Skip to main content

การคุ้มครองเด็กเป็นหน้าที่ของเราทุกคน

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นทุกวัน และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้จากภาพการนำเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิดสิทธิมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่นๆ


 


ด้วยการที่เด็กยังเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการดูแลตัวเองน้อย และจำเป็นต้องได้รับการดูแล ปกป้องคุ้มครองจากผู้ใหญ่ (หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า) เพื่อให้เด็กมีชีวิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต   ดังนั้น   การคุ้มครองเด็กจึงมีความหมายสำคัญที่จะสร้างเกราะคุ้มกันและปกป้องเด็กจากการถูกละเมิดสิทธิ  รวมทั้งอันตรายจากความรุนแรงต่างๆ ทั้งทางกายและใจ


 


แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ระบุไว้ในมาตรา 80 ว่า รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน  ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย   เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวและความเข้มแข็งของชุมชนและมาตรา 53  ระบุว่า เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม


 


เป็นผลให้เกิด พ...คุ้มครองเด็ก พ..2546   ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ 30 มีนาคม 2547 โดยหัวใจของกฎหมายฉบับนี้ คือ การเน้นความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองเด็ก การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนของผู้ปกครองตามมาตรฐานในกฎกระทรวง  การกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่น


 


พร้อมทั้งยังมี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) ..2542 บัญญัติให้การสอบปากคำเด็กในชั้นสืบสวนสอบสวน และในชั้นพิจารณาของศาล มีพนักงานอัยการ  ผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อมุ่งเน้นการคุ้มครองเด็ก ในกระบวนการทางยุติธรรม 


 


คำถามจึงมีอยู่ว่า  มีกฎหมายคุ้มครองเด็กแล้ว เด็กได้รับการคุ้มครองจริงหรือไม่  ทำไม??


 


ผมได้มีโอกาสฟังเรื่องราว ประสบการณ์จากการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิเด็กแห่งหนึ่ง  ซึ่งมีข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และน่าสนใจที่จะติดตามอย่างยิ่ง รวมทั้งสะท้อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ ในแนวปฏิบัติ


 


กรณีที่ 1 การข่มขืน พบว่า เด็กถูกข่มขืนตั้งแต่อายุ 5 ปีถึง 17  ปี รวม 7 ราย มีเด็กหญิงอายุ 5 ขวบถูกคนข้างบ้านข่มขืน เด็กหญิงอายุ 12  ปี ถูกพ่อและพี่ชายข่มขืนจนท้อง 6 เดือน  เด็กหญิงอายุ 15 ปี ถูกลุงข่มขืนจนท้อง 9 เดือน    เด็กหญิงใบ้อายุ 17 ปีถูกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพาไปข่มขืนในบ่อปลาของปลัดอำเภอ  เด็กนักเรียนหญิงอายุ 17 ปี ถูกแฟนและเพื่อนของแฟนอีก 5 คนรุมโทรม ที่เหลืออีก 3  รายถูกข่มขืนโดยเพื่อนบ้านที่รู้จักกัน


 


รายที่พ่อและพี่ชายข่มขืนไม่มีการแจ้งความ  เพราะพ่อถูกดำเนินคดีค้ายาบ้า  ส่วนพี่ชายต้องดูแลปู่ ย่า ญาติ ๆ ขอร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพี่ชาย    2 ใน 7 ราย ผู้ปกครองเป็นคนกระทำต่อเด็ก และ 2 รายเป็นการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ส่วนรายเด็กหญิงใบ้ผู้เสียหายไปแจ้งความ ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความโดยให้เหตุผลว่าหญิงใบ้เคยมีแฟนมาแล้ว  สุดท้ายมีการไกล่เกลี่ยและชดใช้ค่าเสียหาย 1,500 บาท ผู้กระทำผิดยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกินเงินเดือนภาษีของประชาชน และเฝ้าสวนลำใยของปลัดอำเภอต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


 


นอกจากนี้ยังมีคดีเด็กชายอายุ 16 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาคดีทำลายตู้โทรศัพท์สาธารณะ ตำรวจยึดเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กไว้  โดยไม่แจ้งเหตุผลการให้เด็กอยู่ในห้องขังโดยใส่กุญแจมือและให้เซ็นเอกสาร   ตำรวจไปรับเด็กมาโดยไม่แจ้งผู้ปกครองและผู้ใหญ่บ้านทราบล่วงหน้า และยังมีการพิมพ์คำให้การของเด็กไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีการสอบสวนเด็กสักครั้ง จนเด็กต้องรับผิดทั้งที่ตนไม่ได้ก่อเรื่องขึ้น


 


การได้รับรู้เรื่องราวข้างต้น  เสมือนสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า   มีความสลับซับซ้อนของปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสังคมไทย   แม้กฎหมายมีความตั้งใจให้เกิดการคุ้มครองเด็กแต่สังคมไม่มีการสร้างฐานความมั่นคงของครอบครัว รวมถึงกระบวนการศึกษาของเราไม่มีวิชาครอบครัวศึกษา วิชาสันติวิธีศึกษา ที่สร้างเสริมให้ลดการใช้ความรุนแรง


 


กล่าวคือ   การเรียนการสอนปัจจุบันเน้นวิชาการ เน้นการแข่งขันและการแสวงหาอำนาจ เงิน และทรัพย์สินเพื่อความอยู่รอดของตนเองและอยู่เหนือคนอื่น  เมื่อมีความขัดแย้งก็ใช้ความรุนแรงในการจัดการ


 


ทางด้านกฎหมาย  พบว่าทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานและกระบวนการสอบสวนขัดกับหลักการการปกป้องคุ้มครองเด็ก  เพราะการดำเนินการใดๆ  ทางกฎหมายกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องแจ้งพ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมายล่วงหน้า  เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในกรณีที่เด็กทำผิด หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ แต่กระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมายต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม  


 


เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนข้างต้นย้ำว่า  "การคาดหวังให้ครอบครัวปกป้องคุ้มครองเด็ก  ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการสร้างฐานความมั่นคงในครอบครัวทั้งทางเศรษฐกิจและทางจิตใจ  อันหมายถึงคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้กฎหมาย  เท่าทันปัญหา  ส่งเสริมให้รู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น  รู้จักรับผิดชอบ  และสามารถปกป้องตนเองได้   ในขณะเดียวกัน การปฏิบัติงานของผู้มีอำนาจ ก็ต้องคำนึงถึงสภาพปัญหา ข้อจำกัดของสังคมและพร้อมจะให้ความรู้ที่รอบด้าน ให้ความช่วยเหลืออย่างยุติธรรม  ไม่เลือกปฏิบัติ  ไม่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง  ตำรวจต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย  มีตำรวจหญิง  มีนักสังคมที่คอยให้ความช่วยเหลือ มีการลงโทษกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง  และที่สำคัญต้องมีการลงโทษกับผู้ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่  ตลอดจนผู้ที่ใช้อำนาจบารมีคุ้มครองผู้กระทำผิด"   


 


ท้ายที่สุด ในการปกป้องคุ้มครองเด็ก เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เริ่มจากการศึกษาข่าวสารข้อมูล กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ช่วยกันสอดส่องดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิ ช่วยให้เด็กหรือผู้ที่ถูกกระทำมีกำลังใจต่อสู้เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับตนเองและสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้สังคม   


 


ช่วยกันป้องกันตั้งแต่วันนี้ก่อนที่ผู้ถูกข่มขืนและละเมิดสิทธิคนต่อไปจะเป็นแม่ เป็นลูก เป็นญาติพี่น้องหรือเป็นตัวเราเอง   ดังนั้น การปกป้องคุ้มครองเด็กจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องทำร่วมกัน.