Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิดตอน 9

คอลัมน์/ชุมชน

พบกันอีกแล้วค่ะ ท่านผู้อ่าน เรื่องราวกำลังเข้มข้น เหมือนนิยายน้ำเน่าเลยใช่ไหมคะ แต่เป็นนิยายที่มีเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง ซึ่งตอนต่อไปนี้อาจจะเน่ากว่าละครน้ำเน่าที่ว่าเน่า ๆ ในทีวีซะอีก เพราะนั่นมันเป็นเน่าแบบชาวบ้าน แต่เน่าต่อไปนี้จะเป็นเน่าจากผู้บริหารประเทศ จึงเป็นเรื่องเน่าใหญ่โตกว่าที่คิด


ตอนที่แล้วเขียนค้างไว้ตอนวันงาน สิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งกำหนดจัดงานในเดือนพฤษภาคม 2547 ( จำวันที่ไม่ได้) สถานที่จัดงานคือกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีอาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ประสาน ซึ่งเป็นคณะอาจารย์ที่เคยได้รับฟังข้อมูลและได้รับเอกสารประกอบเรื่องข้อกังวลที่อาจเกิดจากสะพานเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ ทางอาจารย์สนใจข้อมูลของชาวบ้าน และเชิญให้ชาวบ้านไปเปิดบูธ เพื่อจัดแสดงข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล บริเวณแนวสะพานจะพาดผ่าน ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีเข้าร่วมงาน


โดยชาวบ้านได้จัดประชุมร่วมกัน และแบ่งหน้าที่กันทำ ทั้งเรื่องการเรียบเรียงข้อมูล การจัดนิทรรศการรูปภาพประกอบ รวมทั้งพาหนะในการเดินทางอย่างเต็มใจ เพราะทุกคนคาดหวังว่าข้อมูลของชาวบ้าน จะได้เผยแพร่ไปสู่ผู้คนภายนอก และทำให้เกิดการเปรียบเทียบข้อมูลของฝ่ายรัฐที่ต้องการจะสร้าง และฝ่ายชาวบ้านที่กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ( ตามความรู้ของชาวบ้านมันเกิดแน่นอน)


แม้จะเป็นการต่อสู้ที่เป็นมวยคนละรุ่นก็ตาม เพราะฝ่ายรัฐมีข้อมูลเชิงวิชาการมีผลงานวิจัย ( อัปยศ) รองรับ มีคณะอาจารย์ และข้าราชการที่ทรงคุณวุฒิ วัยวุฒิมากมาย และที่สำคัญ คือมีสื่อทุกรูปแบบอยู่ในมือ แต่ฝ่ายของชาวบ้านมีเพียงประสบการณ์ และชาวบ้านที่ผันตัวเองเข้ามาเป็นนักวิชาเกินเพียงกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเดียว ถึงแม้เรื่องการจัดทำข้อมูลชาวบ้านจะไม่ถนัด และรู้ว่าเป็นการต่อสู้ที่ค่อนข้างเสียเปรียบ หรือไม่มีทางชนะได้เลย แต่ชาวบ้านก็พร้อมจะต่อสู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นทางชนะเลยก็ตาม


แต่เรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้นก่อนวันนัดหมายเพียง 1 วัน คือพรุ่งนี้เป็นวันงาน ตอนเย็นชาวบ้านบ้านได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ที่ประสานงานมาว่า บูธของชาวบ้านเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลเกี่ยวกับเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ถูกสั่งระงับไม่ให้มีการจัดแสดง โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่จากเบื้องบนสั่งมา ซึ่งทั้งอาจารย์และกรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจปฎิเสธได้ อาจารย์คนนั้นได้กล่าวขอโทษชาวบ้านผ่านทางโทรศัพท์ และบอกว่าอาจารย์ไม่มีอำนาจในการคัดค้านคำสั่ง แต่อาจารย์รู้สึกผิดต่อชาวบ้านมาก นี่คือคำที่เราได้รับทราบ โดยที่ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าไอ้ผู้ใหญ่ที่มาสั่งระงับนี่ มันคือใคร เพราะถามไปก็ไม่มีคำตอบ


เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นแรก ๆ ชาวบ้านก็ยังงง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งแน่ใจว่าความเป็นธรรม และข้อเท็จจริงไม่มีอยู่ในอำนาจรัฐและอำนาจนักการเมือง เพราะหากอะไรที่นักการเมืองคิดที่จะทำ มันก็ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นจะส่งผลกระทบกับใคร และกับอะไรก็ไม่สนใจ ทุกอย่างสรุปอยู่ที่อำนาจ


ชาวบ้านเริ่มรู้ว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะคู่ต่อสู้นั้นมีพลังและมีความพร้อมมากกว่า และที่สำคัญเป็นคู่ต่อสู้ที่หน้าด้าน เห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เอาเปรียบชาวบ้านวิถีทาง หวังแต่เพียงชนะโดยไม่แม้จะมองความคิดและข้อมูลเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านพยายามหามาด้วยความยากลำบาก ที่หวังจะให้ข้อมูลเหล่านั้นออกสู่สาธารณชนให้ร่วมรับรู้ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินการ ต่อไป


ความเจ็บช้ำที่ได้รับบวกกับความกลัวที่มีอยู่เดิม ชาวบ้านจะดำเนินการอย่างไร พบกันตอนหน้า