่อมสะพานใหม่  


 


คนในชนบทที่อายุ 30 ปีขึ้นไป น่าจะได้พบพานกับประสบการณ์เหล่านี้ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกิน ดังคำพูดของชาวนาท่านหนึ่งที่ว่า  "สมัยก่อนไม่มีเงินก็อยู่ได้ ข้าวก็มีกิน ไปนาเอาน้ำพริกไปถ้วยเดียว ผัก ปลาก็หาตามนานั่นแหล่ะ"


 


เมื่อโยงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กับปัญหาการที่ชาวนาไม่ทำบัญชีรับจ่ายในปัจจุบัน ดังเช่นโฆษณาของธนาคารแห่งหนึ่งที่ออกมากระตุ้นให้ชาวนาทำบัญชีรับ จ่าย  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ชาวนาบ้านเราไม่นิยมจดสิ่งที่จ่ายออกไป และรายได้ที่รับเข้ามา คำตอบคงไม่พ้นการมีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการทำการเกษตร  เช่น น้ำอุดมสมบูรณ์  ดินถูกน้ำพัดพาตะกอน  แสงแดด ตลอดปี โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนล่าง ต้นทุนเหล่านี้เมื่อเราทำการเกษตร ที่พึ่งพิงธรรมชาติ  ไม่ใช้ปุ๋ยและยา ไม่ต้องทำบัญชีรับจ่ายก็รู้ว่ายังไงก็ได้กำไร เพราะแทบไม่ลงทุนอะไรเลย ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักไม่ต้องจ้าง ใช้ควายซึ่งให้ปุ๋ย และกินหญ้าที่หาได้ตามท้องนา ข้าวปลาอาหาร หาอยู่หากินได้เกือบทุกที่ แม้ปีใดได้ข้าวน้อยก็ไม่ทุกข์ เพราะยังสามารถหาเผือกหามันกินได้


 


เมื่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป  ชาวนาเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ประกอบการนา  ปัญหาจึงเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างต้องซื้อมาทั้งสิ้น ทั้งปุ๋ย ยา รวมทั้งการจ้างแรงงาน การใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว ไม่มีคำว่าฟรีอีกต่อไป  ดินเสื่อม ปุ๋ยต้องใช้เพิ่มขึ้น แมลงมีมากขึ้น สารฆ่าแมลงจึงต้องเพิ่มปริมาณ และความแรง


 


อาหารการกินในชีวิตประจำวัน ชาวนาต้องจ่ายมากขึ้น เพราะปลาในนาไม่มีแล้ว  การเอาแรงที่ไม่ต้องใช้เงินจ้างสูญหายเหลือเพียงการใช้เงินจ้างเป็นหลัก  พืชผักที่จะเก็บกินตามข้างรั้วตามท้องนาถูกฉีดยาฆ่าหญ้าตายหมด  เงินจึงเริ่มเป็นสิ่งจำเป็นตามมา เพื่อซื้อทุกอย่างจากร้านค้า จากที่เคยจ่ายน้อย ก็จ่ายมากขึ้น จากที่เคยจ่ายมาก ก็กลายเป็นจ่ายทั้งหมด ข้าวผัก เนื้อ น้ำปลา ยารักษาโรค  สุดท้าย เงินจึงกลายมาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับชีวิตชาวนาที่ขาดไม่ได้


 


การเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรเมื่อเข้าสู่วงจรนี้  บัญชีรับจ่ายเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่ทำไม่ได้  ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ว่า มีกำไรหรือขาดทุน


 


เมื่อกลับมามองชาวนา ปรากฏว่าเกือบทั้งหมดไม่ได้ทำบัญชีรับ – จ่าย   สาเหตุเบื้องหลังน่าจะมาจากพื้นเพการทำที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก  แต่พอมาเป็นผู้ประกอบการนา  การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น  ผู้ประกอบการนาจึงคาดคะเนว่าน่าจะได้กำไร โดยเฉพาะการทำนาปรัง  เห็นทำทีไรได้เงินก้อนใหญ่ทุกที  แต่พอใช้หนี้เถ้าแก่เงินก็เกือบหมด   พอหมดก็ไปกู้มาใหม่ หมุนไปหมุนมาจนคิดว่าได้กำไรดี   สุดท้าย มีหนี้สินก้อนโตโดยไม่รู้ตัว


 


จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยไปนั่งทำบัญชีรับจ่ายร่วมกันกับชาวนาในภาคเหนือตอนล่าง   ในกรณีชาวนาที่มีที่นาเป็นของตนเอง  ทำในลักษณะใช้ปุ๋ยและยาเต็มที่  ใช้แรงตนเองบ้าง จ้างเขาบ้าง และใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ปรากฏว่า ทำ 10 ไร่ ได้กำไรวันละ 53 บาท จริง ๆ จะเรียกว่ากำไรคงไม่ถูกต้องนัก เพราะยังไม่ได้หักค่าแรงออกไป ส่วนกรณีที่ไปเช่านาเขานั้นได้ กำไรวันละ 36 บาท เรียกได้ว่าไปรับจ้างยังน่าจะคุ้มกว่าเพราะ ได้วันละ 120 บาท จากผลกำไรตรงนี้จะพบว่า ถ้าไม่มีรายได้อย่างอื่นเพิ่มเข้ามา หรือไม่ลดรายจ่ายยังซื้อทุกอย่างมากินใช้ในครัวเรือน   คงอยู่ไม่ได้แน่ เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปก็ต้องจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ากับข้าว ค่าเล่าเรียนลูก และอีกสารพัด อย่างต่ำไม่น่าจะน้อยกว่าวันละ 100 บาท


 


เปรียบเทียบคนชาวนาเมื่อก่อนกับชาวนาปัจจุบัน (ภาคเหนือตอนล่าง) รายได้จากชาวนาในสมัยก่อนได้จากนาเป็นหลัก มาสมัยนี้ก็ได้จากนาเหมือนเดิม ชาวนายังคงไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ แต่ชีวิตชาวนาอดีตปัจจุบันไม่เหมือนกันอีกต่อไป การทำนาปรังที่นิยมทำในปัจจุบันต่างกันไกลกับการทำนาปีในสมัยก่อน  โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุน การทำเพื่อจะได้ผลผลิตมาก ๆ ก็ต้องแลกกับการลงทุนที่สูง ใช้ปุ๋ยใช้ยามาก  ยิ่งทำนอกฤดูฝน พื้นที่ที่อาศัยน้ำบาดาลในการสูบน้ำ ค่าน้ำมันในปัจจุบันปาเข้าไปไร่ละประมาณ 1,500 บาท นี่เฉพาะค่าน้ำมันอย่างเดียว  จึงไม่แปลกใจ  ถ้ากำไรจะเหลือวันละ 36 บาท สำหรับนาเช่า และ 56 บาทสำหรับผู้มีนาเป็นของตนเอง


 


ปรากฏการณ์บ้านนาวันนี้ ชาวนาหลายคนติดหนี้สินรุงรัง  สุขภาพย่ำแย่  ลูกหลานอพยพออกไปจากถิ่น  เพราะอนาคตมีแต่จะมืดมน พ่อแม่หลายคนพยายามส่งลูกเรียนเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าวันนี้ของพ่อแม่   พ่อแม่บางคนถึงกับบอกลูกหลานว่า  "ทางที่ดีที่สุดคืออย่ากลับมาท้องนาอีกเลย เพราะอาชีพชาวนามีแต่ยากจน"


 


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า การทำบัญชีรับจ่ายสำหรับชาวนาที่เปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการนาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนวิถีการผลิต   ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ชาวนาคงเป็นเผ่าพันธุ์ที่ต้องสูญหายไปกระมัง  


 


การเปลี่ยนวิถีการผลิตสำหรับชาวนาเป็นสิ่งที่ใหญ่มาก  เพราะต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและวิธีทำ สิ่งเหล่านี้บรรพบุรุษของเราได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหลักคิดที่ทำให้ชาวนาอยู่ได้  รวมถึงผู้รู้หลายคนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านในปัจจุบันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การดำเนินชีวิตในแนวทางนี้จะนำพาเราไปสู่การอยู่รอดได้จริงๆ  


 


วิธีคิดที่ว่าคือ การเปลี่ยนจากที่เคยผลิตเพื่อขาย กลับไปสู่การผลิตเพื่อกินเหลือแล้วจึงขาย  เปลี่ยนวิธีการผลิตที่มุ่งทำลายธรรมชาติไปสู่การผลิตที่เอื้อกับธรรมชาติ เช่น การทำนาปี ซึ่งเป็นสภาวะที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยและยามาก พยายามทำปัจจัยการผลิตเอง ลดรายจ่ายโดยการทำอยู่ทำกินในครัวเรือน  


 


จุดแตกหักของการทำนาสมัยก่อนกับสมัยนี้ อยู่ที่ทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน   ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เหลือน้อยเต็มที  ต้นทุนเหล่านี้จึงต้องชดเชยในรูปเงินที่ใส่เพิ่มเข้าไป  เมื่อคิดหักลบกลบหนี้ ชาวนาปัจจุบันจึงไม่เหลืออะไรเลย  


 


ดังนั้น การพัฒนาต่าง ๆ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาจึงไม่ได้อยู่แค่การทำบัญชีรับจ่าย การให้เงินมา การหาที่ดินให้เท่านั้น การเร่งฟื้นฟูธรรมชาติของท้องทุ่งให้กลับคืนมาโดยเร็ว เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยชี้เป็น ชี้ตาย ในการดำรงชีวิตของคนชนบทและคนเมือง