Skip to main content

เพื่อชีวิตแห่งกาลปัจจุบัน (๒) : ศิลปิน VS จัดระเบียบสังคม

คอลัมน์/ชุมชน


"โรงเรียน...... (กรุณาเติมชื่อโรงเรียนตามใจชอบ) ขอสนับสนุนนโยบายจัดระเบียบสังคม" เป็นข้อความที่ผมมักจะได้เห็นตามหน้าโรงเรียนอยู่ในช่วงหนึ่ง (ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังมีป้ายพรรค์นี้ติดอยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้)



 


ป้ายที่ว่าทำให้เกิดคำถามบางอย่างขึ้นมาว่า ไอ้คำว่า "สนับสนุนนโยบายจัดระเบียบสังคม" ที่ว่าเนี่ย มันคือการ "สนับสนุน" จากทั้งโรงเรียนจริงๆ เหรอ หรือเป็นเพียงการ "สนับสนุน" แบบ "ตามใบสั่ง" ของผู้ใหญ่ในโรงเรียนกันแน่


 


แล้วเสียงตั้งคำถามต่อนโยบายนี้มันหายไปไหนกันเล่า  ถ้าไม่นับเสียงเล็กๆ ของผู้ประกอบการคาเฟ่ ที่เงียบหายไปในเวลาอันสั้น ยิ่งกับเยาวชนที่น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ที่สุด กลับไม่ได้เป็นเสียงที่ถูกพูดและถูกฟังเท่าที่ควร


 


ว่าแล้วผมก็ขอหยิบงานเพลงชิ้นหนึ่ง ที่เลือกจะไม่ทำตัวเป็นเด็กดี (เหมือนกับที่ค่ายใหญ่ๆ แถวอโศกกับลาดพร้าวเขาทำกันนะครับ)  แต่เลือกจะต่อกรกับนโยบายที่ว่านั้น


 


งานที่ว่าคือเพลงชื่อ Cinderella โดยกลุ่ม Midnite Krisis All Starz ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี ๒๕๔๗ครับ



กลุ่มดนตรีนี้เป็นกลุ่มแบบ
"เฉพาะกิจ" อันเป็นการรวมตัวของสมาชิกวงดนตรีในสายอินดี้หลายๆ วง ทั้งตุล ไวฑูรเกียรติ และปิย์นาท โชติกเสถียรจากอพาร์ตเมนต์คุณป้า, หทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ จาก Styrene Jungle และ David Coker จาก Futon


 


ในส่วนของตัวเพลงนั้น พวกเขาพยายามเสนอภาพของนักดนตรีกลางคืนตกงาน อันอาจจะเป็นมุมที่ไม่ค่อยมีใครมองเท่าไหร่นัก


 

  
"เรื่องที่เปลี่ยนไปไม่รู้เริ่มขึ้นเมื่อใด ในยุคที่นายกจัดมหกรรมกินไก่

เศรษฐกิจส่วนตัวมันจึงไม่ค่อยเป็นใจ ผมจึงต้องหาทางออกโดยการเริ่มต้นใหม่

เรื่องที่ผมตกงาน มันเพราะรัฐบาลมองว่าเป็นความบันเทิงก่อเกิดความอนาจาร

จึงทำให้นักดนตรีที่มักจะโดนจ้างเล่นฟรี เสียโอกาสในการทำตัวเป็นศิลปินที่ดี"

 

"ไม่ได้ร้องไม่ได้เต้นไม่ได้ออกมาพูดเล่น โดนจำกัดสิทธิในสิ่งที่ผมไม่อยากเป็น

ผมอาจจะมีมุมมองในมุมที่คุณไม่เข้าใจ แค่เพียงอยากแสดงออกในความเป็นคนไทย

ที่มองต่างมุมกับอำนาจที่รัดกุมทำตัวประชดชีวิตไปด้วยความสุขุม

เมามายเพียงสุราโดยไม่คิดจะเมายาให้กลับบ้านตอนมีสติคือความคิดที่บ้า"

 

ในมุมของผู้ใหญ่หัวครึ อาจจะมองว่ามันเป็นแค่เสียงของนักดนตรีขี้เมา แต่ถ้ามองในอีกด้านของเหรียญ มันก็สะท้อน
ถึงมุมมองของผู้ประสบปัญหาจากการแก้ปัญหา
...ทั้งๆ ที่การแก้ปัญหา มันก็น่าจะทำให้ปัญหามันหมดไปนี่นา...

 

"ไม่มีงานไม่มีเงินแอลกอฮอล์คือส่วนเกิน พวกเราตกในที่ยากเราจึงไม่มีสิทธิ์เขิน

หน้าด้านเท่านั้นจึงนำไปสู่ทางออก แหกปากออกประท้วงไม่มีผู้ใหญ่เข้าใจหรอก

อาร์ซีเอพัฒน์พงษ์ไปจนถึงรัชดา โดนจำกัดอาณาเขตใน Base on เวลา

ทุกๆ สิ่งจะเปลี่ยนไปในเวลาหนึ่งนาฬิกา ผมจึงกลายเป็นรถตกรุ่นก็เพราะคุณประชา

 

ภรรยาที่เคยรักตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นชัง นี่คือกรรมของนักดนตรีที่ไม่มีโอกาสดัง

หาเลี้ยงชีพถึงตอนนี้ก็เพราะงานกลางคืน เห็นทีจะถึงเวลาวางไมค์ไปจับปืน

ปัง ปัง ปัง เหนี่ยวไกแล้วออกปล้น เศรษฐกิจไม่พอเพียงผมจึงต้องดิ้นรน

อยากได้เงินเป็นหมื่นห้าซื้อเสื้อผ้าให้แฟน จะไปกู้ยืมเขาเดี๋ยวเขาจะหาว่าไม่แมน"

 

ในตอนต่อไป ผมจะพูดถึงวงดนตรีสุดอื้อฉาว ที่เคยทำให้วงการสั่นสะเทือนมาแล้ว ด้วยเพลงที่นับว่ามีเนื้อหา "แรง"มากที่สุดในยุคนั้น และไม่น่าเชื่อว่าคนทำเพลงคนเดียวกัน จะสามารถทำเพลงในอัลบั้มสำหรับเด็กมาแล้ว


 


พบกันในคราวหน้าครับ