Skip to main content

ความกระด้างของสังคม

คอลัมน์/ชุมชน

สังคมไทยในระบบทุนนิยมในปัจจุบัน  ทำให้ทุกครอบครัวมีแต่ความเร่งรีบ อยากได้ อยากมีมากกว่าคนอื่น ทำให้เกิดสงครามการแย่งชิง  เช่น แย่งชิงกันใช้ถนน แย่งชิงผลประโยชน์ หรือบางเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดการแย่งชิงก็ยังแย่งชิง เช่น เรื่องของการจุดศพก็ยังแย่งชิงกัน แย่งชิงตักบาตรทำบุญ เหตุเพียงเพราะต่างคนต่างรีบเร่ง  ต้องการจะทำให้เสร็จไวๆ  เพราะหากไม่รีบเร่งคอยสักครู่ก็ไม่ต้องแย่งชิง


 


เหตุการณ์อย่างนี้ทำให้ความละเอียดอ่อนของสังคมปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที  สิ่งที่แย่ที่สุดคือ คนที่กระทำเองก็ไม่รู้ตัว  โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีวิถีชีวิต ต่างคนต่างอยู่ ไม่ใส่ใจ และไม่ไว้วางใจกัน  ไม่ใช่ไม่ใส่ใจต่อผู้อื่นเท่านั้น  แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน นับวันก็ยิ่งใส่ใจกันน้อยลงไปทุกที    ทุกคนล้วนมีเหตุผลของตนเอง  ครอบครัวที่มีเงินหน่อย พ่อ-แม่ก็มีงานยุ่งเพราะธุรกิจรัดตัว  ส่วนพ่อ-แม่ที่ยากจนก็ต้องทำงานเต็มเวลา ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีกิน ลูกๆ ก็มีเหตุผล ทั้งเพื่อนและเรื่องเรียน   สังคมที่เป็นรากฐานของชีวิต   เริ่มอ่อนล้าลงไปทุกวัน แต่ก่อนอาจจะเกิดขึ้นเพียงสังคมเมือง แต่ในปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านี้ลามลงสู่ชุมชนอย่างยากที่จะมีใครหยุดไว้ได้ ความเป็นครอบครัวนับวันก็แทบจะไม่มีให้เห็น และยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ไหน และจะหาทางเยียวยากันยังไง


 


หากจะพูดถึงเรื่องชนบทและเมือง ปัจจุบันก็แทบจะแยกแยะไม่ออก  เพราะความเจริญเข้าไปถึงทุกๆ ที่  กระแสของสังคมเมืองสามารถเข้าไปได้หมด  ไม่มีอะไรสกัดไว้ได้  ไวรัสในคอมพิวเตอร์ที่ว่าร้ายๆ ก็ยังมีคนแก้ไขได้ แต่กระแสของความเจริญยังไม่มีแนวทางแก้ไข เพราะทุกคนมุ่งที่ฐานะ ความสะดวกสบาย และหน้าตาทางสังคม มากกว่าจะมุ่งเรื่องความมั่นคงของครอบครัว


 


ผู้เขียนมีตัวอย่างของสองครอบครัวในชุมชนประมงมาเล่าให้ฟัง  ครอบครัวที่ ๑ มีลูก ๒ คน พ่อแม่รักลูกมาก ส่งเสียให้ลูกได้เรียนทั้ง ๒ คน ลูกๆ ก็เป็นเด็กน่ารัก เชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งอกตั้งใจเรียน จนสำเร็จการศึกษา และมีงานทำที่มั่นคง คนหนึ่งได้เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐ อีกคนหนึ่งเป็นสหกรณ์จังหวัด พ่อแม่ก็ชื่นใจคุยให้เพื่อนบ้านฟังเสมอเมื่อลูกได้เลื่อนตำแหน่ง  


 


ครอบครัวที่ ๒ มีลูก ๕ คน พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเรียน  ได้แต่สอนวิชาทำประมงให้ ลูกคนแรกๆ อ่านหนังสือไม่ได้ เขียนชื่อตัวเองได้อย่างเดียว หากมองถึงอนาคต ครอบครัวแรกมีความมั่นคงมากกว่า ซึ่งหลายๆ คนก็เห็นอย่างนั้น  แต่ผู้เขียนค่อนข้างมีความรู้สึกขัดแย้งเพราะเมื่อยามพ่อแม่ป่วยไข้  ลูกครอบครัวแรกไม่มีเวลามาดูแลพ่อแม่ เพราะงานยุ่ง ไม่สามารถทิ้งงานมาได้  หรือมาได้ก็แค่วันสองวันก็ต้องรีบกลับ  ดังนั้น บ้านจึงเหลือเพียงพ่อแม่ ยามเจ็บยามไข้ก็ต้องดูแลกันเอง หุงหาอาหารกินเอง ทั้งๆ ที่มีอายุ ๘๐ กว่าปีก็ยังต้องดูแลตนเอง (คนพวกนี้จะมีเวลาว่างเฉพาะลูกเมียหรือสามีป่วยเท่านั้น เป็นอย่างนี้ทุกครอบครัว ไม่เชื่อลองสังเกตคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านดูก็ได้)


 


ส่วนครอบครัวหลัง ลูกๆ ทุกคนอยู่ในชุมชนเดียวกันหมด ยามพ่อแม่ป่วยไข้ ลูกๆ นั่งล้อมเต็มเตียง และผลัดเวรกันมาดูแลไม่เคยขาด ผู้เขียนอยากให้คุณผู้อ่านคิดตามถึงคำว่า มั่นคง ว่ามันหมายถึงอะไร  ความมั่นคงทางฐานะในสังคม หรือความมั่นคงของครอบครัว  อะไรที่ทำให้มนุษย์มีความสุขมากกว่ากัน 


 


เรื่องที่เขียนมาถึงครอบครัวที่ ๒ อาจหาได้ยากในชุมชนเมือง    แต่ในชนบทหรือที่เรียกว่าบ้านนอก ยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยังพอมีเค้าโครงของคำว่าครอบครัวที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์เหลืออยู่บ้าง หากจะบอกว่า สังคมวันนี้มีแต่ความหยาบกระด้าง ด้วยหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เป็นไป แต่มันก็ยังไม่หมดไปซะทีเดียว  อย่างเช่น ชุมชนประมงบ้านปากมาบ จังหวัดสมุทรสงคราม  อยู่ใกล้ๆ กับดอนหอยหลอด  ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด เป็นชุมชนที่ผู้เขียนเกิดและโต  ปัจจุบันก็ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอตายอยู่ที่นี่ เพราะที่นี่ยังมีอะไรหลายๆ อย่างที่คงวิถีของชุมชน ที่ยังคงความละเอียดอ่อนเอาไว้ได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการประกอบอาหาร ชาวบ้านที่นี่ยังให้ความสำคัญกับการกิน ทุกครอบครัวยังปรุงอาหารกินเอง  


 


ทุกๆ เช้าเรายังได้ยินเสียงโขลกน้ำพริก  เสียงขูดมะพร้าว  แต่ละครอบครัวจะนั่งกินข้าวพร้อมๆ กัน (ล้อมวงกินเหมือนเล่นไฮโลนั่นแหละ) ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ  เพราะการกินข้าวพร้อมกันทั้งครอบครัวเป็นเรื่องของความอบอุ่นที่ไม่ต้องบอกเล่าออกมาเป็นคำพูด แต่มันมีอยู่ในตัวเองโดยอัตโนมัติ เพราะกว่าจะตั้งวงกินข้าวร่วมกันแต่ละมื้อ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่คิดร่วมกันว่า จะทำกับข้าวอะไร และที่สำคัญคือการช่วยกันทำอาหาร เพราะการประกอบอาหารของคนไทยทุกยุคทุกสมัย จะมีความละเอียดอ่อนละมุนละไมอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนในการตระเตรียมเครื่องปรุง และการปรุงอาหาร และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุกคนก็มานั่งกินร่วมกัน  มีอะไรก็แบ่งปันกัน แย่งกันบ้าง คุยกันบ้างอย่างสนุกสนาน


 


นอกจากการกินอาหารบ้านตนเองแล้ว ยังมีการเผื่อแผ่สิ่งของและกับข้าวไปสู่บ้านใกล้เรือนเคียง   เพราะบางครั้งเราให้แกงเป็ดไป พรุ่งนี้อาจได้กินแกงปลา และอื่นๆ ที่เพื่อนบ้านทำ หรือแม้แต่การถือจานข้าวหรือที่ยายเคยบอกว่า "เอ็งนี่ชอบร่อนจานข้าว" ไปขอกินกับเพื่อนบ้านก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ (เรื่องนี้ผู้เขียนทำบ่อย ทุกวันนี้ก็ยังทำ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้เขียนขอเรียกว่า "ความสุขบนรากฐานของชีวิต" และความละเอียดอ่อนบนรากฐานของชุมชนและสังคม 


 


เรื่องง่ายๆ เหล่านี้เกิดขึ้นยากกับสังคมเมือง เพียงแค่หาเวลากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันภายในครอบครัวยังหาไม่ค่อยได้ ด้วยความเร่งรีบของชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้คนละเลยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้  จนทำให้การอยู่ร่วมกันของครอบครัวเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างหยาบๆ  ขาดการพูดคุย และไม่ค่อยมีกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน  เพียงอยู่รวมๆ กันให้พอเรียกได้ว่าเป็นครอบครัว  ดังนั้น จึงไม่ต้องหวังไปถึงสังคมภายนอก เพราะขนาดในครอบครัวเองยังขาดความละเอียดอ่อน ความอ่อนโยน แล้วจะไม่ให้สังคมไทยมีแต่ความหยาบกระด้างได้อย่างไร


 


วันนี้ผู้เขียนๆ เรื่องหมู่บ้านตนเองมาเล่าสู่กันฟังด้วยความภาคภูมิใจ  แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า สังคมอย่างนี้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เพราะความเจริญมันกำลังก้าวเข้ามาอย่างรวดเร็ว  ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าจะมีแรงยื้อมันได้นานแค่ไหน แค่วันนี้ยังเหลืออยู่ก็พอใจแล้ว