Skip to main content

ชีวิตเขา ชีวิตเรา

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้เข้าเมืองใหญ่อีกหนหนึ่งเพราะได้หยุดยาว  คราวนี้ได้ทำอะไรหลายอย่างกว่าเดิม


เพราะจัดตารางเวลามาดีกว่าเดิม


 


ผู้เขียนตั้งใจแค่ว่าขอให้ได้ออกจากเมืองเล็กที่อาศัยอยู่ เพราะว่าไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจ  ไม่มีอะไรที่ "ฟุ่มเฟือย"


ให้ดู ตามประสาคนที่ยังติดอยู่ในวัตถุนิยมบ้าง  มันก็ทำให้เห็นว่าวัตถุนิยมพอมีดีบ้าง ไม่ใช่เลวทุกด้าน


ยกเว้นว่าจะมากเกินไปจนทำให้ตนเองไม่มีความสุข  เพราะต้องขวนขวายมากจนเกินไปเพื่อให้ได้มา


 


หลังจากที่ซื้อกับข้าวกับปลามาบ้าง พร้อมทั้งของที่ต้องกินต้องใช้อื่นๆ  ผู้เขียนกับเพื่อนคนเดิมก็เดินทางกลับ


ระหว่างทางมีร้านเปิดใหม่ชื่อ Cabela's เป็นร้านที่ขายของอุปกรณ์กีฬากลางแจ้ง โดยเฉพาะการยิงนก


การตกปลา การล่าสัตว์ป่า เช่น กวางป่า มีอุปกรณ์ตั้งแต่ระดับง่ายๆ แบบคันตกปลาเด็กๆ  (อันนี้เห็นได้ว่า


เป็นการสั่งสอนวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง) จนถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า


แบบเรียกว่าตกไงๆ ปลาหนีไปไหนไม่ได้ เจ็บตัว หรือตายลูกเดียว หากอยากจะรู้ว่า


ร้านนี้ขายอะไรบ้างพอดูได้ที่ http://www.cabelas.com/cabelas/en/templates/home/home.jsp 


(อันนี้ไม่ได้ค่าโฆษณา แต่อยากให้เห็นว่ามีขายอะไร)


 


ที่ต้องหยุดแวะที่ร้านยักษ์นี้ เพราะเพื่อนผู้เขียนอยากได้เสื้อกันหนาวบางๆ ที่คล่องตัว แต่ทำให้ร่างกายอุ่น


(ฝรั่งเค้าเก่งเรื่องนี้และผลิตออกมาเพื่อการออกป่า แต่ใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้)  ผู้เขียนเดินชมห้างได้


ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็รีบออกมาเพราะอึดอัดมาก เห็นอาวุธประหัตประหารต่างๆ  เห็นเครื่องมือที่จะช่วย


ให้มนุษย์มีอำนาจมากเกินความจำเป็น เพื่อทำลายล้างสัตว์โลกอื่นๆ ที่ไม่มีปัญญาต่อสู้กลับได้ แต่ที่น่า


สังเกตคือ คนอเมริกันถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมของพวกเขา เพราะมาจากการที่ต้องมาบุกเบิก


ในโลกใหม่ของเขาในประวัติศาสตร์


 


หลายคนอ้างว่า การยิงนก การตกปลา การล่าสัตว์ดังกล่าว  เป็นการช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ให้มี


สัตว์มากเกินไป เช่น กวางป่า ผู้เขียนสังเวชใจมาก ตั้งคำถามว่าตกลงโลกนี้มนุษย์เป็นผู้กำหนดชีวิตสัตว์อื่น


หรืออย่างไร เรามีสิทธิอะไรที่จะไปตัดสินหรือควบคุมชีวิตสัตว์อื่น ยิ่งสัตว์ที่ไม่ได้ทำร้ายอะไรเราได้เลย


แต่พวกที่ พิสวาทการยิงนก การตกปลา การล่าสัตว์คงเถียงในเรื่องนี้คอเป็นเอ็น


 


ผู้เขียนนึกถึงนิสัยของคนอเมริกันโดยทั่วไปว่าทำไมจึงได้โหดร้ายขนาดนี้ แล้วจากประสบการณ์ที่อยู่มากว่า


๑๒ปี ทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องโหดในบางขณะ และนึกยาวต่อไปถึงการรุกรานดินแดนต่างๆ  


การเข้าไปพัวพันกับการแย่งชิงผลประโยชน์ต่างๆ ของรัฐบาลและนักลงทุนอเมริกันโดยทั่วไป  (ขอเน้นว่า


คนอเมริกันดีๆ  ก็มี) ก็คงมาจากสันดานที่โดนกล่อมเกลาในเรื่องนี้ คือการที่ต้องเป็นหนึ่งและมีอำนาจในการ


ควบคุมคนอื่นและสัตว์โลกอื่นๆ ในขณะที่พยายามสร้างความได้เปรียบในทุกด้าน เช่น เทคโนโลยี


เพื่อเสริมส่งความยิ่งใหญ่ของตนเอง ซึ่งไม่ใช่แค่คนอเมริกันเท่านั้น แต่หมายถึงชาวตะวันตกโดยทั่วไปด้วย


 


เป็นที่รู้กันว่า เรื่องการสร้างความได้เปรียบดังกล่าว มีมานานแล้ว และเห็นได้ชัดเจนในช่วงยุคล่าอาณานิคม


ที่ชาวตะวันตกพวกนี้ได้นำความได้เปรียบมาข่มขู่กรรโชกดินแดนอื่นๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ต่อตนเอง


โดยอ้างว่าชนชาติอื่นด้อยกว่าตนเอง เพื่อทำให้ตนเองดูดี แต่ที่แท้คือการนำกระบอกปืนมาจ่อปากชาว


พื้นเมือง แล้วบอกว่าจะนำความเจริญมาให้ จริงๆ แท้คือ  "ฉันจะบังคับให้เธอคิดอย่างที่ฉันคิด ทำอย่าง


ที่ฉันทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของฉัน"  และแม้กระทั่งศาสนาที่นำเข้ามาโดยใช้ข้อแลกเปลี่ยนว่า


"ถ้ามาถือศาสนาแบบฉัน ฉันจะช่วยเธอ"  ซึ่งเป็นการล้างสมองแบบถึงรากถึงโคน เพราะจะได้ปกครองได้


ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม  การรุกรานแบบล่าอาณานิคม ก็มีประโยชน์ในอีกด้าน คือเป็นการล้มล้างแนวคิดบางอย่าง


ที่ให้อำนาจแก่ชนชั้นปกครองเดิมในแต่ละชนชาติ เป็นการท้าทายอำนาจที่ชัดเจนและรุนแรง ทำให้เกิด


การเปลี่ยนแปลงในด้านบวกบ้าง


 


น่าเสียดายที่ว่า ในที่สุดชนชั้นปกครองเดิมในแต่ละชนชาติก็ต้องยอมแก่อำนาจของชาวล่าอาณานิคม


และปรับโครงสร้างเดิมให้เข้ากับระบบใหม่ กลายเป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับอำนาจของนายใหม่


ชาวตะวันตก จึงทำงานยากกว่าเดิมแต่ก็ยังดีกว่าหมดอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง  แต่คนที่ซวยสุดก็คือชาวบ้าน


ตาดำเช่นเคย เพราะไม่ได้โงหัวเลย


 


ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ  มีแนวคิดในเรื่องนี้เหมือนกัน คือต้องการเอาชนะและควบคุม


ทุกอย่าง ซึ่งก็เห็นได้จากการดำเนินชีวิตทั่วไป ที่เน้น "การดำรงอยู่ของผู้ที่เหมาะสมที่สุด"  และแทนค่า


ทุกอย่างด้วยวัตถุและอำนาจ  อย่างไรก็ตาม  ไม่ได้บอกว่าชนชาติอื่นๆ ไม่เป็น เพียงแต่ว่าจะชัดมากน้อย


แค่ไหนเท่านั้น อย่างในสังคมไทย เราก็มีคำพังเพยว่า "มีเงินนับน้อง มีทองนับพี่" ซึ่งก็ทำให้เห็นความสำคัญ


ของการมีแหล่งทรัพยากรของแต่ละบุคคล และฐานของคำว่าอำนาจในเชิงวัตถุ


 


สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการมองว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยวิธีการเดียว นั่นคือต้องใช้อำนาจขั้นเด็ดขาด


เพื่อลดการสูญเสีย  ทั้งที่จริงแล้วการสูญเสียเกิดขึ้นทั้งสิ้น  เพียงแต่ว่าเราอาจวัดคนละอย่าง คนละมุมมอง


ผลที่ตามมาจากการใช้การจัดการรุนแรง กับการที่ค่อยๆแก้ อาจต่างกันมาก อันนี้คงไม่มีใครตอบได้


การตัดสินใจจึงต้องมองมากกว่าการคุ้มไม่คุ้มในวันนี้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการที่สหรัฐฯก้าวเข้ามาประกาศ


สงครามกับผู้ก่อการร้ายต่างๆ หรือการเข้าไปบุกยึดอิรัก โดยใช้กำลังเกิดการยืดเยื้อและสูญเสียอย่างนึกไม่ถึง


น่าเสียดายนัก


 


ในสังคมไทย การแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในปัจจุบัน เป็นเรื่องใหม่และซับซ้อนกว่าที่ผ่านมา เพราะโลกปัจจุบัน


ซับซ้อนกว่าเดิม ข้อมูลที่ได้มาอาจไม่พอหรือผิดพลาด พื้นฐานของคนต่างกันมากขึ้น การสื่อสารที่ฉับไว


มากขึ้นแต่อาจไม่ถูกต้อง ทุกอย่างไม่ง่ายอย่างแต่ก่อน การแก้ไขข้อพิพาทไม่มีสูตรสำเร็จ ถ้าไปดูรายงาน


วิจัยต่างๆ (ก็ของฝรั่งทำอีกนั่นแหละ) จะไม่ค่อยเห็นว่ามีใครพบวิธีที่ใช้ช่วยแก้ไขตรงๆ  แต่เป็นการอธิบายว่า


ทำไมข้อพิพาทแต่ละครั้งเกิดขึ้นและจบอย่างไร พูดง่ายๆ คือ ไม่มีทฤษฎีที่ทำนายอนาคตของการพิพาท


(อันนี้จำได้แม่นตอนเรียน ป.เอก ที่ปรมาจารย์ด้านนี้ที่ปัจจุบันย้ายไปสอน ที่ George Mason U.  เธอบอกเลย


ว่านี่คือข้อจำกัด) ดังนั้น การแก้ไขทำได้คือการมองข้อพิพาทแบบทฤษฎีเกมที่พอจะช่วยได้ แต่ไม่ได้ทั้งหมด


(จนมีการมองรางวัลโนเบลกับคนที่คิดเรื่องนี้เมื่อเร็วๆนี้ แต่จริงๆ พูดกันมานานแล้วในสายนิเทศฯ)


 


ชีวิตเขา เขาก็รัก ชีวิตเรา เราก็รัก เรื่องความรุนแรง การเอาเปรียบ การทำร้าย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน


ในสังคมระดับมหภาค จนกระทั่งระดับชีวิตประจำวัน  การสอนให้เข้าใจคุณค่าชีวิตของกันและกันเป็นเรื่องที่


ต้องทำเท่าที่จะทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูกรอบวัฒนธรรมด้วยว่ามีปัจจัยช่วยเสริมหรือต่อต้าน ในสังคมไทยคงง่าย


กว่าสหรัฐฯ เพราะแม้กระทั่งฆ่ามดแมลงพวกเราก็นับว่าเป็นบาปแล้ว เพียงแต่ว่าจะมีปรากฏการณ์ใดหรือ


คารมใดมาทำให้สังคมไทยหลงทางออกไป นั่นคงทำให้งานนี้ยากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น