Skip to main content

สังคมพิการ หรือ คนพิการ

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน  ได้เห็นข้อเรียกร้องของผู้พิการทางสายตายื่นต่อรัฐบาลในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ถูกละเมิดด้วยกฎหมายของไทยเอง นั่นคือ การไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทุกประเภท  เช่น กรณีเกี่ยวกับการมองเห็นคือ ไม่มีป้ายสัญญาณที่เป็นอักษรเบล (อักษรเป็นจุดนูนเพื่อใช้มือสัมผัสในการอ่าน) ในที่สาธารณะ หรือจะเป็นสัญญาณเสียงตามป้ายรถเมล์ ทางข้ามถนน ตามอาคารสำนักงานต่างๆ โดยเฉพาะอาคารของหน่วยงานราชการที่ประชาชนจำเป็นต้องเข้าไปรับการบริการ  ทางลาด  ลิฟท์ที่มีทั้งเสียงหรืออักษรเบล  ห้องน้ำที่สะดวกสำหรับผู้พิการทุกประเภท


 


รัฐได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ในชื่อว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคารสถานที่ ฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่กำหนดว่าการออกแบบและการก่อสร้างอาคารต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทุกประเภท เป็นกฎหมายในการรับผิดชอบของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย  ซึ่งผู้พิการต่างเฝ้ารอการปฏิบัติให้เป็นจริง 


 


ครั้นเมื่อตัวแทนผู้พิการได้มีโอกาสไปสำรวจสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหึมาที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน กลับพบว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก   ทั้งนี้ บริเวนห้องโถงผู้โดยสาร สถานีรถไฟ  ได้รับการออกแบบอย่างดีให้สะดวกสำหรับผู้พิการทุกประเภท  แต่บริเวณลานจอดรถ อาคารเชื่อมต่อต่างๆ  กลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ ทางกลุ่มผู้พิการจึงครุ่นคิดไปถึงอาคารใหม่ๆ ที่กำลังจะก่อสร้าง  รวมถึงการปรับปรุงอาคารเดิมต่างๆ ควรต้องได้รับการเอาใจใส่ในเรื่องนี้


 


สังคมมักลืมเสมอว่า ยังมีเพื่อนมนุษย์จำนวนมากที่มีความพิการ แต่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนทั่วไป  และมีชีวิตเฉกเช่นเราๆ ท่านๆ  กิน อยู่ ทำงาน ท่องเที่ยว  ร่วมกิจกรรมสาธารณะ  ร่วมการพัฒนาสังคม 


 


สังคมไทยพิการทางใจและความรู้สึก เมื่อตัดสินใจว่าผู้พิการคือผู้ไม่สมประกอบ จึงไม่มีคุณค่าพอในสังคม ตลอดจนควรเก็บไว้ในที่ไกลหูไกลตา ยิ่งผู้พิการทางจิต ผู้พิการทางสมอง ที่ครอบครัวต้องรับผิดชอบเก็บงำซ่อนไว้ให้มิดชิด  บางทีถึงขั้นล่ามโซ่ไว้ตลอดชีวิตทีเดียว ความพิการของสังคมทำให้เกิดความเคยชินว่าไม่มีผู้พิการอยู่ในสังคม หรือเห็นผู้พิการเป็นเพียงผู้สมควรได้รับการสงเคราะห์ แม้แต่การทำบัตรประชาชน ยังยกเว้นให้ผู้พิการไม่ต้องทำก็ได้ เพราะเห็นว่าไม่สะดวกมาทำ และอาจเลยไปถึงว่าทำไปจะมีโอกาสได้ใช้หรือเปล่า  หรือหากมีบัตรผู้พิการแล้วไม่ต้องมีบัตรประชาชนก็ได้  แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการละเมิดสิทธิความเป็นคนไทย  


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่การปกครองที่ทำหน้าที่ออกบัตรประชาชน ที่เลือกใช้ระเบียบยกเว้นของกระทรวงมหาดไทยนี้ไปด้วยความหวังดีหรือหวังร้ายไม่ทราบ เพราะการยกเว้นนั้นเป็นกรณีเฉพาะที่มีความพิการสูง ไม่อาจเดินทางเคลื่อนที่ได้ รวมถึงอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารจนไม่อาจหอบหิ้วกันมาทำบัตรได้  จึงยกเว้น  เพราะหากคนไทยไม่ทำบัตรประชาชนจะผิดกฎหมายได้ แต่หากผู้พิการที่สามารถไปขอทำบัตรต้องดำเนินการให้ทุกรายการตามการร้องขอโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ  ไม่ต้องอ้างข้อยกเว้น และต้องไม่บังคับให้ผู้พิการเสียค่าธรรมเนียม  อันเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคนทั่วไปที่ไปขอทำบัตรกับผู้พิการ ทั้งนี้  การไม่มีบัตรประชาชนจะทำให้ผู้พิการขาดสิทธิอื่นๆ  ต่อเนื่องตามมา เช่น การขอรับบัตรประกันสุขภาพ การไปขอเปิดบัญชีธนาคาร การขอกู้เงิน การลงทุน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยิ่งทำให้ผู้พิการขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองยิ่งขึ้น


 


ในฐานะที่ผู้พิการก็เป็นคนไทย  ควรได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนบุคคลทั่วไป ตลอดจนได้รับบริการพิเศษชดเชยความพิการที่ได้รับ เช่น ผู้พิการทางการได้ยินไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะได้ รัฐต้องจัดบริการโทรสาร (แฟกซ์) สาธารณะบริการฟรีกับเขาเหล่านี้เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับสิทธิในการสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การคมนาคมขนส่งต่างๆ  ต้องออกแบบให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว  ผู้ใช้รถเข็น สามารถใช้บริการได้ เช่น ชานชาลารถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน สามารถทำให้คนพิการ คนสูงอายุ เข้าออกรถโดยสารสาธารณะได้สะดวก ปลอดภัย  


 


รถไฟของไทยต้องปรับปรุงให้มีโบกี้สำหรับผู้พิการ  ซึ่งเป็นเรื่องตลกเศร้าที่พบว่า ประตูตู้โดยสารของรถไฟไทย แคบเกินกว่าจะให้รถเข็นเข้าได้  ไม่ต้องพูดถึงว่าไม่มีทางลาดทางยกระดับสำหรับเข้าสู่ประตูตู้รถไฟ ทุกวันนี้ตามสถานีรถไฟ เรายังคงเห็นภาพอนาถใจที่คนสูงอายุ ยักแย่ยักยันไต่บันไดรถไฟ  ไหนจะตัวเอง ไหนจะข้าวของ  คนไทยด้วยกันเอง นายสถานี พนักงานรถไฟ ต่างก็ชาชินกับภาพเหล่านี้  ไม่ได้คิดเลยว่าทุกคนกำลังร่วมกันละเมิดและลิดรอนสิทธิของคนที่ทุกข์ยากลำบากกว่าตนเอง  


 


สิ่งที่สังคมมักจะประณามคือลูกหลาน ญาติพี่น้อง ว่าทำไมปล่อยให้คนแก่ คนพิการ ออกมาทำอะไรที่ทุเรศน่าอนาถใจเช่นนี้  มันจึงเข้าวังวนวิธีคิดแบบเดิมๆ คือ คนพิการ คนแก่ ไม่สมควรออกมาใช้ชีวิตสาธารณะ ซึ่งกลับกันกับสังคมอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทุกคนในที่สาธารณะ อาคารที่พักอาศัย อาคารที่ทำงานรัฐ  ตลอดจนการดำเนินการให้ผู้พิการทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้  โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต  การเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ทางราชการที่มีการออกแบบสำหรับทุกคน ผู้พิการทุกประเภท ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้  รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้พิการให้ทุกคน เด็กนักเรียน ได้รับรู้เพื่อเข้าใจและปฏิบัติการด้านการเคารพสิทธิได้อย่างแท้จริง ทุกวันนี้คนไทยรู้จักผู้พิการทางจิตใจบ้างไหม  ผู้พิการทางกาย ทางสมอง มีความต้องการในเรื่องคุณภาพชีวิตอย่างไร มีใครรู้บ้างไหม ยกมือขึ้น


 


ทุกสังคมมีผู้พิการ แต่สังคมใดพิการไปด้วย ก็ดูได้จากการจัดการเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในสังคมนั้นๆ เป็นประจักษ์พยาน